“OLINTA” ผลิตภัณฑ์แมลงด้วงสาคูสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น
ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของแต่ละพื้นที่ ซึ่งควรที่จะอนุรักษ์และส่งเสริมให้เกิดการนำมาต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจ “ชานนท์ หนูเพชร” ชายหนุ่มผู้นำอาหารประจำถิ่นของภาคใต้อย่างแมลงด้วงสาคูที่กำลังจะเลือนหายไปตามกาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมให้กลับกลายมามีชีวิต จนเป็นที่สนใจ และเกิดความต้องการขึ้นในตลาด
ภูมิปัญหาชาวบ้านสู่ธุรกิจ
ชานนท์ ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซโกฟาร์ม จำกัด บอกถึงจุดเริ่มต้นและที่มาที่ไปของไอเดียในการทำธุรกิจ ว่า มาจากความชื่นชอบส่วนตัวในการรับประทานแมลงด้วงสาคู ซึ่งเป็นอาหารประจำถิ่นของทางภาคใต้ที่ปัจจุบันหารับประทานได้ยาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ โดยที่คนในท้องถิ่นหันมาปลูกต้นมะพร้าว จนทำให้ต้นสาคูซึ่งเป็นแหล่งอาหารของแมลงด้วงสาคูลดลง โดยมีผลต่อจำนวนของแมลงด้วงสาคู และรสชาติที่อาจจะไม่ได้เป็นแบบเดิมเหมือนที่ผ่านมา
ด้วยความที่ตนเองมีความรู้ทางด้านของช่างอิเล็กทรอนิกส์ จึงเกิดแนวคิดที่จะนำระบบมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างป่าสาคูขึ้นมา โดยมุ่งเน้นความเป็นออแกนิกเพื่อให้แมลงด้วงสาคูมีความสะอาด และรสชาติที่อร่อยเหมือนในอดีต จนถึงขนาดที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยอมที่จะเสียเงินเพื่อซื้อแมลงด้วงสาคูมากกว่าที่จะซื้อเนื้อหมู หรือเนื้อไก่มารับประทาน ซึ่งแนวความคิดก็คือหากทำให้เป็นระบบก็จะทำให้ป่าสาคูกลับคืนมา และมีแมลงด้วงสาคูเพื่อนำมาจำหน่าย หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้
“ในช่วงเริ่มต้นเราสร้างระบบขึ้นมา พร้อมกับทำคู่มือ เพื่อส่งต่อให้คนทั่วประเทศได้ทดลองเลี้ยงแมลงด้วงสาคู และส่งแม่พันธุ์ไปให้ โดยมุ่งหวังให้ได้เลี้ยงแมลงด้วงสาคู และสามารถรับประทานแมลงด้วงสาคูเป็น แต่ด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่ซื่อสัตย์ ทำให้เกิดการประยุกต์นำเปลือกมะพร้าวมาใช้ในการเพาะเลี้ยงแมลงด้วงสาคูแทนต้นสาคู และมีคู่แข่งเกิดขึ้นจนเกิดสงครามการตัดราคาทางการตลาด ตนจึงปรับเปลี่ยนแนวทางหันมาส่งประกวดตามเวทีแห่งภูมิปัญญาชาวบ้านล่ารางวัลพร้อมผสมผสานนวัตกรรมเข้าไป เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจากการแปรรูปแมลงด้วงสาคู”
ในช่วงนั้นกระแสเรื่องการบริโภคแมลงเริ่มชัดเจนขึ้น โดยมีอาหารสำเร็จรูปที่ทำจากแมลงมากขั้นในตลาด แต่แมลงด้วงสาคูที่ได้คุณภาพจะต้องมาจากป่าด้วงสาคู เราจึงดำเนินการกู้คืน โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีในการปลูกป่าสาคูให้เกิดขึ้นใหม่ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และที่เพาะพันธุ์แมลงด้วงสาคูให้ขยายตัว หลังจากนั้น จึงนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ และ Startup ธุรกิจขึ้นมาได้ในที่สุด
คืนสังคมแบบบ้านๆ
ชานนท์ บอกต่อไปอีกว่า ปัจจุบันได้มีการตั้งชื่อแบรนด์เพื่อจำหน่ายแมลงด้วงสาคูชื่อ “ออรินตะ” (OLINTA) โดยมีจุดเด่นที่สำคัญของผลิตภัณฑ์อยู่ที่การปลูกป่าสาคูให้กลับคืนมา อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนในภาคใต้ และเกิดระบบนิเวศทางธรรมชาติสร้างสังคมรูปแบบเดิมๆ แบบบ้านๆให้กลับคืนมา ซึ่งตนถือว่าเป็นความสุขที่สำคัญจากการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ แมลงด้วงสาคูยังมีคุณประโยชน์จากสารอาหารหลากหลายชนิด อาทิ กรมอะมิโน 9 ชนิด ,กรดกลูตามิก ,แหล่งอาหารโปรตีน ,ไขมันและเยื้อใย ,แร่ธาตุหลัก อย่าง โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และสังกะสี เป็นต้น โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปแมลงด้วงสาคูของแบรนด์ ได้แก่ แมลงแผ่น ,น้ำมันสกัดจากภูมิปัญหาท้องถิ่นทำมือ และถั่งเช่า เป็นต้น โดยถั่งเช่าที่ได้มาจากต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยระบบดิจิตอลควบคุมการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองจากตัวอ่อนของแมลงด้วงสาคู
“ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank)มีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจด้วยการถ่ายทอดความรู้ทางด้านการทำตลาดให้กับชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งได้เกิดแนวคิด มีมุมมองในการทำธุรกิจ จนสามารถสร้างแบรนด์ OLINTA ออกมาสู่ตลาด เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภคได้”
รอเวลาสร้างรายมหาศาล
ชานนท์ บอกอีกว่า ประเทศแอฟริกา สิงคโปร์ และมาเลเซียให้ความสนใจแมลงด้วงสาคูเป็นอย่างมาก โดยมีการติดต่อเข้ามาโดยตรงเพื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการให้นำส่งผลิตภัณฑ์แมลงด้วงสาคูไปจำหน่าย ซึ่งก่อนหน้านี้เราเองก็ให้ให้คู่มือ และให้ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงแมลงด้วงสาคูแก่ประเทศดังกล่าวเหล่านี้ไป แต่ก็สามารถเพาะเลี้ยงได้ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่อาจจะไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีนำเข้าผลิตภัณฑ์จากเราแทน โดยเชื่อว่าในระยะเวลาอีกไม่นานข้างหน้า ผลิตภัณฑ์จากแมลงด้วงสาคูจะสร้างรายได้ให้เป็นจำนวนมากต่อบริษัท และต่อชุมชนที่ช่วยกันสร้างระบบเพาะเลี้ยงแมลงด้วงสาคู
“หากถามถึงเป้าหมายทางด้านรายได้นั้น มองว่าปัจจุบันการทำธุรกิจอยู่ระหว่างกลางน้ำของวัฎจักร โดยอยู่ระหว่างการปรับนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ โดยรายได้ที่จะได้มาส่วนหนึ่งก็จะเข้าสู่กลุ่มชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีความสุข นี่คือเป้าหมายที่มากกว่ารายได้ในรูปแบบของเงิน”