ตลาดเอเชีย ดันส่งออก BIG BIKE ปี 62
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ตลาดเอเชีย ดันส่งออก Big Bike ปี 62 โตร้อยละ 10 มูลค่าส่งออก Big Bike รุ่นเล็กพุ่งแซงหน้ารุ่นใหญ่ในอีก 3 ปีเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์โดยรวมของไทยเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก อย่างไรก็ตาม Big Bike ในไทยกลับเดินสวนทาง รวมถึงยังมีการทยอยเข้ามาลงทุนของค่าย Big Bike รายใหญ่ของโลกอย่างต่อเนื่อง ผลักดันทำให้ไทยกลายมาเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออก Big Bike ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2562 การส่งออก Big Bike ของไทยไปทั่วโลกมีโอกาสขยายตัวได้กว่าร้อยละ 10 โดยเอเชียจะเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงสุดด้วยอัตราการขยายตัวกว่าร้อยละ 20 ซึ่งในปัจจุบันเอเชียเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆในตลาด Big Bike โลกตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยในระยะ 3 ปีหลังจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า Big Bike รุ่นเล็ก (251 ถึง 500 ซีซี) จะเป็นรุ่นที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญสำหรับการส่งออกของไทยไปเอเชียแซงหน้ารุ่นอื่นๆ เนื่องจากปัจจัยราคาที่เอื้อมถึงได้เหมาะกับผู้ซื้อ Big Bike หน้าใหม่จำนวนมากที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาคนี้
ส่วนในระยะต่อจากนี้ไป แม้บทบาทของ Big Bike ไทยในบางตลาด และบางประเภทอาจจะต้องลดลงไปบ้าง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดปัจจุบัน และการวางยุทธศาสตร์การผลิตของแต่ละค่าย แต่ทว่าสำหรับ Big Bike ไทยโดยภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โอกาสนี้จะทำให้เรายิ่งเห็นบทบาทของไทยที่เพิ่มขึ้นในการเป็นฐานการผลิตที่ทวีความสำคัญของค่าย Big Bike ต่างๆ โดยเฉพาะในรุ่นเล็ก (251 ถึง 500 ซีซี) และรุ่นใหญ่ (801 ซีซีขึ้นไป) เพื่อรองรับตลาดศักยภาพที่กำลังเติบโตสูงอย่างเอเชีย
ส่งออก Big Bike ไทยสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน…. ดันตลาดเอเชียโตร้อยละ 20 ในปี 62 ด้วยจำนวนยอดขาย Big Bike ทั่วโลกกว่า 2 ล้านคันต่อปี ซึ่งเทียบเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั่วโลกล่าสุดปี 2562 ที่ 62 ล้านคัน ทำให้ Big Bike เป็นตลาดรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดเล็กพอสมควร ฐานการผลิต Big Bike ในโลกจึงมีอยู่ได้เพียงไม่กี่ประเทศเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งไทยได้กลายมาเป็นหนึ่งในฐานการผลิต Big Bike ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกด้วยสัดส่วนการผลิตสูงถึงกว่าร้อยละ 10 ของการผลิต Big Bike รวมทั่วโลก
โดยสรุป การส่งออก Big Bike ของไทยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะ Big Bike รุ่นเล็กในตลาดเอเชีย ซึ่งการที่ไทยได้กลายมาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ค่าย Big Bike เลือกลงฐานการผลิต ทำให้โอกาสการลงทุนในระยะยาวสำหรับการผลิต Big Bike เพื่อตลาดในประเทศและส่งออกสำหรับไทยยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อันจะกลายมาเป็นจักรกลสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยมีโอกาสขยายตัวต่อยอดไปได้ในภาวะตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมในประเทศอิ่มตัว
ทั้งนี้ การมาลงทุนของค่าย Big Bike โดยรวมนั้นส่งผลดีต่อปริมาณการผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของไทยในห่วงโซ่อุปทานเดิมที่อยู่ในระบบอยู่แล้วให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศในการผลิต Big Bike สูงถึงกว่าร้อยละ 60 อยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นส่วนในกลุ่มโครงรถ อุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนตกแต่ง ระบบกันสะเทือน เบรค ท่อไอเสีย ล้อรถ ยางล้อ และอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจมีโอกาสที่จะเกิดการลงทุนเพิ่มในส่วนของชิ้นส่วนสำคัญบางอย่างด้วย โดยเฉพาะชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ เช่น เสื้อสูบ ฝาสูบ อ่างน้ำมันเครื่อง เพลาข้อเหวี่ยง เพลาลูกเบี้ยว และก้านลูกสูบ เป็นต้น ซึ่งบีโอไอได้กำหนดให้ค่าย Big Bike ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนต้องมีการลงทุนเพิ่มสำหรับชิ้นส่วนบางตัวในเครื่องยนต์ดังที่กล่าวไป อันจะเป็นโอกาสให้ในอนาคตอาจเกิดการลงทุนเพิ่มเติมในชิ้นส่วนอื่นๆของเครื่องยนต์ตามมา รวมถึงอาจเกิดการผลิตเครื่องยนต์ครบสมบูรณ์ของ Big Bike ขึ้นในไทย โดยเฉพาะสำหรับ Big Bike รุ่นเล็กบางค่ายที่มีโอกาสที่กำลังการผลิตในไทยในอนาคตข้างหน้าอาจเพิ่มจำนวนขึ้นมากจนค่าย Big Bike นั้นๆมองเห็นศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวให้เกิด economies of scale ได้ ทั้งเพื่อรองรับตลาดในประเทศและการส่งออก ซึ่งเหล่านี้อาจจะเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นให้ผู้ประกอบการไทยในระยะต่อไปได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรม Big Bike ในไทย