ฟาสเทคโน เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เฉียบใช้งานได้จริง
ในวิกฤติย่อมมีโอกาส หรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไขว่คว้า หรือเสาะแสวงหาหนทางเหล่านั้นหรือไม่ หรือจะยอมถอดใจและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปยถากรรม
แต่ประเด็นเรื่องความย่อท้อไม่ใช่สิ่งที่ “กรภัคร์ มีสิทธิตา” จะเต็มใจยอมรับ แม้ว่าจะต้องสะดุดหกล้มชนิดที่เรียกได้ว่าแสนสาหัสก็ตาม
บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ “ฟาสเทค” (FASTTECH) และอีกหนึ่งแบรนด์คือ “เช็ง ดู” (CHENG DO) Startup ธุรกิจเกิดมาได้ภายหลังจากที่ กรภัคร์ ต้องประสบกับภาวะวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
–จากหนี้ 129 ล้านสู่ธุรกิจใหม่
กรภัคร์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด เล่าย้อนกลับไปในช่วงที่ยากลำบากให้ฟังว่า เดิมทีตนเองก็ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับงานเฟอร์นิเจอร์มาก่อน แต่เป็นรูปแบบของการบิ้วท์อิน (Built in) หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ติดตั้งเข้ากับพื้นที่ในขนาดที่พอดี หรือออกแบบมาเพื่อพื้นที่ภายในบ้านส่วนนั้นโดยเฉพาะ โดยมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจโรงแรม แต่ก็ต้องมาประสบกับช่วงของวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ทำให้ธุรกิจมีปัญหา และต้องเป็นหนี้ก้อนโตถึง 129 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ว่าจะต้องเจอกับภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ กรภัคร์ ไม่ได้ยอมแพ้ กลับคิดที่จะหาทางกอบกู้ธุรกิจขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยนำประสบการณ์ที่ผ่านมา มาปรับประยุกต์ใช้กับธุรกิจครั้งใหม่ ทำให้ กรภัคร์ เลือกที่จะทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบของ D.I.Y. หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำเองจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อส่งจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) เช่น ชั้นไม้ติดผนัง โดยมีผลิตภัณฑ์เด่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาด คือ ฉากกั้นแก้ฮวงจุ้ย ซึ่งยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเคยทำมาก่อน
“ บริษัทได้สร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม่ไผ่ โดยเลือกที่จะใช้วัสดุนำเข้าจากประเทศจีน เพราะมีนวัตกรรมทางด้านของการป้องกันปลวก มอดและแมลง ซึ่งไม่ไผ่จากประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้ โดยนำมาผลิตเป็นชิ้นงานในรูปแบบต่างๆ แทนแผ่นไม่อัด โดยผลิตภัณฑ์ที่กระแสตอบรับเป็นอย่างดีคือ ม่านกันห้องที่ทำจากไม่ไผ่ ซึ่งมีคุณสมบัติในการกันแอร์รั่วออกไปยังพื้นที่อื่น โดยเหมาะกับห้องที่มีขนาดใหญ่ แต่ต้องการให้แอร์ทำความเย็นอยู่ในบริเวณที่ต้องการ ”
–เด่นนวัตกรรมเป็นผู้นำตลาด
สำหรับจุดเด่นของแบรนด์นั้น กรภัคร์ บอกอย่างภูมิใจว่า เราจะแยกผลิตภัณฑ์ของทั้ง2 แบรนด์ออกอย่างชัดเจน โดยหากเป็นแบรนด์ฟาสเทคจะเน้นไปที่ที่ฉากกั้นสำเร็จรูป และชั้นไม้ติดผนัง ขณะที่แบรนด์ เช็ง ดู จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้สัก และไม้ไผ่ เป็นต้น โดยทุกผลิตภัณฑ์ บริษัท จะเป็นผู้นำทางด้านการตลาด ซึ่งเมื่อผลิตแล้วจะมีการจดสิทธิบัตรไว้ตลอด โดยมีการนำนวัตกรรมมาปรับใช้จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ และที่สำคัญคือทุกผลิตภัณฑ์สามารถใช้งานได้จริง
“ เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น PRIME MINISTER’S INDUSTY AWARD จากกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2553, ได้รับรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ส.ส.ว.) กระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับ CERTIFCATE OF MATERIAL EXECELLENCE FORM Material ConneXion OF AMERICA ทั้งหมด 4 ปีซ้อน ในผลงานการผลิตและออกแบบนวัตกรรมวัสดุจากไม้สักและไม้ผัก โดยผ่านหน่วยงาน Thailand Creative&Design Center (TCDC) และในปี 2560 ก็ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ”
ด้านช่องทางการจำหน่ายหากเป็นแบรนด์ ฟาสเทคจะเน้นวางจำหน่ายตามห้างโมเดิร์นเทรด ส่วนแบรนด์ เช็ง ดู จะมุ่งเน้นการทำตลาดผ่านงานแสดงสินค้า หรืองานแฟร์ ทั้งงาน บ้านและสวน งานสถาปนิก เป็นต้น เพราะเป็นงานที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะนิยมการเข้ามาสั่งติดตั้ง และจะต้องมีการวัดขนาดของพื้นที่บ้าน เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้กลยุทธ์ในการเข้าหาลูกค้าโดยตรง เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุด และยังมีงานโครงการที่มีการติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
“ ยอดรายได้ของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการปรับลดลงเล็กน้อย โดยอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่รายได้ต่อปีช่วงที่ทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินจะสูงถึง 200-300 ล้านบาท แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากลูกค้ามักจะเบี้ยวไม่ยอมชำระเงินในงวดสุดท้าย แต่การทำธุรกิจในปัจจุบันมีความสบายใจแม้ว่าจะมีรายได้น้อยกว่าก็ตาม โดยในปี 2560 บริษัทตั้งใจจะรักษาระดับรายได้ให้ได้ที่ 70 ล้านบาท แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะอยู่ในภาวะที่ซบเซา ”
–ยึดหลัก 2 ส.ลุยธุรกิจ
กรภัคร์ กล่าวอีกว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนสนับสนุนอย่างมากที่ช่วยทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้จากสภาพคล่องที่ได้จากสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ที่สำคัญขั้นตอนในการยื่นขอยังไม่ยุ่งยาก สามารถได้รับวงเงินสินเชื่อภายในระยะเวลา 10 วัน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ส่วนแนวคิดในการทำธุรกิจที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างในปัจจุบันนั้น กรภัคร์ ยึดหลักการทำงานแบบ 2 ส. ได้แก่ 1.สุข และ 2.สนุก ไปกับทีมงานและการใช้ชีวิต จากเดิมที่สมัยในอดีตจะเป็นคนที่ค่อนข้างซีเรียสกับการทำงานอย่างมาก โดยจะต้องมีการติดต่อธุรกิจกับชาวต่างชาติ และทำงานอยู่บนแรงกดดัน แม้จะมีรายได้เข้ามาจำนวนมากก็จริงแต่กลับไม่มีความสุข ดังนั้น จึงปรับเปลี่ยนชีวิตและวิธีการคิดไปสู่การทำงานที่มีความสุข ทำในสิ่งที่ชอบเพียงเท่านั้นชีวิตก็จะมีความสุขไปด้วย.