“ไทละมุน” อาลัวกุหลาบธุรกิจพลิกชีวิต
แรงกระเพื่อมของวิกฤติเศรษฐกิจจากภัยทางธรรมชาติได้ส่งผลให้หลายธุรกิจมีอันต้องปิดฉากลง และหลายธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว บางรายไม่สามารถสู้ต่อไปได้ แต่กับบางรายเลือกที่จะไม่ยอมแพ้และพยายามต่อสู้เพื่อฝ่าฟันปัญหา “ณัฐนิช กอเจริญ” คุณผู้หญิงคนหนึ่งที่ครอบครัวของเธออยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนั้น และตัวเธอเลือกที่จะสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ จนสามารถปลดหนี้สินได้หมดในที่สุด
ฝ่าวิกฤติสู่ธุรกิจ
ณัฐนิช เจ้าของธุรกิจ อาลัวกุหลาบภายใต้แบรนด์ “ไทละมุน” เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า ธุรกิจดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ธุรกิจของครอบครัวเธอต้องประสบกับปัญหาขาดทุน และเป็นหนี้จากเหตุการณ์ที่ไม่อาจฝืนได้จากน้ำท่วม ซึ่งมีผลทำให้บริษัทขนาดเล็กของครอบครัวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบจัดเก็บอุตสาหกรรมต้องสะดุด เมื่อนิคมอุตสาหกรรมไม่สามารถทำงานได้ สถานะทางการเงินของครอบครัวเธอจึงช็อตตามไปด้วย จนต้องนำเงินที่เก็บไว้มาจ่ายให้กับผู้ผลิต (Supplier)
เมื่อธุรกิจไม่สามารถเดินต่อได้ และต้องนำเก็บเงินมาใช้จ่ายจนหมด ภาวะการณ์เป็นหนี้จึงคืบคลานเข้ามา อย่างไรก็ตามในวิกฤติย่อมมีโอกาสแอบแฝงไว้อยู่เสมอ เมื่อตัวเธอเข้าไปหาความรู้ในอินเตอร์เนตจนบังเอิญได้พบกับวิธีการบีบบัตเตอร์ครีม จากจุดดังกล่าวทำให้เธอเกิดประกายไอเดียในการที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับขนมไทยบ้าง ซึ่งประจวบเหมาะกับที่เธอมีเพื่อนที่ครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับการเปิดโรงงานทำขนมที่จังหวัดเพชรบุรี ทำให้เธอได้มีโอกาสไปเรียนรู้วิธีการทำขนมไทยจากที่นั่น
ขนมที่เธอเลือกนำมาเริ่มต้นธุรกิจคือ “อาลัว” ซึ่งเธอมองว่าสามารถที่จะบีบให้ออกมาเป็นรูปทรงได้ โดยการนำสูตรขนมอาลัวมาประยุกต์ให้กลายเป็นสูตรของตัวเธอเอง โดยลดความหวานลงเนื่องจากอาลัวตามปกติจะมีรสชาติที่หวานมาก เพื่อให้สามารถมีอายุในการรับประทานได้ยาวนาน แต่สูตรของเธอจะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของคุณรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ
“ตนเริ่มหัดบีบอาลัวจากการดูคลิปในยูทูป (YouTube) โดยมีลูกค้าเก่าเมื่อตอนทำธุรกิจของครอบครัวช่วยสั่งออเดอร์เพื่อนำไปเป็นของชำร่วย เพื่อมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งช่วยให้มีการแนะนำกันไปแบบปากต่อปากจนทำให้อาลัวกุหลาบเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีออเดอร์สั่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันตนสามารถปลดหนี้ที่มีอยู่ได้จนหมด”
รสชาติกลมกล่อมไม่หวานมาก
ณัฐนิช บอกต่อไปอีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นมาอยู่ที่การบีบอาลัวได้เหมือนดอกกุหลาบมากที่สุด จนถึงขั้นที่ว่าในประเทศไทยเธอน่าจะเป็นอันดับหนึ่งเรื่องการบีบในรูปลักษณ์ดังกล่าว บวกกับรสชาติที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เริ่มจำหน่าย โดยมีรสชาติที่หวานกลมกล่อม และไม่หวานจนแหลม สามารถนำไปมอบให้เป็นของขวัญได้ทุกเทศกาล หรือซื้อเพื่อรับประทานเอง
ทั้งนี้ แต่ก่อนผลิตภัณฑ์ของเธอจะอยู่ภายใต้แบรนด์ “บ้านอาลัว” แต่เมื่อมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น โมจิรูปการ์ตูน ,อาลัวรูปการ์ตูน ,ขนมเปียกปูนบีบเป็นรูปดอกไม้ราดน้ำกะทิ และวุ้นเค้กแต่งหน้าด้วยอาลัว เป็นต้น เธอจึงมีการปรับเปลี่ยนแบรนด์เป็นชื่อ “ไทละมุม”
สำหรับช่องทางในการจำหน่ายนั้น ปัจจุบันมีจำหน่ายที่บ้าน และช่องทางออนไลน์บนเพจเฟสบุ๊ก นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจำหน่ายที่รับผลิตภัณฑ์จากเราไปจำหน่ายในรูปแบบของการนำไปใส่ชื่อแบรนด์ตัวเอง แต่ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ “ไทละมุน” เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพราะรูปลักษณ์ของอาลัวกุหลาบที่เสมือนจริง กลีบดอกคมที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลจะมีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก
“นอกจากจำหน่ายในรูปแบบที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้ว ตนยังเปิดคอร์สรับสอนการทำขนมด้วยทั้งในรูปแบบของการเดินทางมาเรียนด้วยตนเอง และบนช่องทางออนไลน์”
สร้างอาลัวให้เป็นที่รู้จัก
ณัฐนิช บอกต่ออีกว่า การขยายตลาด และเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าในระยะต่อไปนั้น “ไทละมุน” จะใช้กลยุทธ์ในการเปิดรับตัวแทนจำหน่ายให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามรถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ดี ตนยังต้องการให้มีผู้ที่สามารถบีบอาลัวให้เป็นกุหลาบได้มีคุณภาพแบบตน แม้ว่าจะไม่เหมือนเป๊ะ หรือสวยงามเท่าก็ตาม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาลัวกุหลาบกระจายไปได้มากขึ้น เพราะวัตถุประสงค์หลักของการทำธุรกิจของเราก็คือให้อาลัวเป็นที่รู้จักในฐานะขนมไทยมากยิ่งขึ้น
“หากถามว่ากลัวผลิตภัณฑ์จะถูกเลียนแบบ หรือมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นหรือไม่จากการที่ให้มีตัวแทนรับไปจำหน่ายแบบสร้างแบรนด์ของตนเองได้ หรือการเปิดครอสสอน และความพยายามสร้างผู้ที่สามารถบีบอาลัวกุหลาบได้แบบตนมองว่าไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะหากมองที่จังหวัดเพชรบุรีก็จะเห็นว่ามีขนมที่ขายเหมือนกันมากกว่า 10 เจ้า แต่ก็ยังสามารถขายได้อยู่ ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ของ ไทละมุม ก็มีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำได้ของลูกค้าอยู่แล้ว”
จากกลยุทธ์การทำตลาดที่จะเพิ่มเติมขึ้นมาเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ในปี 61 ได้ประมาณ 1 ล้านบาท หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาของปี 60 มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 6-7 แสนบาท
ส่วนกุญแจที่ไขประตูไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจนั้น ตนมองว่ามาจากการที่ตนไม่หวง หรือกั๊กความรู้เกี่ยวกับสูตรการทำขนม ใครถามก็บอกไปตามตรง หรือผู้ที่อยากเรียนแต่ไม่มีเงินตนก็สอนให้ เพื่อให้มีวิชาความรู้ไปประกอบอาชีพต่อไป อีกทั้งยังมีเรื่องของคุณภาพที่เสมอต้นเสมอปลาย และราคาจำหน่ายอาลัวกุหลาบดอกละ 10 บาทที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าหลายเจ้าในตลาดจะมีการปรับขึ้นกันก็ตาม เนื่องจากตนมองว่าต้นทุนในการทำขนมไทยไม่ได้สูงมากมายเท่าใดนัก