ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดผสมผสาน
SCB CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดผสมผสาน ขณะที่ธนาคารกลางหลักๆ ของโลก มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายมากขึ้น
ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป ปิดลบ เนื่องจาก ความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศส-สหรัฐฯ หลังรัฐบาลฝรั่งเศสจะเรียกเก็บภาษี 3% ต่อรายได้ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสของบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทของสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน ปิดลบ เนื่องจาก ความกังวลต่อสภาพคล่องในตลาด หลังบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีของจีนมีแนวโน้มเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนครั้งแรก (IPO) จำนวนมาก ด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน ปิดบวก จากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าคาด และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่ราคาทองคำ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก หลังประธาน Fed ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ค. ในการแถลงต่อสภาคองเกรส โดยมีความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงจากสงครามการค้า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการประชุมของ Fed ที่กรรมการ Fed ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้เช่นกัน
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดลบ เนื่องจาก ความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-ฝรั่งเศส หลังรัฐบาลฝรั่งเศสจะเรียกเก็บภาษี 3% ต่อรายได้ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสของบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทของสหรัฐฯ และได้รับแรงกดดันหลังคณะกรรมาธิการยุโรป ปรับลดคาดการณ์ GDP และอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในปี 2020 เนื่องจาก ผลกระทบของสงครามการค้า
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดลบ เนื่องจาก ความกังวลประเด็นข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ หลังญี่ปุ่นจะไม่ยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าไฮเทคให้กับเกาหลีใต้
ตลาดหุ้นจีน (A-Shares) ปิดลบ เนื่องจาก ความกังวลต่อสภาพคล่องในตลาด หลังบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีของจีนมีแนวโน้มเสนอขายหุ้น IPO เป็นจำนวนมาก
ตลาดหุ้นไทย ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ หลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ลดช่วงบวกลง ในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ตลาดน้ำมัน ปิดบวก เนื่องจาก สต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาด การลดกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ก่อนที่พายุจะเตรียมพัดเข้าอ่าวเม็กซิโก ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณช่องแคบฮอร์มุซระหว่างอังกฤษ-อิหร่าน
ตลาดทองคำ ปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลัง Fed ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
– นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) สหรัฐฯ ในไตรมาส 2/62 โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ ซิตี้ กรุ๊ป, โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน, แบงก์ ออฟ อเมริกา และมอร์แกน สแตนลีย์ ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ ผลประกอบการของบจ. ในดัชนี S&P500 ในไตรมาส 2/62 จะลดลง -2.8%YoY (เทียบกับ -0.3%YoY ในไตรมาส 1/62) ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 ที่กำไรของบจ.จะหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยผลประกอบการของหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Utilities และ Healthcare คาดว่าจะขยายตัว 2.2%YoY และ 2.1%YoY ตามลำดับ ขณะที่หุ้นกลุ่ม Materials และกลุ่ม Technology ที่ได้รับผลกระทบสงครามการค้า คาดว่าจะลดลง -16%YoY และ -11.9%YoY ตามลำดับ
– ติดตามการเคลื่อนไหวของเงินบาท หลัง ธปท.ออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรเงินบาท โดยลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของนักลงทุนต่างชาติ เหลือ 200 ล้านบาท จากเดิม 300 ล้านบาท มีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.ค. และเพิ่มความเข้มงวดรายงานการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราคาดว่า มาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน เพื่อรอติดตามผลประกอบการของบจ.ในไตรมาส 2/62 ซึ่งหากประกาศออกมาดีกว่าคาด อาจเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นให้กับตลาดฯได้ ขณะที่แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก หลัง Fed ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. (โดยผลสำรวจ ชี้ว่าโอกาสที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 100%) และรายงานการประชุม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) บ่งชี้ถึงความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดดอกเบี้ย และมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ได้สะท้อนถึงสภาพคล่องในตลาดที่จะเพิ่มขึ้น และจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสินทรัพย์เสี่ยง ด้านตลาดหุ้นไทย เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลง หลัง ธปท.ออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท และ นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคาร ส่วนราคาทองคำ ยังได้รับแรงหนุนจาก ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดค้าปลีกและผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ / GDP ในไตรมาส 2/62 ผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน / ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมัน / อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน และอังกฤษ / อัตราเงินเฟ้อและดุลการค้าของญี่ปุ่น