“CATTY CRAFT”ผุดไอเดียสร้างผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ทาสแมว
คงจะไม่ใช่คำกล่าวที่ดูเกินเลยไปนักหากจะบอกว่าอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายกำแพงเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุดคือ “ไอเดีย” ดั่งเช่นการรวมตัวกันของ 2 เพื่อนซี้อย่าง อนุชา ชิตโชติ และวฤธ รัชนีกร ที่ต่างคนต่างนำความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวมาหล่อหลอมรวมกันจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สุดสร้างสรรค์ และ Startup ธุรกิจขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “Catty Craft”
-ผสาน 2 ความรู้สู่ผลิตภัณฑ์บ้านแมว
อนุชา ผู้ก่อตั้ง และเจ้าของธุรกิจบ้านแมวกระดาษลูกฟูก ภายใต้แบรนด์ “Catty Craft” เป็นตัวแทนบอกว่า ธุรกิจมีจุดเริ่มต้นไอเดียมาจากการที่เมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกระแสการเลี้ยงแมวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นกระแสบนโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ส่งผลให้เกิดเพจเฟสบุ๊กที่เกี่ยวแมวเป็นจำนวนมาก เช่น เพจทูนหัวของบ่าว เป็นต้น จากกระแสดังกล่าวทำให้คนให้ความสนใจสัตว์เลี้ยงอย่างแมวเพิ่มมากขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแมวยังมีไม่มากนักในท้องตลาด
ด้วยความที่ตนจบทางด้านสถาปัตยกรรม และรับงานเป็นฟรีแลนซ์เกี่ยวกับแบบจำลองโมเดลบ้านอยู่แล้ว และได้มาพบเจอกับเพื่อนอย่าง “อนุชา” ซึ่งทำงานด้านการขายเกี่ยวกับกระดาษ จึงเกิดแนวคิดในการผสมผสานความเชี่ยวชาญจากทั้ง 2 ด้านให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับแมว ดังนั้น จึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์บ้านแมวกระดาษลูกฟูกแบรนด์ “Catty Craft” ในที่สุด โดยเริ่มทำออกจำหน่ายตั้งแต่ช่วงกลางปี 59
-ดีไซน์เก๋เน้นความปลอดภัย
อนุชา บอกอีกว่า จุดเด่นของบ้านแมวกระดาษลูกฟูกแบรนด์ “Catty Craft” อยู่ที่การออกแบบ หรือดีไซน์ให้เข้ากับเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน สามารถนำบ้านแมวกระดาษลูกฟูกไปจัดวางไว้ตรงไหน หรือมุมไหนก็ได้ภายในบ้านอย่างกลมกลืน ส่วนวัสดุที่เลือกนำมาใช้ก็จะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยสำหรับแมว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษซึ่งจะใช้กระดาษที่ใช้ทำกล่อง แต่จะมีความแข็งแรงมากกว่าปกติ ขณะที่สีสันก็จะมีน้อยมากหากต้องใช้สีก็จะเลือกใช้สีที่ทำจากธรรมชาติ เพราะเราคำนึงว่าด้วยพฤติกรรมตามธรรมชาติของแมวอาจจะต้องมีการใช้ลิ้นเลีย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้
ด้านการตกแต่งลวดลายในรายละเอียดของบ้านกระดาษก็จะใช้วิธีการฉลุ เพื่อให้มีความปลอดภัย และสวยงาม ส่วนกาวที่ใช้เพื่อประสานตามจุดต่างๆก็จะใช้กาวที่ทำมาจากมันสำปะหลัง โดยปัจจุบันบ้านแมวกระดาษลูกฟูกมีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่ บ้านแบบทรงกระโจม ซึ่งจะเน้นการดีไซน์ในแต่ละชิ้นส่วนของตัวบ้านให้มีความสลับซับซ้อนแบบมีมิติ โดยมุ่งเจ้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชื่นชอบงานดีไซน์ และ 2.บ้านทรงหกเหลี่ยม ซึ่งจะเน้นการดีไซน์ที่เรียบง่ายแบบน่ารัก และมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่า ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มีการออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่เป็น “เปลแมว” เพิ่มเติมภายใต้แบรนด์ “Catty Craft” เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือก และขยายกลุ่มลูกค้าให้เกิดความหลากหลาย โดยยังคงมุ่งเน้นคอนเซปป์เรื่องความปลอดภัย ซึ่งมีโครงสร้างที่ทำจากไม้ และใช้ผ้าแคนวาส (Canvas) มาทำเป็นเปล ส่วนแลคเกอร์ที่ใช้ก็จะเป็นแบบที่ใช้กับเฟอร์นิเจอร์สำหรับผลิตภัณฑ์เด็ก
นอกจากนี้ ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวกับแมว โดยจะทำออกมาในรูปแบบภาชนะ หรือชามสำหรับใส่อาหารแมวที่ทำจากเซรามิก และเซรามิกผสมไม้ ซึ่งจะยังคงคอนเซปป์การเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความปลอดภัย และสามารถกลมกลืนเข้าได้กับเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน
“ที่ผ่านมาลูกค้ามักจะประสบปัญหาเรื่องของการจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงแมว บ้างก็ต้องเอาไปวางไว้หลบมุม เพราะไม่เข้ากับเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน แต่ของเราจะออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง และวางได้อย่างกลมกลืนภายในบ้าน”
-เล็งลุยตลาดต่างประเทศ
อนุชา บอกต่ออีกไปว่า กลยุทธ์การทำตลาดเพิ่มเติมในปี 61 นี้นั้น แบรนด์ “Catty Craft” มีแผนที่จะออกงานบิ๊ก (BIG) ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ได้พบเจอกับพ่อค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาดูสินค้าเพื่อซื้อไปจำหน่าย หรือเจรจาธุรกิจเพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ อย่างไรก็ดี ล่าสุดก็มีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์บนเว็บไซด์ที่ประเทศสิงคโปร์ให้ความสนใจที่จะนำผลิตภัณฑ์ เปลแมว ของแบรนด์ไปทดลองจำหน่าย โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาทางธุรกิจกันอยู่ ซึ่งหากการเจรจาผ่านไปได้ด้วยดีจะถือเป็นก้าวแรกที่จะได้ไปทำตลาดต่างประเทศ
“เดิมทีผลิตภัณฑ์ของเราจำหน่ายผ่านจากเดิมที่จะทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งเฟสบุ๊ก (catty craft) รวมถึงอินสตราแกรม (ig:@cattycraft) และไลน์ (line:@cattycraft) นอกจากนี้ ยังมีฝากจำหน่ายที่ร้านขายอาหารสัตว์ที่มีพื้นที่ให้ได้ตั้งโชว์ผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่แค่แต่อาหารสัตว์เพียงอย่างเดียว โดยจากกลยุทธ์การทำตลาดของแบรนด์ปีนี้เชื่อว่าจะทำให้ยอดรายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนบาทต่อเดือน หรือประมาณ 1.8 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 80,000-100,000 บาทต่อเดือน”
ส่วนกุญแจที่ไขประตูไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจนั้น มองว่าไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องงานดีไซน์ที่โดดเด่น แต่มาจากการที่ได้มีการศึกษาคู่แข่งจากทั้งใน และต่างประเทศก่อนว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษแบบใดบ้างหรือไม่ ก่อนที่จะมาออกแบบผลิตภัณฑ์ของเรา อีกทั้งตัวผลิตภัณฑ์ยังได้มีการทดสอบกับแมวจริงที่คาเฟ่แมว เพื่อขอผลตอบรับจากแมวหลากหลายสายพันธุ์ หรือหลากหลายอารมณ์ ให้สามารถใช้งานได้จริงแบบ 100% เนื่องจากตามปกติผู้เลี้ยงแมวมักจะประสบปัญหาในการซื้อผลิตภัณฑ์มาแล้วแมวไม่ชอบอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ธุรกิจจึงประสบความสำเร็จ.