TISCO ESU วิเคราะห์นโยบาย 100 วัน “ทรัมป์”

ชี้ “NATO-IMF-ภาษี-ดอลลาร์” 4 เสาหลักพลิกโฉมเศรษฐกิจโลก
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เผยบทวิเคราะห์นโยบาย 100 วัน ประธานาธิบดีทรัมป์ ชี้ “NATO-IMF-ภาษี-ดอลลาร์” 4 เสาหลักยุทธศสาตร์พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก เป็นไปตามแผน “ความโกลาหลที่ควบคุมได้” (Controlled Chaos) หวังปูทางสู่ความได้เปรียบในระยะยาว
นายธนธัช ศรีสวัสดิ์ นักกลยุทธ์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Thanathat Srisawast, Strategist, TISCO Economic Strategy Unit) หรือ TISCO ESU เปิดเผยว่า การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ ในระยะเวลาเพียง 100 วันแรกได้สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจและการเงินโลก ผ่านยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก ได้แก่ ความมั่นคง (NATO) องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF-World Bank) การค้า (Tariff) และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ แม้หลายฝ่ายจะมองว่านโยบายไร้ทิศทาง แต่หากพิจารณาในเชิงลึก จะพบลักษณะของ “Controlled Chaos” หรือ “ความโกลาหลที่ควบคุมได้” ซึ่งน่าจะเป็นไปตามแผนที่ทรัมป์และทีมยุทธศาสตร์วางไว้ เพื่อนำไปสู่แผนการใหญ่ที่วอชิงตันต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ ปูทางสู่ความได้เปรียบของสหรัฐฯในระยะยาว
สำหรับ 4 เสาหลักยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ประกอบด้วย
1.ด้านความมั่นคง (NATO) โดยผลักดันพันธมิตรสำคัญให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม เพื่อลดภาระการเงินของสหรัฐฯ เช่น การขู่ว่าจะยุติความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดแก่ยูเครน ส่งผลให้เยอรมันเพิ่มงบประมาณด้านการทหาร และสหภาพยุโรปริเริ่มมาตรการ EU ReArm เพื่อเร่งเพิ่มการลงทุนด้านยุทโธปกรณ์ อีกทั้งต้องจับตาญี่ปุ่น ที่ได้ประกาศว่าจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมสู่ระดับ 2% ของ GDP อย่างยั่งยืน เพื่อให้การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
2. ด้านการเงินระหว่างประเทศ (IMF และ World Bank) โดยผลักดันการปฎิรูปโครงสร้างและบทบาทองค์กรให้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการค้าไม่สมดุล การเกินดุลการค้าเรื้อรังของประเทศต่าง ๆ กับสหรัฐฯ และการมุ่งแก้ปัญหาความยากจนทั่วโลก โดยเฉพาะการขาดแคลนพลังงานที่เป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและมองว่า World Bank ควรเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่และแบ่งปันเทคโนโลยีพลังงานที่มีเสถียรภาพและเชื่อถือได้อาทิ พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์
3.ด้านการค้าผ่านภาษีศุลกากร (Tariff) โดยใช้อัตราภาษีนำเข้าสูงเป็นเครื่องมือสร้างรายได้และเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า เปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้นำผลักดันระบบการค้าเสรีและกระแสโลกาภิวัฒน์ สู่แนวคิดพาณิชย์นิยม (Mercantilism) และเล็งตั้งอัตราภาษีศุลกากรโดยรวมให้สูงถึง 15-20% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบศตวรรษ กดดันให้ประเทศคู่ค้า ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกมายังตลาดสหรัฐฯ เร่งเข้าสู่การเจรจาหวังลดอัตราภาษีที่สูงมากให้ต่ำลง
4.ด้านการเงิน (Dollar) โดยบริหารจัดการค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้อ่อนค่าลง ขณะที่ยังสามารถรักษาความเชื่อมั่นและสถานะการเป็นสกุลเงินสำรองของโลกไว้ได้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากที่สุดของสหรัฐฯ เพราะส่วนหนึ่งต้องอาศัยผลลัพธ์จากการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของหลายประเทศที่เกินดุลการค้าเรื้อรัง ซึ่งจะช่วยลดความต้องการสะสมทุนสำรองในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และช่วยให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับอ่อนค่าได้อย่างมีเสถียรภาพ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ (Trade-Weighted Dollar Index) ในระยะยาว
ทั้งนี้ TISCO ESU ประเมินว่า แม้นโยบายดังกล่าวจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนและตั้งอยู่บนความพยายามพลิกโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจโลกอย่างฉับพลันและรุนแรง แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการตอบโต้ของประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจ เช่น จีน และแรงสั่นสะเทือนจากตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะแรงเทขายในตลาดพันธบัตรและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่หนักหนา และทำให้สหรัฐฯ ต้องถอยกลับมาตั้งหลักก่อน
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องเร่งพลิกโฉมเศรษฐกิจ คือ ปัญหา “หนี้สาธารณะ” ที่พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับอันตรายแตะ 36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 120% ของ GDP และมีแนวโน้มทะลุ 200% ภายในปี 2593 ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ส่งผลให้ต้องพึ่งพาเงินทุนต่างชาติต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการให้กู้ยืมผ่านตลาดพันธบัตร และในรูปแบบเงินทุนผ่านตลาดหุ้น ส่งผลให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในบริษัทอเมริกันพุ่งขึ้นจากไม่ถึง 8% ใน 20 กว่าปีก่อน เป็นกว่า 18% หรือกล่าวได้ว่าราว 1 ใน 5 ของความเป็นเจ้าของกิจการในประเทศ ได้ตกไปอยู่กับต่างชาติ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งครั้งหนึ่งนักลงทุนในตำนานอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ถึงกับเคยเปรียบเปรยไว้ว่าไม่ต่างกับการขายชาติ (Selling the nation) เลยทีเดียว” นายธนธัช กล่าวสรุป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “อุตตม” เตือนรัฐบาล ดูความพร้อมฐานะการคลังของไทยให้ดี ก่อนเจรจาทรัมป์