“โซฟิล่า เจมส์” ความหรูหราที่จับต้องได้
โอกาสทางธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และไม่เคยจำกัดสถานที่ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจจิวเวอร์รี่ภายใต้แบรนด์ “โซฟิลา เจมส์” ซึ่งใครเลยจะคิดว่ามีจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ยั่งยืนมาจากโต๊ะจีนภายในงานแต่งงานงานหนึ่ง โดยเป็นงานที่ทำให้ ดร.อัจชลีญา พรหมพราย ได้พบกับผู้ชายวัยกลางคนคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างๆกัน และมีการพูดคุยกันอย่างถูกคอ จนนำไปสู่การชักชวนตัวเธอให้เข้ามาสู่วงการจิวเวอร์รี่
จากโต๊ะจีนสู่ธุรกิจ
ดร.อัจชลีญา ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้ก่อตั้งและประธาน บริษัท โซฟิลา เจมส์ จำกัด เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในช่วงที่เธอกำลังศึกษาปริญญาเอก โดยได้รับเงินทุนอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็เพียงพอแค่ค่าหอพักและค่าอาหาร เมื่อได้พบเจอกับชายวัยกลางคนที่เป็นเจ้าของโรงงานจิวเวอร์รี่ และถูกชักชวนให้ลองเข้าการคัดสรรเพชรมาศึกษา เธอเองก็ไม่ลังเลที่จะปิดกั้นโอกาส ซึ่งในตอนนั้นคิดแค่เพียงว่าต้องการหารายได้เพิ่มเติม โดยใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนไปศึกษาหาความรู้ใน และทุกอย่างที่เกี่ยวกับจิวเวอร์รี่ที่ต้องรู้อยู่ประมาณ 3 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อชายวัยกลางคนที่เธอเรียกว่า “เฮีย” เห็นว่าตัวเธอพร้อมที่จะโบยบินออกสู่ตลาด ก็นำเพชรมามอบให้เธอ 1 เซ็ทเพื่อให้นำออกไปจำหน่าย โดยบอกว่าขายได้ค่อยนำเงินมาให้ พร้อมระบุว่า“เมื่อวันหนึ่งที่ตัวเธอพร้อม จงมอบโอกาสให้กับผู้อื่นเหมือนที่ตัวเธอเคยได้รับ” ซึ่งตลาดแรกที่เธอเลือกคือรีสอร์ทของญาติสามีที่จังหวัดนครนายก เพราะมองว่าผู้ที่พักส่วนใหญ่จะเป็นคนกรุงเทพฯ โดยมุ่งหวังแค่จะเปิดตัวให้ตลาดรู้ว่ามีแบรนด์ “โซฟิลา เจมส์” ซึ่งเธอตั้งใจใช้ชื่อดังกล่าวนี้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มธุรกิจ หลังจากนั้นจึงค่อยมาติดตามผลต่อที่กรุงเทพฯ
เธอทำการตลาดโดยการเข้าหาลูกค้าโดยตรงในลักษณะดังกล่าวอยู่ 5 ปีเต็มควบคู่ไปกับการทำตลาดออนไลน์ จนเข้าสู่ปีที่ 6 จึงได้ดำเนินการเปิดร้านจำหน่ายอย่างเป็นรูปธรรมที่ อ.แกลง จ.ระยอง เพราะมองว่าน่าจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ใจคิด เพราะปรากฏว่าลูกค้าส่วนใหญ่กลับมาจากช่องทางออนไลน์ ทำให้เธอต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ และมุ่งเน้นการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างจริงจัง โดยในช่วงนี้เองที่เธอมีได้ไปลงเรียนหลักสูตรสัมมนามากขึ้น และได้พบว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสเหมือนกับที่ตนเคยได้รับ
“ตนจึงกลับมาทบทวนแนวทางในการทำธุรกิจใหม่ และนึกย้อนกลับไปถึงคำพูดของ เฮีย ในเรื่องการให้โอกาสจนเป็นที่มาของกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่เธอภูมิใจ และถือเป็นเจ้าแรกในตลาดที่ทำแบบนี้”
Together we shine model
ดร.อัจชลีญา กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นเธอจึงนำโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “Together we shine model” ประกาศผ่านช่องทางเฟสบุ๊ก เพื่อรับสมัครผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของร้านเพชรที่เสมือนเป็นสาขาของ โซฟิลา เจมส์ โดยที่ไม่ต้องมีหน้าร้าน หรือที่เรียกว่าเอเย่นต์ ซึ่งก็มีผู้ที่ให้ความสนใจเข้ามาสมัครเป็นจำนวนมาก โดยที่เธอได้เลือกกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาจำนวนหนึ่ง เพื่อสอนทุกอย่างเกี่ยวกับจิวเวอร์รี่ผ่านทางการไลฟ์สดบนเฟสบุ๊ก เพราะเอเย่นต์ทั้งหมดอยู่กระจัดกระจายกันไปในแต่ละจังหวัด การไลฟ์สดในลักษณะของกลุ่มปิดจึงเป็นวิธีที่ตอบโจทย์มากที่สุด หลังจากนั้นก็จัดให้มีกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อเรียนรู้สถานการณ์เสมือนจริง จนปัจจุบันมีเอเย่นต์ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วประมาณ 40-50 ราย
“ความแปลกใหม่ของโมเดลดังกล่าวนี้ คือการที่ได้เป็นเจ้าของร้านเพชรหน้าใหม่โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไร ซึ่งจะแตกต่างจากที่อื่นซึ่งต้องมีเงินลงทุน รวมไปถึงการให้ความรู้เรื่องจิวเวอร์รี่จากการที่ได้ศึกษามาผสมผสานกับประสบการณ์ทางการตลาดแบบไม่เสียค่าบริการ ซึ่งหากเป็นการไปเรียนกับสถาบันที่เปิดสอนอาจจะต้องใช้เงินถึง 2 แสนบาท”
ทั้งนี้ ในปี 2561 บริษัทยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เพิ่มจำนวนเอเย่นต์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการนำเสนอคอลเลคชั่นใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า และที่สำคัญจะมีการขยายธุรกิจในลักษณะของการเข้าไปพันธมิตรร่วมธุรกิจกับองค์กรที่มีเอเย่นต์อยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าให้มีมากขึ้น โดยมองที่องค์กรธุรกิจเกี่ยวกับความสวยความงาม และทางด้านแฟชั่น เพราะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศ โดยล่าสุดกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเยอรมัน ,ญี่ปุ่น ,สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เพื่อให้เอเย่นต์เข้าไปทำตลาดหลังจากที่มีเข้าไปทำตลาดที่มณฑลเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยจากกลยุทธ์ในการทำธุรกิจดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทในปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2560 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท
“ โมเดลธุรกิจของบริษัทจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน โดยส่วนหนึ่งบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะมีลูกค้าเข้ามาหา และสร้างรายได้เข้าบริษัทได้ด้วยตัวเองจากการรับรู้ของแบรนด์ต่อลูกค้า ส่วนทางด้านของเอเย่นต์ก็จะมีการสร้างรายได้ และขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยทั้ง 2 ส่วนจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่แบรนด์แข็ง การรับรู้เกิดเอเย่นต์ก็ทำงานง่ายแทบจะไม่ต้องพูดอะไรมากกับลูกค้า”
เพชรแท้ในราคาจับต้องได้
ดร.อัจชลีญา กล่าวต่ออีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “โซฟิลา เจมส์” อยู่ที่ความหรูหราแบบเรียบง่ายที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันในราคาที่จับต้องได้ตามสโลแกน “เพชรแท้ ราคาจับต้องได้ ในสไตล์ที่เป็นคุณ” รวมไปถึงเรื่องของการให้บริการแบบจริงใจ ไม่ยัดเยียดผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า แต่จะเป็นในเชิงของการให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาให้มากกว่า เช่น เมื่อเห็นว่าผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะกับลูกค้า ก็จะบอกไปตามตรงพร้อมกับนำเสนอวิธีแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับลูกค้ามากที่สุด เป็นต้น
“การให้บริการเป็นเสมือนวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพื้นฐานของบริษัท ซึ่งเอเย่นต์ทุกคนจะถูกหล่อหลอมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เอเย่นต์รายใดที่มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์จะถูกคัดสรรออกไปเองโดยอัตโนมัติจากรูปแบบในการบริหารงาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยู่จึงเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง”
ขณะที่ในส่วนของแพคเกจจิ้งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้แบรนด์ “โซฟิลา เจมส์” โดดเด่น ด้วยดีไซน์ที่หรูหราแตกต่างจากร้านทั่วไปในตลาด ซึ่งจะนิยมใช้กล่องพลาสติกสีแดง โดยมีราคาของผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 4,900 บาทเท่านั้น โดยเราพยายามทำแบรนด์ออกมาให้เอเย่นต์ทำงานง่าย หรือเรียกว่ามีการสนับสนุนทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแพจเกจจิ้ง โลโก้ และตัวผลิตภัณฑ์