“JAMBO”ไรซ์เฟลกซีเรียลและสแนคแบบไทย
โลกของธุรกิจไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเคลื่อนไหว เพื่อหาช่องทางในการทำตลาดเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะประสบความสำเร็จอยู่แล้วก็ตาม พิริยะศาสตร์ ตระการจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป.เกรียบกุ้ง อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวเกรียบกุ้งแบรนด์ ป.เกรียบกุ้ง คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีไอเดียในการสร้างธุรกิจขยายตลาดอยู่ตลอดเวลา จนล่าสุดกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกให้คำนิยามว่าเป็น “ไรซ์เฟล็กซ์” ซีเรียลสไตล์ไทยภายใต้แบรนด์ “JamBo” (แจมโบ้)
–แปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์
พิริยะศาสตร์ บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการต่อยอดธุรกิจครั้งนี้ ว่า มาจากการที่จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกข้าวออกแกนิก โดยมีการรวมกลุ่มของเกษตรเพื่อปลูกและส่งออกจำหน่ายที่ต่างประเทศ ซึ่งจะคัดเฉพาะเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ไปขาย เพราะจะได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีเมล็ดข้าวที่ไม่ผ่านการคัดสรร โดยจะเป็นข้าวที่หัก หรือเรียกว่าข้าวตกเกรด หรือปลายข้าว ซึ่งข้าวเหล่านี้จะจำหน่ายไม่ค่อยได้ราคา
ทั้งนี้ เมื่อเล็งเห็นว่ามีเมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์อยู่เป็นจำนวนมาก จึงคิดว่าควรจะหาแนวทางในการแปรรูปข้าวดังกล่าวให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตร โดยที่บริษัทเองก็มีโรงานอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีอยู่แล้ว ซึ่งความคิดที่ตกผลึกมาเป็นอย่างดีนั่นก็คือการนำเมล็ดข้าวดังกล่าวมาทำให้เป็นแป้ง โดยข้าวสายพันธุ์แรกที่เลือกนำมาแปรรูปก็คือ ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งจะถูกนำไปผ่านกระบวนการเอ็กซ์ทรูชั่น (Extrusion) ที่จะทำให้เกิดการพองตัวของแป้ง โดยไม่ใช้น้ำมัน ด้วยเครื่อง Twin screw extruder
เมื่อนำข้าวไรซ์เบอรี่มาทำเป็นแป้งและผ่านกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับคอนเฟลกของต่างประเทศ แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “ไรซ์เฟลก” เพราะทำมาจากวัตถุดิบที่เป็นข้าว โดยสามารถนำไปรับประทานแบบคอนเฟลกด้วยวิธีการเติมนม และผลไม้อบแห้งเป็นอาหารเช้าได้
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ไรซ์เฟลกให้กลายเป็นขนมขบเคี้ยว หรือสแนค (Snack) โดยการนำน้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลโตนด มาเคลือบทำให้ได้รสชาติที่หวานและหอม จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์อีกรูปแบบหนึ่งเพื่อทำตลาด และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี นอกจากข้าวไรซ์เบอรรี่แล้ว บริษัทยังได้นำวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งได้มาจากรวงข้าวสีเขียว ที่จะมีให้รับประทานเป็นฤดูกาลอย่าง “ข้าวเม่า” แต่จะมีอายุในการรับประทานค่อนข้างสั้น มาแปรรูปโดยผ่านกระบวนการเช่นเดียวกับข้าวไรซ์เบอรรี่ เป็นไรซ์เฟลกซีเรียล หรือแสนคสำหรับรับประทาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
“ต่างประเทศยังมีคอนเฟลกสำหรับรับประทานในตอนเช้าได้ ทำไมประเทศไทยถึงจะมีไรซ์เฟลกบ้างไม่ได้ ที่สำคัญผู้บริโภคยังได้รับประโยชน์ไปเต็มๆจากข้าวที่ถูกนำมาแปรรูป”
–ออแกนิก 100%
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์นั้น พิริยะศาสตร์ บอกว่า อยู่ที่การเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชน หรือจากชาวบ้านอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการกระจายรายได้ ที่สำคัญบริษัทยังใช้ข้าวใหม่ในการผลิต จึงทำให้ได้รสชาติ หรือคุณภาพที่สดใหม่จากไร่นา นอกจากนี้ยังเป็นผลิตภัณฑ์ออแกนิกแบบ 100% โดยไม่มีสารเคมีใดมาเจือปน อีกทั้งยังได้รับการับรองมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล (GMP Codex) และมีเครื่องหมายฮาลาล ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม
“อีกหนึ่งจุดเด่นที่อยากสื่อสารไปยังผู้บริโภคก็คือ ไรซ์เฟลกจะไม่มีสารกลูเตน (Gluten) ซึ่งมักจะทำให้ผู้แพ้อาหารเกิดอาการผิดปกติต่อร่างกาย ทำให้ผู้ที่แพ้อาหารต่างๆสามารถรับประทานได้ โดยจะได้รับประโยชน์จากข้าวแบบเต็มๆ”
ส่วนช่องทางในการทำตลาด มองว่าน่าจะมุ่งเน้นไปที่ร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หรือออแกนิกช็อป และกลุ่มโรงแรมเพื่อนำไปเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า หรือแทนที่คอนเฟลก นอกจากนี้ยังต้องการพาทเนอร์ทางธุรกิจเพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ไปยังทั่วประเทศ โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์จะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน 2561
–สร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค
ในช่วงเริ่มต้นของการทำตลาดจะเน้นที่การประชาสัมพันธ์ให้ผลิตภัณฑ์ และแบรนด์เป็นที่รู้จักในกลุ่มของผู้บริโภค โดยเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก ซึ่งอาจจะผ่านการสร้างสรรค์เมนูจากเชฟทำอาหารว่าผลิตภัณฑ์สามารถนำมาประกอบอาหารอย่างไรได้บ้าง หลังจากนั้นจึงค่อนขยายไปต่างประเทศ
“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ กลุ่มผู้ที่รักสุขภาพ ซึ่งอาจจะมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือแม้กระทั่งกลุ่มเด็กที่จะนำมารับประทานเป็นอาหารเช้าแบบคอนเฟลก และผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือกลุ่มที่ควบคุมความหวาน ขณะที่ผู้สูงอายุก็สามารถรับประทานได้ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนว่าจะเลือกแบบไหน”
พิริยะศาสตร์ บอกอีกว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่มแรกที่จะทำตลาดคือ ไรซ์เฟลกที่เป็นแบบรสดั้งเดิม และในรูปแบบของแสนคเคลือบน้ำตาลจากทั้งน้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลโตนด โดยในอนาคตอาจจะมีรสชาติของต้มยำ หรือช็อกโกแลตออกมาทำตลาดเพิ่มเติม
“จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 5 แสนบาท และจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามกลยุทธ์การทำตลาดแบบเป็นขั้นเป็นตอน”.