ขนส่งสินค้าไปเวียดนามโอกาสที่ไม่ควรมองผ่าน
EICธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์การค้าผ่านแดนของไทยกับเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตราว 30%CAGR ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยหลักจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตและการบริโภคภายในประเทศของเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านแดนของไทย ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ปัญหาสภาพถนน ความแตกต่างของกฎหมายขนส่ง และความซับซ้อนของพิธีการศุลกากร ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนส่งสินค้าผ่านแดนไปเวียดนาม
ในเดือนมิถุนายน 2018 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มเปิดเดินรถขนส่งสินค้าผ่านแดนอย่างเป็นทางการภายใต้ความตกลง GMS-CBTA เพื่อลดอุปสรรคทั้งทางด้านพีธีศุลกากรและระบบการจราจร โดย อีไอซี ประเมินว่า ความตกลงดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งราว 45% และลดต้นทุนการขนส่งลงกว่า 20% จากการขนส่งสินค้าผ่านแดนรูปแบบเดิม
จากการวิเคราะห์ภาพธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านแดนที่ผ่านมา อีไอซี พบว่า จำนวนรถขนส่งสินค้าที่จดทะเบียนไม่ได้แสดงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ สะท้อนได้จากผลประกอบการของผู้ประกอบการที่มีรถขนส่งสินค้าจดทะเบียนมากกว่า 100 คันขึ้นไปต่ำกว่าค่าเฉลี่ยผลประกอบการโดยรวมในตลาดที่มีรายได้เติบโตเฉลี่ยราว 10% และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20%
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งจากผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างชาติภายใต้ความตกลง GMS-CBTA และการขยายโครงข่ายขนส่งระบบรางที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ต้องการขนส่งสินค้าไปเวียดนาม
การค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าผ่านแดนสำคัญ มีสัดส่วนปริมาณการค้ากว่า 60% ของปริมาณการค้าผ่านแดนโดยรวม เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านมายาวนานและที่ผ่านมาภาครัฐให้ความสำคัญกับการค้าในภูมิภาคมาโดยตลอด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2014-2018) การค้าชายแดนไปเมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซียขยายตัวราว 3%CAGR ขณะที่ การค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม เติบโตกว่า 12%CAGR โดยในปี 2018 การค้าผ่านแดนของไทยมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทหรือมีปริมาณสูงกว่า 2 ล้านตัน ถึงแม้ว่ามูลค่าการค้าผ่านแดนไทยกับจีนตอนใต้จะสูงถึง 1 แสนล้านบาท แต่กลับมีสัดส่วนปริมาณการค้าไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกผ่านแดนส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ ปริมาณการค้าผ่านแดนไปเวียดนามสูงถึง 1.3 ล้านตันหรือมีสัดส่วนกว่า 60% ของปริมาณการค้าผ่านแดนโดยรวม และกว่า 95% เป็นการส่งออก เวียดนามจึงเป็นตลาดที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและอบแห้ง, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ในระยะกลาง (2019-2021) การค้าผ่านแดนของไทยกับเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 30%CAGR ตามทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติในการตั้งฐานการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามมากขึ้นเพื่อเลี่ยงสงครามการค้า อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลบวกให้การส่งออกชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ของไทยขยายตัวต่อเนื่องเพื่อป้อนให้กับโรงงานเหล่านี้ ด้านการบริโภคภายในประเทศ ด้วยจำนวนประชากรชาวเวียดนามที่มากถึง 90 ล้านคนและราว 15% เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพรวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขยายสาขาอย่างรวดเร็วของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) สัญชาติไทย เช่น Big C เวียดนามในเครือกลุ่มเซ็นทรัล และ Metro ธุรกิจในเครือ TCC ที่ถือเป็นผู้เล่นหลักในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเวียดนามจะผลักดันให้สินค้าไทยเป็นที่นิยมและมีการนำเข้ามากขึ้น
ปัญหาสภาพถนน ความแตกต่างของกฎหมายขนส่ง และความซับซ้อนของพิธีการศุลกากร ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนาม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขนส่ง โดยส่วนใหญ่การขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนามใช้เส้นทาง R12 (กรุงเทพฯ-นครพนม/ท่าแขก-นาพาว/จาลอ-วินห์-ฮานอย) เป็นหลักเนื่องจากระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางอื่นและเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังนครหนานหนิง มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีนได้ โดยเส้นทางนี้ยังคงเป็นถนน 2 เลนข้างทางเป็นหุบเขาสลับพื้นที่การเกษตร และบางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อทำให้มีการซ่อมแซมถนนเป็นระยะ ในด้านกฎหมายขนส่งของเวียดนามที่ไม่อนุญาตให้รถขนส่งสัญชาติไทยข้ามพรมแดนไปเวียดนามทำให้การขนส่งสินค้าผ่านแดนไปเวียดนามต้องใช้วิธีถ่ายสินค้าลงรถขนส่งสัญชาติลาวที่พรมแดนลาว แล้วจึงส่งต่อไปยังเวียดนาม นอกจากนี้ กฎหมายจราจรทางบกของลาวและเวียดนามยังมีความแตกต่างจากไทย เช่น การกำหนดน้ำหนักบรรทุก และการจำกัดความเร็ว ขณะที่ พิธีปฏิบัติด้านศุลกากรและกฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศของแต่ละประเทศมีความซับซ้อนหลายขั้นตอนทำให้เกิดความแออัดของรถขนส่งสินค้าที่จอดรอบริเวณหน้าด่านศุลกากร ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้อีไอซี ประเมินว่า ความเชี่ยวชาญของบุคลากร การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และการให้บริการขนส่งสินค้าแบบครบวงจรถือเป็น 3 กลยุทธ์สำคัญสู่ความสำเร็จของธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านแดน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านแดนจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญเส้นทางและความเชี่ยวชาญในการดำเนินพิธีการศุลกากรตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงประเทศปลายทางรวมถึงความได้เปรียบในเรื่องภาษาท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานและลดต้นทุนการขนส่ง ประกอบกับการมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีและมีเครือข่ายที่มีศักยภาพในการกระจายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือร้านค้าปลีกจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีฐานลูกค้าที่แน่นอนและสามารถจัดการต้นทุนการขนส่งทั้งขาไปขากลับลดความเสี่ยงในการวิ่งรถเปล่าที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ การให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรเชื่อมต่อการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ และทางอากาศ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนจะต้องเตรียมพร้อมเผชิญกับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน, การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรง และการขยายโครงข่ายขนส่งระบบราง ในอนาคตธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านแดนมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้มากขึ้น อีกทั้งความร่วมมือของภาครัฐในกลุ่มภูมิภาคยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการค้าและโครงข่ายโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านแดนเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการในหลายกลุ่มจับตามองเพื่อสร้างโอกาสในการขยายกิจการ ขณะที่ ความท้าทายสำคัญของธุรกิจนี้ ได้แก่ 1) ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสภาพถนนที่ยังต้องการการพัฒนาและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น จุดพักรถ สถานีบริการน้ำมัน ร้านซ่อมรถ ยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของภาคโลจิสติกส์ในอนาคต 2) การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากจำนวนผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจากผู้ประกอบการต่างชาติภายใต้โควตา GMS-CBTA และ 3) การขยายโครงข่ายขนส่งระบบรางในภูมิภาคอาเซียน เช่น รถไฟรางคู่ของไทยที่เชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย (Trans-Asian Railway) จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ต้องการขนส่งสินค้าไปเวียดนามเนื่องจากมีต้นทุนขนส่งที่ต่ำกว่า.