จีที200 เครื่องตรวจหา “คนรับผิดชอบ”

คำพิพากษาของศาลประเทศอังกฤษที่มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ “นายเจมส์ แมคคอร์มิค”
ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 (จีที200) มูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 395 ล้านบาท
ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดนั้นเพื่อไปเป็นค่าชดเชยแก่ผู้ซื้อหรือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการที่เจ้าจีที 200 ไม่ได้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้จริง ตามที่บริษัทผู้ขายโฆษณา
เรื่องนี้ แม้ศาลจะตัดสินที่ประเทศอังกฤษก็จริง แต่ผลกระทบกลับกลายเป็นแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทย และรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถามว่า ทำไม? รัฐบาลบิ๊กตู่ถึงเจอผลกระทบจากคำตัดสินนี้ไม่ได้ ก็พบว่ามีคำตอบที่แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยใหญ่ๆ
1. รัฐบาลไทยไม่ได้อยู่ในบัญชีของประเทศที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามคำพิพากษาของศาลอังกฤษ แม้ว่าหน่วยงานของประเทศไทยหลายหน่วยงานจะเป็นลูกค้าที่ซื้อจีที 200 มาใช้งาน
ประเด็นนี้เชื่อว่าเกิดคำถามจากคนไทยไม่น้อยว่านี่ จะเป็น “ค่าโง่จีที200” ซ้ำรอยแผลเดิมอีกหรือไม่ เพราะต้องย้ำว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงและปกครองของประเทศไทย จัดอยู่หนึ่งในลูกค้าหรือประเทศที่ซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 จำนวนมาก
ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ งานเข้าต้องรีบสั่งการ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ทันที เพื่อไม่ให้รัฐบาลถูกมองว่ากำลังนิ่งเฉยหรือ “เกียร์ว่าง” กับเรื่องนี้ เพราะหากปล่อยไว้นานผลกระทบคงตามอีกมาก โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามกำลังจ้องนำประเด็นนี้มาขยายผลอยู่แล้ว
“การเรียกร้องค่าเสียหายตามที่ศาลอังกฤษได้ยึดทรัพย์ไว้เรื่องนี้ถือว่าใหม่ จึงสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยงานจัดซื้อ 7-8 หน่วยงาน รวมถึงจะหารือว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นตัวแทนรัฐในการเรียกเงินเยียวยา โดยคาดว่าจะเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะมีกฎหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่” รองนายกฯ วิษณุ ระบุ
ปัจจัยที่ 2. การจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดของกองทัพบกเกิดขึ้นในสมัยที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) โดยปัจจุบัน พล.อ.อนุพงษ์ มีตำแหน่งในรัฐบาลนี้ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
มีข้อมูลปรากฏว่าขณะนั้นกองทัพบกมีการสั่งซื้อเครื่องจีที 200 จำนวน 541 เครื่อง เพื่อนำไปใช้ในภารกิจของกองทัพบก
แต่ไม่เพียงแต่กองทัพบกเท่านั้นที่สั่งซื้อ แต่มีหน่วยงานรัฐอื่นอีกหลายหน่วยงานสั่งซื้อด้วยพร้อมกับเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอีกรุ่นที่เรียกว่า อัลฟา6 รวมกันมากกว่า 1,000 เครื่อง
ซึ่งก่อนที่คำพิพากษาอังกฤษจะออกมา เครื่องจีที200 ได้กลายเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคมไทยมาก่อนแล้ว หลังจากที่หน่วยงานของอังกฤษพบความไม่โปร่งใสของการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวของบริษัทผู้ผลิตในประเทศอังกฤษ
เป็นผลให้ขณะนั้น “ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำวิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นหนึ่งในหัวหอกของการตรวจสอบ เปิดโปง และเสนอให้หยุดใช้เครื่องจีที200
“เมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว ผมและเพื่อนออกมารณรงค์ในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไปก่อนที่จะเป็นข่าว ซึ่งไปให้ข้อมุูลทั้งส่วนราชการ และ การเมือง เพื่อให้ได้รับรู้ว่าเครื่องจีที 200 ใช้ไม่ได้ แต่บังเอิญมีข่าวใหญ่ที่ บีบีซี ขึ้นมา จึงได้มีการทดสอบอย่างจริงจัง เครื่องจีที 200 ไม่สามารถทำงานได้ เพราะการกล่าวอ้างว่าไม่มีไฟฟ้าหรือ แบตเตอรี่ ไม่มีวงจรไฟฟ้าใด ๆ เลย และอ้างเพียงว่าใช้ไฟฟ้าสถิตจากมนุษย์ ส่งไปที่เครื่อง ทำให้เสาอากาศสามารถชี้หาวัตถุตามที่เราต้องการได้ ในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นไปไม่ได้ แต่ในเรื่องตรรกะความเป็นสไตล์คนไทย เช่นเชื่อคนกล่าวอ้างว่าใช้ได้ หากเจ้านายสั่งมาว่าใช้ได้ ลูกน้องรับเครื่องไปก็ต้องใช้ให้ได้ในทำนองนั้น”
และขณะนั้น รัฐบาลของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ต้องเข้ามาตรวจสอบโดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ โดยมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200” ขึ้นมา 1 ชุด เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2553
ผลการตรวจสอบปรากฏว่าเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 นี้ ไม่ได้ประสิทธิภาพจริง เพราะทดสอบตรวจหาวัตถุระเบิดจำนวน 20 ครั้ง แต่กลับตรวจพบเพียง4ครั้งเท่านั้น จนนำมาซึ่งคำสั่งการสั่งให้ยกเลิกใช้จีที 200 ในเวลาต่อมา
พร้อมกับการให้เข้ากระบวนการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และส่งข้อมูลให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ
แต่จนถึงตอนนี้การตรวจสอบในชั้นของ ป.ป.ช. กลับยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช.ชี้แจงว่าจำเป็น “ต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล”
เรื่องจึงเงียบและผ่านมาจนถึงเวลานี้ก็ราว 5-6 ปี ทันทีที่ศาลอังกฤษมีคำพิพากษาออกมาช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงกลายแรงกดดันที่รัฐบาลและคสช. ต้องเผชิญอีกระรอกหนึ่ง
แต่เมื่อเทียบกับหลายกรณีที่รัฐบาลและคสช. “เอาตัวรอด” มาได้ในหลายกรณี ต่างจากกรณีนี้ที่มีคำพิพากษาและสั่งให้ยึดทรัพย์ของศาลอังกฤษ เท่ากับเป็นการยืนยันว่าเจ้าเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 ไม่มีประสิทธิภาพแม้แต่น้อย และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกหลอกขายสินค้าชิ้นนี้
ยังไงเสียเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นประเด็นถล่มมายังรัฐบาลคสช. หน่วยงานที่จัดซื้อแล้ว แต่ขณะเดียวกันแรงกดดันนี้ยังจะถาโถมเข้าใส่ “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย เพราะเรื่องเงียบมานานกว่า 6 ปี แต่กลับยังไม่มีความคืบหน้า
ปัจจุบัน “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ในฐานะประธาน ป.ป.ช. กำลังจะเป็นเป้าที่ถูกจับตาว่า ป.ป.ช.จะเร่งพิจารณาคดีนี้ให้สังคมหายสงสัยหรือไม่ได้เมื่อไหร่ เพราะก่อนที่ พล.อ.วัชรพลเข้ามาเป็นประธาน ป.ป.ช. การไต่สวนของ ป.ป.ช.ในคดีนี้กลับมีความล่าช้าจนเกิดความสงสัยมาแล้ว
อย่างที่ทราบกันดีว่า พล.ต.อ.วัชรพล ต่างมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงบุคคลในรัฐบาลและคสช.ทั้งสิ้น ทั้งพล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ที่ก่อนมานั่งในเก้าอี้ประธานป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพลก็ได้นั่งในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อยู่กับพล.อ.ประวิตรมาแล้ว
ภาพของสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นคนหนักใจมากที่สุดในฐานะที่เป็นผู้อยู่ตรงกลาง เพราะล้วนแล้วแต่มีคนใกล้ชิดเข้าไปเกี่ยวข้องในการที่ป.ป.ช.จะตรวจสอบคดีจีที200 ทั้งสิ้น
แต่อย่าลืมว่า หน่วยงานตรวจสอบไม่ได้มีแค่ ป.ป.ช.เท่านั้น
เพราะ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ก็ กระโดดเข้ามาร่วมวงตรวจสอบแล้ว โดย “นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าคสช.” บอกว่า การตรวจสอบพบว่าประเทศไทยเป็นเหยื่อของการหลอกลวงโดยตัวเเทนจำหน่ายร่วมกับผู้ผลิต เมื่อมีบางฝ่ายพิสูจน์การทำงานของเครื่องนี้เเล้วพบว่าใช้ไม่ได้จริง เเสดงว่าตัวเเทนจำหน่ายเเละผู้ผลิตร่วมกันฉ้อโกงหลายหน่วยราชการของไทยให้หลงเชื่อเเละสั่งซื้อ วงเงิน 800 ล้านบาท
“ตอนนี้สตง.กำลังหาช่องทางว่าจะมีวิธีใดจะฟ้องเรียกค่าความเสียหายคืนมา โดยจะส่งเรื่องนี้ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เเละสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ตรวจสอบด้วย”
แต่ดูจากคำตอบแล้ว แม้แต่ สตง. ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามที่สำคัญที่สุด ว่าหน่วยราชการของไทยจะเรียกเงินชดเชย หรือ “ค่าโง่” จากคำพิพากษาของศาลอังกฤษเหมือนหลายประเทศที่ถูกหลอกให้ซื้อ