ส้มตำแนวใหม่ “แม่ตุ๊ก” อร่อยง่ายแค่เติมน้ำ
โลกของธุรกิจไม่เคยหยุดนิ่ง เช่นเดียวกับการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตลอดเวลาตามพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจึงต้องตื่นตัว และเสาะแสวงหารูปแบบการทำธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคให้ได้
สมคิด อินทรบุตร ที่ปรึกษา บริษัท เอ็ม.ที.เกษตรแปรรูป จำกัด คือผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวเอง โดยนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์แนวใหม่ได้อย่างคาดไม่ถึง กับส้มตำไทยอบกรอบ แบรนด์ “แม่ตุ๊ก” ที่กลายเป็นกระแสจากผู้บริโภคที่ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ และได้รับความนิยมจนผลิตสินค้าได้ไม่ทัน
จับนวัตกรรมสู่เมนูส้มตำ
สมคิด บอกถึงที่มาที่ไปของธุรกิจว่า เดิมทีบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการนำผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูป เนื่องจากด้วยสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผลจนล้น ทำให้ต้องคิดหาแนวทางในการเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการนำผลไม้ หรือหน่อไม้มาดอง แม้กระทั่งการทำปลาร้า อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รูปแบบของการแปรรูปอาหารทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับที่ได้เห็นเพื่อนนำเทคโนโลยีการแช่แข็ง (Freeze dry) มาใช้ จึงได้เกิดไอเดียในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้กับอาหารประเภทส้มตำ จนกลายเป็นส้มตำปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานชื่อเสียงสนั่นตลาดอย่างในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเมื่อมีไอเดียแล้วส้มตำอบกรอบแบรนด์ “แม่ตุ๊ก” จะเกิดขึ้นมาได้แบบทันทีทันใด แต่กว่าจะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างที่เห็น สมคิด รวมถึงลูกๆ และผู้จัดการบริษัทได้ผ่านการลองผิดลองถูกมากว่า 2 ปี โดยเริ่มต้นกับอาหารทั้งต้มยำ ผัดไท และส้มตำ แต่ด้วยข้อจำกัดของต้มยำซึ่งต้องใช้น้ำร้อนเติมลงไป เพื่อให้คลายตัวก่อนรับประทาน จึงมองว่าเป็นวิธีการที่ยุ่งยาก เพราะฉะนั้น จึงมองว่าส้มตำน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์มากกว่าจากความง่ายของการรับประทานเพียงแค่เติมน้ำสะอาดในอุณหภูมิห้องประมาณ 100 ซีซี หรือประมาณครึ่งแก้วลงไปหลังจากฉีกซอง รอประมาณ 1-2 นาที คลุกเคล้าให้เข้ากันก็สามารถรับประทานได้ทันที
นอกจากนี้ เหตุผลที่เลือกเมนูอาหารประเภทส้มตำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์นั้น ก็เพราะต้องการให้เกษตรกรไทยเติบโตไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ และส้มตำก็เป็นเมนูที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตรหลากหลายชนิด ตรงกับแนวคิดของบริษัทที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่าลงตัว
“เราลองวิธีอบด้วยความร้อน นำไปทอด และวิธีอื่นอีกสารพัดวิธี จนกระทั่งมามาลงตัวที่การใช้วิธีดึงน้ำออกด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย จนได้ส้มตำไทยอบกรอบอย่างในปัจจุบันที่รับประทานได้อย่างง่ายดายในทุกที่ ที่สำคัญยังเป็นส้มตำที่ไม่แตกต่างจากการตำสดใหม่ออกจากครก มีรสชาติถึงเครื่องกลมกล่อมแบ่งระดับความเผ็ดไว้ 3 ระดับ ได้แก่ เผ็ดน้อย เผ็ดกลาง และเผ็ดมาก”
เพิ่มกำลังผลิตบุกตลาดในและต่างประเทศ
สมคิด บอกว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ส้มตำอบกรอบได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคจนกลายเป็นกระแสการส่งต่อ และแชร์ออกไปเป็นจำนวนมากในโลกโซเชี่ยลจนทำให้บริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ทันตามความต้องการของผู้บริโภค โดยตลาดที่บริษัทมุ่งเน้นจะเป็นตลาดเพื่อการส่งออก เนื่องจากมองว่าอาหารประเภทส้มตำสามารถหารับประทานได้ง่ายในประเทศไทย แต่ตลาดต่างประเทศจะมีความต้องการเป็นอย่างมากกับอาหารประเภทดังกล่าวนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีผู้บริโภคในประเทศจำนวนมากเช่นกันที่ชื่นชอบ และพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อมาบริโภค แม้ว่าจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง
สำหรับต่างประเทศที่มองไว้นั้น สมคิดเลือกที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปทำตลาดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในแถบทวีปยุโรปบางประเทศ และจีน ขณะที่ตลาดในประเทศก็มีการเจรจาธุรกิจกับห้างสรรพสินค้า และโมเดรินเทรดไว้แล้วอยู่หลายแห่ง จากเดิมที่มีวางจำหน่ายอยู่แล้วที่สยามพารากอน และเอ็มควอเทีย (Emquartier) และช่องทางบนอินเตอร์เนตทั้งเฟสบุ๊ก (Maetuk Brand) ไลน์ (@Maetuk.mt) และเว็บไซด์ (www.maetuk.com) ซึ่งจากการทำตลาดที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าวเชื่อว่าน่าจะทำให้บริษัทมีรายได้ในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท
เล็งออกรสชาติใหม่เพิ่มฐานลูกค้า
สมคิด บอกต่ออีกว่า ปัญหาของบริษัทในขณะนี้ก็คือเรื่องของกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ ทำให้บริษัทยังไม่สามารถรับออเดอร์จากลูกค้าที่เข้ามาเป็นจำนวนมากได้ทั้งหมด ดังนั้น บริษัทจึงกำลังดำเนินการลงทุนในส่วนของการเพิ่มเครื่องจักร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้บริษัทตอบรับความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งใน และต่างประเทศ
ส่วนแผนในอนาคตนั้น บริษัทมีแนวคิดที่จะเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ไปสู่ส้มตำประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นส้มตำปูปลาร้า ,ส้มตำซีฟู๊ด และส้มตำเจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องรอให้บริษัทขยายการงทุนในส่วนของเครื่องจักร และมีการปรับระบบให้ลงตัวเรียบร้อยเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด และต้องเสียโอกาสทางธุรกิจไป ที่สำคัญยังต้องการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เกิดความสม่ำเสมอ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
“การออกรสชาติใหม่ในอนาคตจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ในการบริโภค และยังเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ให้กับบริษัท นอกจากนี้ ยังจะทำให้ผู้บริโภคไม่เกิดความจำเจในการรับประทาน และสามารถเลือกรับประทานได้แบบไม่ซ้ำในทุกครั้งที่ต้องการรับประทานอาหารประเภทส้มตำ”