“ปตท.” ต้องรอด..!!
ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้ “วิถีชีวิตใหม่” หรือที่เรียกกันว่า “นิวนอร์มอล” (New Normal) ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ของโลก หลายต่อหลายบริษัทต้องประกาศปิดตัวเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว” ภายหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเมื่อ 06 ธ.ค. 63 ที่ผ่านมาได้มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 66,833,007 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1,533,741 ราย
สหรัฐยังคงมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลกอยู่ที่ 14,981,840 รองลงมาคืออินเดียอยู่ที่ 9,644,529, บราซิล อยู่ที่ 6,577,177, รัสเซีย อยู่ที่ 2,431,731 และฝรั่งเศส อยู่ที่ 2,281,475
เหตุนี้จึงทำให้บริษัทขนาดใหญ่ จำต้องปรับตัว ก่อนที่จะมีชะตากรรมเดียวกับบริษัทที่ต้องปิดตัวไปก่อนหน้านี้
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็มีสถานะไม่ต่างกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน
ดูจากผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 483,567 ล้านบาท ลดลง 67,307 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานไตรมาสของ 1 ปี 2562 และมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 32,385 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 59.8
ทำเอาผู้ถือหุ้นใจหายวูบกันเลยทีเดียว…
แต่ก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยกลับมีกำไรสุทธิ 12,053 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิจำนวน 1,554 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563
รวมทั้งผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อย ก็มีกำไรสุทธิ 67,465 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,257 ล้านบาท หรือ 24.5% จากไตรมาส 2 ปี 2563
สาเหตุหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีกำไร จากสต๊อกน้ำมันในไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ จากความร่วมมือของโอเปกในการลดกำลังผลิตน้ำมัน การปิดแท่นขุดเจาะที่อ่าวเม็กซิโก จากพายุ เฮอร์ริเคน ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากผ่อนคลายการปิดเมือง
แม้ผลประกอบการจะดี แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าการคงอยู่กับธุรกิจใด ธุรกิจเดียว ไม่ทำให้อยู่รอดได้…
ฉะนั้นการที่จะทำให้ ปตท. อยู่ด้วยความมั่นคง และ ยังยืน จึงเป็นภาระหลักของ “นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.(PTT) ในฐานะคนคุมชะตากรรม ปตท. ที่เป็นบริษัทสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่ติดทำเนียบ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของ FORTUNE (ฟอร์จูน)
ที่ต้องวางแผน วางรากฐาน ให้กับคนรุ่นต่อไป…
เหมือนดังเช่น ผู้ว่าฯ ปตท. คนเก่าได้วางรากฐานที่ดีงาม ในเรื่องของสถานีบริการน้ำมันที่มีห้องน้ำที่สะอาดที่สุด การมีน้ำมันราคาที่ยุติธรรมให้กับประชาชน การปรับเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันที่ให้บริการแบบครบวงจร มีอาหาร เครื่องดื่ม และ ร้านกาแฟ Cafe Amazon
เป็นการสร้าง image ในยุค 30 ปีที่ผ่านมา จน ปตท.กลายเป็นตัวอย่างของแบรนด์ ที่หลายประเทศทั่วโลกต้องมาดูงานเพื่อพัฒนา image ขึ้นมา เพื่อนำไปใช้ในประเทศของตนเอง
แต่ทั้งหมดนี้เป็นภาพของอดีตที่เกิดขึ้นมาแล้ว
ส่วนอนาคตของ ปตท. แม้ว่าจะวางตัวเป็น “บริษัทโฮลดิ้ง” (Holding company) และถือหุ้นในเครือเป็นหนวดปลาหมึก แต่ก็ยังคงอยู่ในธุรกิจเดียวคือ “อุตสาหกรรมน้ำมัน”
การพยายามผลักดันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจอื่น อย่างเช่น “อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน”ในอินโดนีเซีย ก็เจ๊งไม่เป็นท่า ทั้งยังมีคดีความเรื่อง ค่านายหน้า ปูดออกมาให้ปวดใจ
ส่วนร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ และ ร้านกาแฟ Cafe Amazon แม้จะขายดีแต่ก็มีรายได้นิดเดียว
สุดท้ายรายได้หลักก็มาจากธุรกิจ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี
กระทั่งวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น…ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของ ปตท.จึงได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง…
เพราะทางรอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ของมนุษยชาติ คือ 1. ต้องมียารักษา 2. ต้องมีวัคซีน ความจำเป็นนี้ทำให้ ปตท.มองเห็นโอกาส…โอกาสที่จะสร้างความยังยืนให้กับ ปตท.
ธุรกิจยา และ เวชภัณฑ์ จึงกลายมาเป็นความหวัง
แต่ใช่ว่าธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จกันง่ายๆ …ต้องใช้เวลายาวนานในการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) หรือ R&D เห็นได้จากบริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับแถวหน้าของโลกต้องใช้เวลานับ 100 ปี กว่าจะมายืนแถวหน้าได้
แต่ ปตท. เรียนลัด…
เรียนลัด…ด้วยการจับมือกับ องค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. สร้างโรงงานผลิตยาทุกรูปแบบที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยจะผลิตยาออกมาสู่ตลาดใน 10 ปีข้างหน้า
แต่จะมีการผลิตยาที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ออกมาก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นการทดลองตลาด 70 % ขายในประเทศ 30 % ขายกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (CLMV) 4 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา ,สปป.ลาว, เวียดนาม และเมียนมา และอาเซียน
นั่นก็เพราะ ปตท.มองเห็นความได้เปรียบเรื่องของส่วนต่างราคายารักษาโรค
ปตท.จึงพยายามนำตนเองก้าวผ่านไปสู่ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ แทนที่จะฝากความหวังไว้เพียงแค่อุ ตสาหกรรมน้ำมันเพียงอย่างเดียว และในอนาคต อาจจะมีธุรกิจอื่นๆที่จะทยอยออกมาอีกเป็นจำนวนมาก
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพื่อ… ทำให้ ปตท.เป็นองค์กร ที่ติดอันดับ 1 ใน 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของ FORTUNE ต่อไป