ไทย ฮาเบลอินดัสเตรียล ผู้นำตลาดปลุกกระแสแบรนด์ไทย
ในวิกฤตเป็นได้ทั้งกำแพงที่กั้นขวาง และเป็นได้ทั้งโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นหนทางที่จะนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่พบเจอกับสถานการณ์แบบนั้นจะมีมุมมองต่อสิ่งที่เจออย่างไร
นรินทร์เดช ทวีแสงพานิชย์ คือชายหนุ่มผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ภาวะวิกฤตขนาดหนักของชีวิต และธุรกิจ แต่เลือกจะใช้วิกฤตที่เจอมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในการสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่จนสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่เลวร้าย และนำพาธุรกิจรูปแบบใหม่ประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงาม
-พลิกวิกฤตสร้างโอกาส
นรินทร์เดช ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย ฮาเบล อินดัสเตรียล จำกัด ขอเป็นตัวแทนของครอบครัวเล่าย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ก่อนที่ธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ฟังว่า ตนเองถือว่าเป็นรุ่นที่ 2 ของการทำธุรกิจแบบครอบครัว โดยก่อนหน้านี้บริษัทจะทำธุรกิจโดยการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) โทรทัศน์ให้กับแบรนด์อื่น และผลิตโทรทัศน์ให้กับห้างโมเดิร์นเทรดนำไปวางจำหน่าย แต่คุณพ่อมาเสียชีวิตในปี 2556 ในช่วงของวันลอยกระทง ส่งผลให้ธุรกิจเกิดความวุ่นวายอยู่พักใหญ่
อย่างไรก็ดี เสมือนโชคชะตาเล่นตลกเพราะในวันลอยกระทงเช่นเดียวกันอีก 1 ปีถัดมา ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นที่โรงงานจากการลอบวางเพลิงของพนักงานกลุ่มหนึ่งที่ทำผิดกฎของบริษัท และไม่พอใจในคำตักเตือนจากเจ้าของ โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้บริษัทต้องเป็นหนี้มากกว่า 180 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้มีการทำประกันเอาไว้ เรียกว่าเป็นภาวะวิกฤตอย่างมาก
แม้ว่าวิกฤตที่เกิดจะค่อนข้างหนักหนาสาหัส แต่ นรินทร์เดช และพี่น้องในครอบครัวที่มารวมตัวกันเฉพาะกิจกลับเลือกที่จะมองให้เป็นโอกาส และถือเอาเหตุการณ์ดังกล่าวนี้มาใช้ในการปรับองค์กรใหม่ โดยพยายามที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เกิดขึ้น และทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก จากเดิมที่บริษัทจะทำหน้าที่เป็นเพียงแค่แค่ต้นน้ำของห่วงโซ่ในตลาดเท่านั้น
“ เมื่อเรามีจุดประสงค์ และเป้าหมายที่ชัดเจน จึงเริ่มไล่ล่ารางวัลจากในประเทศ เพื่อการันตีถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยได้รับรางวัล Thailand’s Trust Mark 2015 จากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการใช้บุคคลที่ 3 เข้ามาช่วยรับรองผลิตภัณฑ์ ”
-ชูแบรนด์ไทยสร้างจุดขาย
นรินทร์เดช เล่าต่อไปอีกว่า การสร้างแบรนด์ของบริษัทเริ่มต้นจากการผลิตโทรทัศน์ภายใต้แบรนด์ อัลทรอน (altron) โดยถือเป็นเจ้าแรกของตลาดที่กล้าชูจุดเด่นด้วยการเป็นแบรนด์ของไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของบริษัท ซึ่งมีใบเบิกทางด้วยรางวัลจากกระทรวงพาณิชย์สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยเป็นความโชคดีของบริษัทที่มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายบริษัทเข้ามาร่วมสร้างแบรนด์ให้ (Co-branding) พร้อมกับการได้เข้าร่วมงานกับธนาคารแห่งหนึ่ง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
หลังจากนั้น บริษัทก็พยายามปรับปรุงมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับรองมาตรฐานการผลิต ISO9001 : 2015 มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว และฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 รวมถึงได้รับรางวัล PM Awards 2016 จากกระทรวงพาณิชย์ และได้รับเลือกให้เป็น Top Thai Brands จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับจุดเด่นของบริษัทนั้น นรินทร์เดช บอกว่า อยู่ทีการปรับองค์กรจากการเป็นต้นน้ำ ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิต และประกอบให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น การันตีด้วยรางวัลที่ได้รับจากองค์กรต่างๆ อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ โดยที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการ OEM ให้กับแบรนด์อื่น
ขณะที่แบรนด์ “อัลทรอน” ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชูโรงให้กับบริษัท โดยตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2557 ก็ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภค ด้วยจุดขายของการเป็นแบรนด์ที่ผลิตในไทย จนทำให้ช่วงปลายปี 2558 เริ่มมีผู้ประกอบการรายอื่นพยายามชูจุดเด่นการเป็นแบรนด์ที่ผลิตในไทยตามบริษัททั้งในส่วนของโทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
“ การที่มีผู้ประกอบการรายอื่นพยายามจุดขายด้วยการเป็นแบรนด์ไทยเหมือนกับไทย ฮาเบล หมายความว่า เราประสบความสำเร็จทางด้านของกลยุทธ์ในการกระตุ้นตลาดให้คนไทยซื้อของไทย และยังขยายตลาดไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV ได้ จากจุดแข็งทางด้านผลิตภัณฑ์จากไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเหล่านั้นดังกล่าว ”
-ขยายธุรกิจเติบโตทั่ว AEC
นรินทร์เดช กล่าวต่อไปอีกว่า เป้าหมายในภาพรวมของธุรกิจในอนาคตนั้น ต้องการให้ธุรกิจของบริษัททั้ง 2 รูปแบบ ทั้งการดำเนินการแบบ OEM และการผลิตโทรทัศน์แบรนด์อัลทรอนเติบโตไปทั่วในกลุ่มของประเทศ CLMV เพื่อเป็นการปูพื้นฐานต่อยอดธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยมุ่งเน้นให้ธุรกิจมีการเติบโตแบบยั่งยืน
“ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) เปรียบเสมือนเป็นแรงผลักดันจากภาครัฐในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า โดยมีการจัดงานสัมมนาอย่างต่อเนื่องทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีได้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรในการทำธุรกิจ ซึ่งบริษัทเองก็ได้รับประโยชน์จากส่วนดังกล่าวนี้อย่างมาก ”