18 มิถุนายน ชี้ชะตา 4 คดีใหญ่ เขย่ากระดานการเมือง
เดือนมิ.ย. 2567 จับตา 4 คดีการเมือง ชี้ชะตา เกมอำนาจของสภาสูง-สภาล่าง ผู้มีอำนาจในทำเนียบ-ผู้มีอิทธิพลนอกพรรคเพื่อไทย
ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดพิจารณา 2 คดีสำคัญ คดียุบพรรคก้าวไกล และคดีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 หลังจากศาล “ขีดเส้น” ให้คู่กรณีของทั้ง 2 คดี ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน ภายในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ขณะที่คดีเลือก สว.นัดแถลงด้วยวาจา-ปรึกษาหารือและลงมติ ส่วนคดีที่อัยการสูงสุดจะนำตัว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีมาตรา 112 ส่งศาลเพื่อสั่งฟ้องก็ “มัดรวม” อยู่ในวันเดียวกัน
วัดใจ เลือก สว.โมฆะ
คดีที่จะรู้ผลว่าจะออกหัวหรือออกก้อย คือ คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จำนวน 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 36 การแนะนำตัวของผู้สมัครเลือก สว.- ผู้ช่วยผู้สมัครเลือก สว. และมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 เกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว.ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ เพราะถ้าหากขัดรัฐธรรมนูญ การเลือก สว.ผ่านการเลือกมาแล้วทั้ง 2 ระดับ คือ ระดับอำเภอและระดับจังหวัดไปแล้วจะต้อง “โมฆะ” ทันที
ท่ามกลาง “เสียงท้วงติง” ของสังคมหลายประการ ถึง “ข้อพิรุธ” ในการเลือก สว.ทั้งการ “จัดตั้ง” และ “ฮั้ว” มีการ “ไม่เลือกตัวเอง” ซึ่งผิดวิสัยผู้สมัครที่ต้องการเข้ามาเป็น สว. และการ “ชนะฟาวล์” ของผู้ผ่านรอบในระดับอำเภอ เพราะมีผู้สมัครเลือก สว.เพียงแค่คนเดียว แต่อย่าลืมว่า พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.ผ่านการพิจารณของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วชั้นหนึ่งในเรื่องการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาแล้วในช่วงของการร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลอาจจะมี “เงื่อนไข” ในระเบียบเพื่อให้กระบวนการการเลือก สว.ที่มีข้อบกพร่องในการสมัครของผู้รับการเลือก สว.สุจริตและเป็นธรรม
ชี้ขาด ยุบพรรคก้าวไกล
งวดใกล้เข้ามาทุกขณะ “คดียุบพรรค” ก้าวไกล หลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค แถลงเปิด 9 “ข้อต่อสู้” ทั้ง เขตอำนาจ-กระบวนการ ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า “ไม่มีเขตอำนาจ” กกต.ยื่นคำร้อง “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”ข้อเท็จจริง คำวินิจฉัย 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 “ไม่ผูกพัน” การวินิจฉัยคดีนี้ การกระทำ “ไม่ล้มล้าง-ไม่เป็นปฏิปักษ์” การกระทำตามคำวินิจฉัย 3/2567 “ไม่เป็นมติพรรค” สัดส่วนโทษ โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และ “ไม่มีวิธีแก้ไขอื่น” ศาลรัฐธรรมนูญ “ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค” จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด และการพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารในช่วงที่ถูกกล่าวหา ต่อหน้าสาธารณะชน เพื่อสร้างความชอบธรรม-แสดงความบริสุทธิ์ของพรรคก้าวไกลว่า “ไม่ผิด”
ทว่าหากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน “ไม่เป็นคุณ” ต่อพรรคก้าวไกล โทษนอกจาก “ยุบพรรค” แล้ว กรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หรือ ในช่วงที่เกิดพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยังโดน “ตัดสิทธิทางการเมือง” ห้ามรับสมัครการเลือกตั้ง รวมถึงห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นระยะเวลา 10 ปี
ชี้ชะตา คว่ำ เศรษฐา
อีกคดีที่ส่งผลทางการเมืองในฝ่ายบริหาร-สะเทือนไปยังศูนย์กลางอำนาจ ทำเนียบรีฐบาล มากที่สุด คือ สถานะนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ที่กำลังง่อนแง่น-ไม่มั่นคง หลังจาก กลุ่ม 40 สว.ชุดแต่งตั้งจาก คสช. “สายบ้านป่า” ยื่นตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” รัฐมนตรีสายล่อฟ้า เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้นายพิชิตจะถอดสลักระเบิดเวลา-ลาออกจากตำแหน่งแล้ว แต่เหล่าหัวกฎหมายฟันธงว่า “ความผิดสำเร็จ”
นายเศรษฐาต้องแบกหน้าไปใช้บริการ “วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มาเป็น “ตัวช่วย” ในการตรวจร่างคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แม้ในทางปฏิบัติจะสายเกินแก้-ยากเกินเยียวยา แต่ในทาง “จิตวิทยา” บารมีของ “เนติบริกร” 13 รัฐบาล 9 นายกรัฐมนตรี ยังพอช่วยสร้างความมั่นใจ-ความน่าเชื่อถือในการแก้ต่างในชั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะนายวิษณุ คือ “สัญลักษณ์” ของฝ่ายอนุรักษนิยมเก่า ดีกว่าให้สำนักงานเลขาธิการครม.-กฤษฎีกาขึ้นศาลไปแก้ต่าง แม้กระทั้งตัวของนายพิชิตเองก็ถือว่าเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” จะให้ขึ้นไปแสดงความบริสุทธิ์แทนนายเศรษฐา คงไม่มีน้ำหนัก-ฟังไม่ขึ้น
กด ทักษิณ ไม่ให้เคลื่อนไหวแรง
อีกคดีที่เปรียบศูนย์รวมแห่งจักรวาลการเมืองทั้ง 3 คดี คือ คดีที่ “ทักษิณ” ไปพูดกับสื่อเกาหลีใต้พาดพิงสถาบัน เมื่อปี 58 จนนำมาสู่การโดนอัยการสูงสุดสั่งฟ้องและเตรียมนำตัวขึ้นศาลเพื่อขอฝากขัง หากศาลไม่ให้ประกันตัว ทักษิณจะโดนนำตัวเข้าเรือนจำทันที แต่หากศาลให้ประกันตัว ย่อมไม่ปล่อยตัวฟรี ๆ แต่อาจจะมี “เงื่อนไข” ห้ามออกนอกประเทศเหมือนคดีมาตรา112 คดีอื่นๆ ดังนั้นที่ทักษิณคิดว่าเมื่อพ้นโทษจากการพักโทษในคดีทุจริตในเดือนสิงหาคมปีนี้แล้วจะสามารถเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศได้ คงต้องรอต่อไป แต่ทักษิณยังสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศต่อไปได้
อีเว้นท์ทางการเมืองของทักษิณที่ผ่านมาเดินแรง-ส่งสัญญากวาดต้อน “บ้านใหญ่” เข้าพรรคเพื่อไทยให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เหมือนกับในยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่เป็น “รัฐบาลพรรคเดียว” แต่เต็มไปด้วยกลุ่ม-ก๊วน มุ้งต่าง ๆ อยู่ในพรรค โดยตั้งแต่ทักษิณได้รับการพักโทษก็เริ่ม “ฟื้นฐานเสียง” ของพรรคเพื่อไทยอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะไปที่จังหวัดภูเก็ต และโคราชของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ไปเป็นประธานงานอุปสมบท “ลูกชาย” ของ “นายกเบี้ยว” กฤษฎา หลีนวรัตน์ นายกเทศมนตรี ตำบลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ล่าสุดการไปอวยพรงานวันเกิด “สมนึก ธนเดชากุล” นายกเทศมนตรีนครนนทบรี เป็นการปลุกคนเสื้อแดงให้กลับมาสวามิภักดิ์พรรคเพื่อไทยดหมือนในอดีต และมีคิวลงพื้นที่จังหวัดนครปฐมต่อไป
ทักษิณคาดหวังจะใช้โอกาสพักโทษ-พ้นคดี ฉวยโอกาสที่พรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค-ตัดกำลังทางการเมือง รวบรวมไพร่พลทางการเมืองยุคไทยรักไทยที่แตกสานซ่านเซ็นหลังการรัฐประหารเมื่อปี 49 ให้กลับมาชนะ “พรรคใหม่” ของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิด 4 ประเด็นหลัก “ก้าวไกล” งัดสู้ คดียุบพรรค