“ยางนา” ต้นกำเนิดจากชุมชนส่งตรงถึงผู้บริโภค
“ยางนา” ต้นกำเนิดจากชุมชนส่งตรงถึงผู้บริโภค จุดเริ่มต้นของธุรกิจบางครั้งก็ได้มาจากจุดเล็กๆ แต่ต้องรู้จักนำมาต่อยอดให้กลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ตามความคิดสร้างสรรค์ และการตีโจทย์สมการของตลาดความต้องการจากผู้บริโภคให้ตกผลึก เพื่อสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ออกมาได้ถูกจุด
เสือคืนถิ่น
วีรวุฒิ สังฆพรม เจ้าของบริษัท กาล (30) จำกัด อดีตหนุ่มออแกไนซ์จากเมืองหลวง ผู้มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะกลับไปใช้ชีวิตยังบ้านเกิดของตนเองที่จังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้น จึงต้องพยายามเสาะหาธุรกิจที่จะลงทุน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยมีจุดเริ่มต้นที่เป็นเหมือนชนวนเมื่อตอนปี 2555 ที่ทางจังหวัดอุบลฯ มีนโยบายรณรงค์ให้คนในจังหวัดใส่เสื้อสียางนา เพื่อประชาสัมพันธ์ต้นยางนาที่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัด จึงเกิดไอเดียในการเป็นหัวเรือใหญ่จัดประกวดแฟชั่นโชว์เสื้อผ้าย้อมสียางนา
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นจึงได้เกิดแนวคิดที่จะนำวัตถุดิบจากธรรมชาติ และสมุนไพรที่มีในชุมชน เช่น ขมิ้น รังไหม เป็นต้น มาพัฒนาเป็นผลิตประเภทสบู่ และโลชั่นบำรุงผิวภายใต้แบรนด์ “ยางนา” จนได้รับความนิยมจากตลาด และก่อตั้งเป็น บ. กาล (30) จำกัด ในปี 2555 เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่างจริงจังทั้งใน และต่างประเทศ โดยได้ลงพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อเฟ้นหาวัตถุดิบดาวเด่นจากชุมชนต่างๆ พื้นที่ใดชำนาญปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกต้นมะหาด ขมิ้น ฟักข้าว ฯลฯ ที่มีคุณภาพ ก็ออกไปรับซื้อวัตถุดิบต้นน้ำทั้งหมดในรูปแบบประกันราคา
ทั้งนี้ สบู่โฮมเมดแบรนด์ “ยางนา” มีให้เลือกซื้อหากว่า 50 ชนิด แตกต่างกันไปตามแต่ละวัตถุดิบ แต่สบู่ทุกก้อนจะมีส่วนผสมของรังไหม ซึ่งมีโปรตีนและคอลลาเจนที่ดีต่อผิวพรรณ ปัจจุบันมีชาวบ้านส่งผลผลิตหนอนไหมรวมทุกพื้นที่ตรงถึงแบรนด์มากกว่า 100 กิโลกรัมต่อเดือน จาก 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสิน ร้อยเอ็ด และยโสธร
“วัตถุดิบที่ใช้มาจากชุมชน เพราะฉะนั้นการผลิตสบู่ของยางนาจึงเน้นความเป็นธรรมชาติกว่า 80 โดยพยายามใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด อีกทั้งยังมีให้เลือกหลากหลายตามความเหมาะสมของผิวพรรณของลูกค้า เช่น สบู่ทับทิม สำหรับผิวแพ้ง่าย สบู่น้ำนมข้าว สำหรับผิวแห้ง และสบู่รังไหมทองคำทีมีส่วนผสมของทองคำเปลว เพื่อทำให้ผิวไม่แห้ง เป็นต้น เป็นจุดเด่นของสินค้าที่ดึงดูความสนใจจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี”
รุกออนไลน์/สยายปีกต่างประเทศ
ด้านกลยุทธ์ในการทำตลาดนั้น วีรวุฒิ จะมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ทางการตลาดแบบ “ป่าล้อมเมือง” และต้องการผลักดันเศรษฐกิจชุมชน โดยเริ่มต้นจากการเข้าไปนำเสนอผลิตภัณฑ์แบรนด์ “ยางนา” เข้าสู่ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลที่มาเปิดสาขาที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจากวิสัยทัศน์และธุรกิจที่เริ่มเป็นรูปธรรม จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะได้รับการสนับสนุนจากทางห้าง และเปิดรับแบรนด์ ยางนา สินค้าจากชุมชนเข้าไปวางจำหน่ายในเซ็นทรัลทุกสาขา ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต และแฟมิลี่มาร์ทกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ
ในปี 2559 ได้เริ่มทำการตลาดออกสู่ต่างประเทศ โดยมีนักธุรกิจที่สั่งออเดอร์ผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ประเทศจีน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค แต่ตนอยากได้แบบเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า ดังนั้น จึงเริ่มดำเนินการในส่วนของกลยุทธ์การจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่งานแสดงสินค้า เพื่อเป็นการเปิดตลาดให้กว้างมากขึ้น และแนะนำผลิตภัณฑ์ให้เป็นทีรู้จักอย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้จะมุ่งเน้นกลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ใส่เรื่องของผิวพรรณ อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีศักยภาพ และต้นทุนน้อย โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่รูปแบบของสกินแคร์ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้ริโภคทั่วไป จากเดิมที่แบรนด์ “ยางนา” จะเป็นผลิตภัณฑ์ทางด้านสปา ไม่ว่าจะเป็นสบู่ เซรั่ม หรือโลชั่น เป็นต้น โดยจะยังคงเอกลักษณ์การมีส่วนผสมของรังไหมไว้
ขณะที่ในส่วนของตลาดต่างประเทศก็จะขยายตลาดในประเทศจีน โดยจะใช้กลยุทธ์เลือกเจาะในแต่ละมณฑล ซึ่งมีผิวพรรณและความต้องการสรรพคุณของสมุนไพรที่แตกต่างกัน รวมถึงการขยายฐานลุกค้าไปสู่กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ดูไบ และกลุ่มประเทศ CLMV โดยจะเริ่มเจาะตลาดในประเทศ เมียนมาร์ และกัมพูชา เป็นลำดับแรก ซึ่งการทำตลาดจะเป็นรูปแบบของการเปิดช็อป (Shop) และการหาตัวแทนจำหน่าย
“การขยายไปต่างประเทศเราจะดำเนินการในคอนเซ็ปป์ที่ว่า เราไปประเทศใดก็ได้เพราะองค์ความรู้เป็นของเราไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบอะไรก็สามารถนำมาปรับใช้ได้”
ดันรายได้ทะลุ 200 ล้านบาท
วีรวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า จากกลยุทธ์การทำตลาดในรูปแบบดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้อยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาทในปี 60 และจะขยายเพิ่มเป็น 200 ล้านบาทในปี 61 จากการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางเอาไว้ โดยในอนาคตมีความมุ่งหวังที่จะให้แบรนด์ “ยางนา” เป็นแบรนด์ของชุมชน เพราะเกิดมาจากชุมชน และทำให้แต่ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพ
“ในช่วงที่ธุรกิจขาดสภาพคล่อง เราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และ SME Development Bank ช่วยเติมเต็มแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ นำมาซื้อเครื่องจักรเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานส่งออก เปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยงให้กับธุรกิจ อีกทั้งยังให้การเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจ และแหล่งซื้อวัตถุดิบอย่างเหมาะสม”.