SCB EIC เผย เอสเอ็มอีไทยปรับตัวเน้นความยั่งยืนมากขึ้น
SME ไทยเริ่มหันมายกระดับศักยภาพธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนแม้ว่าในระยะสั้นจะกำลังเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อในประเทศที่เประบาง
ผู้ประกอบการ SME เชื่อมโยงกับกลไกการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในหลากหลายมิติ ทั้งบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน การขับเคลื่อนตลาดแรงงานและภาคส่งออก ดังนั้น SME จึงถือเป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งยังมีบทบาทอย่างมากในการกระจายรายได้สู่ภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การระบาดของโควิด ผู้ประกอบการ SME มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า เพราะเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่เปราะบาง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ SCB EIC ได้จัดทำแบบสำรวจเชิงลึกซึ่งสะท้อนถึงความสามารถทางการแข่งขันและการเตรียมความพร้อมของ SME เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากรอบด้าน โดยได้แบ่งผลวิเคราะห์ออกเป็นประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้
1) มุมมองความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME อยู่ในระดับต่ำ เพราะความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง กอปรกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ เรายังเริ่มเห็นสัญญาณความกังวลใจต่อปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้านำเข้า ทั้งนี้การเรียกคืนความเชื่อมั่นให้แก่เหล่าธุรกิจ SME ควรเริ่มจากการเพิ่มบทบาทของภาครัฐและภาคการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายส่งเสริมการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เร่ง/เพิ่มการลงทุนภาครัฐ ลดความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง ขณะที่ในระยะยาว ควรมีมาตรการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออกเพิ่มเติมสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ
2) การดำเนินธุรกิจของ SME ไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนการผลิต/การดำเนินงานสูงและผันผวน กอปรกับปัญหากลยุทธ์การตลาดและกระบวนการผลิตล้าสมัย อีกทั้ง ยังขาดความสามารถในการรักษาฐานลูกค้า เพราะเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในแต่ละขนาดวิสาหกิจมีการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจขนาดย่อม (Micro) จะเน้นมาตรการลดค่าใช้จ่ายเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและกลางส่วนใหญ่จะหันมายกระดับธุรกิจผ่านการพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิต และการตลาดให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
3) SME ไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพธุรกิจในระยะยาว โดยจะเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพสูง โดยแนวโน้มการพัฒนาธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาด้านต้นทุน ความล้าสมัยของกระบวนการทำงาน และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากรอบด้าน ซึ่งพบว่าอุตสาหกรรมที่มีความตื่นตัวมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ทั้งนี้แหล่งเงินทุนหลักสำหรับธุรกิจ SME ยังคงพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นหลัก จะมีเพียงวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro) ที่จำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินทุนจากกำไรสะสมของธุรกิจและทรัพย์สินของผู้ประกอบการ เนื่องจากส่วนใหญ่เผชิญปัญหาความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันและการจัดทำบัญชียังไม่เป็นระบบ
4) ธุรกิจ SME มีมุมมองเชิงบวกต่อกระแส ESG และส่วนใหญ่ได้กำหนดแผนการดำเนินงานภายใต้เป้าหมายความยั่งยืนแล้ว ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างในอุตฯ ปั๊มน้ำมัน จำหน่ายเคมีภัณฑ์ รับเหมาและขายวัสดุก่อสร้าง นับว่าตื่นตัวกับกระแสดังกล่าวมากที่สุด โดยการปรับตัวจะเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ทั้งนี้การปรับตัวของ SME ให้สอดรับกับกระแส ESG จำเป็นต้องอาศัยโครงการจัดอบรมให้ความรู้และโครงการมีที่ปรึกษาที่กระจายตัวอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดย่อมและธุรกิจในจังหวัดเมืองรองยังเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือเหล่านี้ได้ค่อนข้างจำกัด จนมีส่วนทำให้การปรับตัวทำได้ค่อนข้างยากและมีต้นทุนสูง
แม้ว่า SME ไทยจะกำลังเผชิญกับบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่ฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อที่เปราะบาง แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้คาดว่าจะทยอยคลี่คลาย สวนทางกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง อาทิ การถูกตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิต/การดำเนินงานล้าสมัย ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาว หาก SME ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทัน โดยกระบวนการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของ SME ต่อจากนี้ ควรมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ การพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์และมีคุณภาพสูง รวมถึงการวางแผนธุรกิจให้สอดรับกับเป้าหมายความยั่งยืน ESG ซึ่งจะขยายโอกาสในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น
อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่… https://www.scbeic.com/th/detail/product/survey-SME-060924
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : ฐิตา เภกานนท์ (tita.phekanonth@scb.co.th) นักวิเคราะห์อาวุโส
นย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
EIC Online : www.scbeic.com
Line : @scbeic