Krungthai compass ชวนติดตาม Digital Profile ของคนไทยในปี 2024
ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้งาน Internet 63.2 ล้านคน หรือคิดเป็น88% ของประชากรทั้งหมด และมีผู้ใช้งาน Social Media 49.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 68.3% ของประชากรทั้งหมด โดยชาว Gen Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้งาน Internet และ Social Media สูงสุด ขณะที่ชาว Baby Boom เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ใช้ Social Media กลุ่มหลักที่สำคัญต่อตลาด E-Commerce
ธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจและหันมาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยมีอย่างน้อย 2 แพลตฟอร์มเพื่อใช้ทำการตลาดกับผู้บริโภคและส่วนใหญ่เลือกใช้ Facebook เป็นช่องทางหลัก แต่เมื่อพิจารณาระหว่างความสนใจของผู้บริโภคและการเลือกใช้แพลตฟอร์มของแต่ละธุรกิจ พบว่าในแต่ละแพลตฟอร์มยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการเข้าไปทำตลาดกับผู้บริโภคได้อีกมาก
การเข้าถึง Internet, Social Media และ Smart Phone บวกกับพฤติกรรมการซื้อสินค้า/บริการผ่านช่องทางออนไลน์ของคนไทยที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง ทำให้ Krungthai COMPASS ประเมินว่ามูลค่าตลาด E-Commerce ของไทยมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 9.6% ขึ้นไปอยู่ที่ 6.77-7.47 แสนล้านบาท ในระหว่างปี 2567-2568 โดยกลุ่มสินค้าที่คนไทยหันมาซื้อผ่านตลาด E-Commerce มากขึ้น ได้แก่ กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าแฟชั่น
รู้หรือไม่? ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอยู่ในเกณฑ์ “ดี
ไทยมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อยู่ในอันดับที่ 51 จาก 121 ประเทศทั่วโลก และอันดับที่ 3 ของอาเซียน จากผลการจัดอันดับดัชนีคุณภาพชีวิตดิจิทัล (Digital Quality of Life Index: DQL Index) ซึ่งจัดทำโดย Surfshark องค์กรที่ทำงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่สำรวจและเก็บข้อมูลด้านดิจิทัล พบว่า ไทยได้รับการจัดอันดับคุณภาพชีวิตด้านดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 121 ประเทศทั่วโลก ปรับดีขึ้น 12 อันดับ จากปี 2563 ซึ่งมีอันดับอยู่ที่ 63 และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน พบว่าไทยมีดัชนีคุณภาพชีวิตด้านดิจิทัล อยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ
ปัจจัยที่ทำให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอยู่ในเกณฑ์ “ดี” หรือเรียกว่าเป็น “จุดแข็ง” ของไทยได้แก่ คุณภาพอินเทอร์เน็ต (Internet Quality) โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) และการใช้เทคโนโลยีมาปรับเข้ากับการทำงานของรัฐบาล (e-Government) ซึ่งแต่ละมิติมีรายละเอียดดังนี้ 1)
ด้านคุณภาพอินเทอร์เน็ต: “เน็ตไทยเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 6% สำหรับ Mobile Internet และ 136% สำหรับ Fixed Internet” ผลการสำรวจความเร็ว Internet ของไทยโดย Surfshark พบว่าการเชื่อมต่อ Internet ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Internet) ของไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก โดยมีความเร็วเฉลี่ย 79.2 Mbps สูงกว่าความเร็วเฉลี่ยทั่วโลกที่ 74.8 Mbps ราว 6% ส่วนความเร็วของ Internet บรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Internet) หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “เน็ตบ้าน” ของไทยนั้นพบว่ามีความเร็วเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียน โดยมีความเร็วถึง 254.6 Mbps สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 107.8 Mbps อยู่ 136%
นอกจากมิติด้านความเร็วแล้ว Surfshark ยังระบุว่า Internet ของไทยมีความเสถียรที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอีกด้วย เมื่อประเมินความเสถียรของ Internet โดยวัดจากการเปลี่ยนแปลงของความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า Mobile Internet ไทยมีคะแนนด้านการมีเสถียรภาพอยู่ในอันดับ 16 ของโลก ใกล้เคียงกับ Fixed Internet ที่อยู่ในอันดับ 17 ของโลก
ข้อมูลทั้ง 2 มิติแสดงให้เห็นว่า Internet ของไทยมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ “ดี” เมื่อเทียบกับทั่วโลก
2. โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล: “คนไทยเข้าถึง Internet ได้มากขึ้น” Surfshark จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยดีขึ้นจากอันดับ 64 ในปี 2563 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 47 ในปี 2566 โดยมีสาเหตุมาจากความสามารถในการเข้าถึง Internet ของคนไทยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าถึง Internet ที่ง่าย และมีความครอบคลุมในเชิงพื้นที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงขับเคลื่อนของภาครัฐผ่านนโยบายพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีเป้าหมายขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน และทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น
3. e-Government: “รัฐบาลไทยมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริการประเทศ” ในมิติด้านรัฐบาลดิจิทัล (e-Government) ซึ่งประเมินจากการจัดการบริการต่างๆ ของภาครัฐให้กับประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ และความพร้อมสำหรับการนำ AI มาประยุกต์ใช้ พบว่า e-Government ของไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนเป็นรองเพียงสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น
เนื่องจากไทยเข้าสู่การเป็น e-Government มาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยมีระบบต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ภาคธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ระบบ Tax Single Sign On (Tax SSO) ที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านภาษีของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร หรือระบบ SSO Connect ของสำนักงานประกันสังคม ที่ใช้ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้ประกันตน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เป็นข้อสังเกตว่ายังมีอีก 2 มิติ ที่ไทยสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อยกระดับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้พร้อมกับการแข่งขันในอนาคต ประกอบด้วย
การชำระค่าบริการเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Internet Affordability) เมื่อพิจารณาในมิติด้านความสามารถในการชำระค่าบริการเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งประเมินจากค่าบริการ Internet ต่อรายได้เฉลี่ย พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 91 ในปี 2566 ลดลงถึง 40 อันดับ จากอันดับที่ 51 ในปี 2563
ความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Security) ขณะที่ในมิติด้านความปลอดภัย ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 60 ในปี 2566 โดยมีสาเหตุจากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของไทยที่จัดอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากติดต่อกัน 2 ปี สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ที่ชี้ว่า ในปี 2566 คนไทยประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล 14.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.4% และยังพบว่ามีคนไทยที่เชื่อมั่นต่อนโยบายด้านดิจิทัลเพียง 57% ขณะที่เกือบ 30% มีความกังวลต่อระบบความปลอดภัยของระบบการชำระเงินในการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ ซึ่งไทยอาจพิจารณานำแนวนโยบายของประเทศต่างๆ อาทิ General Data Protection Regulation (GDPR) ของกลุ่มสหภาพยุโรป มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล หรือเพิ่มมาตรฐานการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความปลอดภัย เป็นต้น
Internet คนไทยเข้าถึง Internet มากขึ้นแต่ระยะเวลาใช้งานต่อวันสั้นลง เมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19
ไทยมีผู้ใช้งาน Internet 63.2 ล้านคนในปี 2567 หรือคิดเป็น 88% ของประชากรทั้งประเทศ และใช้เวลาราว 1 ใน 3 ของวันไปกับการท่องโลก Internet การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ผูกติดกับเครือข่าย Internet และสื่อออนไลน์มากขึ้น โดย Digital Agency ชื่อดังอย่าง We Are Social ได้รายงานข้อมูลการใช้ Internet ของประเทศไทยว่า ไทยมีจำนวนผู้ใช้งาน Internet เพิ่มขึ้น 13.7% จาก 55.6 ล้านคน ในปี 2563 มาอยู่ที่ 63.2 ล้านคนในปี 2567
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าระยะเวลาใช้ Internet ของคนไทยนั้นกลับลดลงจากวันละ 9 ชั่วโมงในปี 2563 เหลือวันละ 7 ชั่วโมง 58 นาทีในปี 2567 ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากคนกลับสู่ชีวิตปกติหลังล็อกดาวน์และออกไปใช้ชีวิตมากขึ้น เช่น กลุ่ม Gen Z ที่มีอายุ 9-24 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวัยเรียนก็สามารถกลับไปเรียนที่สถานศึกษาได้ อย่างไรก็ดี ระยะเวลาการใช้งาน Internet ของคนไทยก็ยังสูงติดอันดับ Top 10 ของโลก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่วันละ 6 ชั่วโมง 40 นาที อย่างเห็นได้ชัด
และหากเรียงลำดับการใช้ Internet ตาม Generation พบว่า Gen Y เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้ Internet สูงสุด รองลงมาได้แก่ Gen Z โดยเรามองว่าสาเหตุที่ Gen Y และ Z เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน ที่จำเป็นต้องอาศัย Internet ในการเรียน ทำงาน ค้นหาข้อมูล และประชุมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เรามีข้อสังเกตว่า แม้กลุ่ม Baby Boom ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีการใช้งาน Internet น้อยสุด คิดเป็นสัดส่วนเพียง 61% แต่กลับเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้งานเพิ่มขึ้นมาก จากในปี 2563 ที่มีสัดส่วนอยู่เพียง 33% เท่านั้น
3 กิจกรรม ทาง Internet ยอดฮิต ของคนไทย
ค้นหาข้อมูล ติดตามข่าวสาร และดูรายการทีวี/ภาพยนตร์ ยังเป็น 3 กิจกรรมยอดฮิตของคนไทย โดยข้อมูลจาก We Are Social เผยว่า 3 เหตุผลหลักที่คนไทยใช้ Internet คือ
อันดับ 1 ค้นหาข้อมูล 64% คนไทยส่วนใหญ่นิยมเข้าใช้งาน Internet เพื่อค้นหาข้อมูลจาก Search Engine ได้แก่ Google เป็นหลัก โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่าคนไทยกว่า 31% ใช้รูปภาพในการค้นหา และอีกกว่า 15% ที่ใช้เสียงเพื่อหาข้อมูล ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ค้นหามีโอกาสเจอสิ่งที่ตรงความต้องการและเป็นวิธีที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น
อันดับ 2 ติดตามข่าวสารออนไลน์ 60% โดยช่วงอายุ 55-64 ปี เป็นกลุ่มที่นิยมเข้าใช้งาน Internet เพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารออนไลน์ เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารออนไลน์มากที่สุด ตามมาด้วยช่วงอายุ 45-54 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ
อันดับ 3 ดูรายการทีวี/ภาพยนตร์ 58% โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ คนไทยกว่า 96% ของผู้ใช้งาน Internet ดูรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแอปสตรีมมิ่งต่างๆ และใช้เวลาเฉลี่ย 1 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน ซึ่งได้แชร์ส่วนแบ่งเวลาดูทีวีของคนไทยไปเกือบ 50% แต่มีข้อสังเกตว่ามีคนไทยเพียง 23.7% เท่านั้นที่จ่ายเงินเพื่อดูหนังออนไลน์
ขณะที่เว็บไซต์ที่คนไทยนิยมเข้าใช้สูงสุด 3 อันดับได้แก่ Google, YouTube และ Facebook สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ Internet ของคนไทย ข้อมูลจาก SimilarWeb ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และวิเคราะห์เว็บไซต์ ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (ธ.ค.2565-พ.ย.2566) คนไทยนิยมเข้าเว็บไซต์ Google มากที่สุด โดยมีการเข้าชมถึง 885 ล้านครั้งต่อเดือน รองลงมาจะเป็นเว็บไซต์ให้บริการวิดีโอชื่อดังอย่าง YouTube ที่มีผู้เข้าชม 456 ล้านครั้งต่อเดือน ในขณะที่อันดับ 3 เป็นแพลตฟอร์ม Social Media ยอดฮิตของไทยอย่าง Facebook มีผู้เข้าชม 371 ล้านครั้งต่อเดือน ทั้งนี้ เป็นข้อสังเกตว่า Google ยังเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมของคนไทยที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมยอดนิยมอันดับแรกของคนไทยที่เข้าใช้ Internet เพื่อค้นหาข้อมูล
Social Media คนไทยเข้าถึง Social Media เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ Baby Boomer
ไทยมีผู้ใช้งาน Social Media 49.1 ล้านคนในปี 2567 เพิ่มขึ้น 2.1% จากปี 2566 ซึ่งสัดส่วนของชาย–หญิงค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดย We Are Social ได้เผยรายงานสถิติการใช้ Social Media ของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 48.1 ล้านคนในปี 2566 มาอยู่ที่ 49.1 ล้านคนในปี 2567 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 68.3% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2567 คนไทยใช้เวลาไปกับการเล่น Social Media โดยเฉลี่ยมากถึง 2 ชั่วโมง 31 นาทีต่อวัน ไม่แตกต่างมากนักจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าสัดส่วนการใช้งานระหว่างผู้ชายและผู้หญิงกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันที่ 49.2% ต่อ 50.8% หลังจากที่ในปี 2566 สัดส่วนของผู้ใช้งานเพศชายนั้นต่ำกว่าเพศหญิงอย่างเห็นได้ชัดที่ 47.7% ต่อ 52.3%
หากพิจารณาลึกลงไปในมิติของช่วงอายุ พบว่า ผู้ใช้งานอายุ 55 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการใช้งานเพิ่มขึ้นมาก สำหรับภาพรวมกลุ่มคนที่ใช้ Social Media มากที่สุดจะอยู่ในช่วง 25-34 ปี มีสัดส่วนการใช้งาน อยู่ที่ 34.1% (เพิ่มขึ้น 1.6% จากปีก่อนหน้า) รองลงมาได้แก่กลุ่มอายุ 35-44 ปี ที่มีสัดส่วนผู้ใช้งาน 20.7% (+0.7%)
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่ากลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-24 ปี มีสัดส่วนการใช้งานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนจาก 22.1% ในปี 2566 เหลือ 18.2% ในปีนี้ (-3.9%) สวนทางกับกลุ่ม Baby Boomer ที่มีอายุ 55 ปี ขึ้นไปกลับมีสัดส่วนการใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 12.2% เป็น 13.4% (+1.2%) ในช่วงเวลาเดียวกัน ภาพดังกล่าวสามารถยืนยันได้ว่าการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะ Social Media ต่างๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในกลุ่มผู้สูงอายุนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ
TikTok มาแรง ขึ้นแท่นอันดับ 3 Social Media ยอดนิยมของคนไทย ภายใน 5 ปี
Facebook และ Line ยังเป็น Social Media ยอดนิยมของคนไทย แต่ที่น่าสนใจคือ TikTok ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยข้อมูลจาก We Are Social ชี้ว่า แพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทยยังคงเป็น Facebook และ Line ที่มีสัดส่วนการใช้งานในปี 2567 สูงถึง 91.5% และ 90.5% ของผู้ใช้งาน Internet ตามลำดับ และที่น่าสนใจคือ TikTok แพลตฟอร์มน้องใหม่ที่มีการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาเพียง 5 ปี แซงหน้าขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 จาก 36% ในปี 2563 ขึ้นมาอยู่ที่ 83% ในปี 2567 และครองอันดับ 2 แพลตฟอร์ม Social Media ที่คนไทยใช้เวลาด้วยมากที่สุด โดยใน 1 วัน คนไทยใช้เวลาบน TikTok เฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 17 นาที น้อยกว่าการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งอย่าง YouTube ที่มีค่าเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 23 นาที เพียง 6 นาทีเท่านั้น และมากกว่าการใช้งาน Facebook และ Line ที่มีเวลาใช้งานเฉลี่ยวันละ 48 นาที และ 20 นาที ตามลำดับ เกือบ 2-4 เท่าตัว
นอกจากในมิติของความนิยม และการใช้เวลาแล้ว TikTok ยังเติบโตอย่างโดดเด่นในมิติของจำนวนผู้ใช้งานอีกด้วย โดยมีจำนวนผู้ใช้งานชาวไทยเพิ่มขึ้น 10.2% จาก 40.3 ล้านคน ในปี 2566 มาอยู่ที่ 44.4 ล้านคน ในปี 2567 เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยสาเหตุที่ทำให้ TikTok มาแรง และเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่คนไทยชื่นชอบ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่นิยมใช้เวลาไม่นานในการดูหรืออ่านคอนเทนต์ อีกทั้งยังมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจ เช่น ระบบ For You Feed ที่คัดเลือกคอนเทนต์ที่แต่ละคนสนใจ รองรับระบบ E-Commerce ที่มีฟีเจอร์เบ็ดเสร็จครบวงจรเรื่องการขายของออนไลน์ ตั้งแต่เริ่มการสต็อก การจัดส่ง จนถึงการชำระเงิน โดยผู้ซื้อสามารถกดสั่งซื้อ และชำระเงินได้อย่างง่ายดายบน TikTok ได้เลย โดยไม่ต้องออกจากแอป ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการรวมแพลตฟอร์ม Social Media เข้ากับ E-Commerce ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของตลาดดิจิทัลที่เรียกว่า Social Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต
44% ของผู้ใช้งาน Internet ใช้ Social Media หาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ
หากพิจารณาพฤติกรรมการใช้ Social Media ของคนไทย ยังมีข้อมูลน่าสนใจจาก We Are Social ที่ชี้ว่า คนไทยกว่า 44% ของผู้ใช้งาน Internet ใช้ Social Media ในการค้นหาข้อมูลของแบรนด์และสินค้า เช่น เปรียบเทียบราคา ดูรีวิว เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ ขณะที่ผลการสำรวจ Thailand Digital Outlook ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ระบุว่า คนไทยกว่า 68% เลือกใช้ Social Media เป็นช่องทางในการซื้อสินค้า
เราจึงมองว่าการมีตัวตนบน Social Media ของแบรนด์สินค้าหรือบริการถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากการรีวิวของผู้บริโภคคนหนึ่งจะมีอิทธิพลกับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภครายอื่นๆ ตามกัน
95% ของผู้ประกอบการใช้ Social Media มากกว่า 2 แพลตฟอร์มในการทำตลาด
จากกระแสความนิยมในการใช้ Social Media ของคนไทย ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า การทำการ
ตลาดผ่าน Social Media คงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารกับผู้บริโภค ทั้งในแง่การสร้างตัวตนของแบรนด์ และเป็นช่องทางการขายที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย จำนวนมาก และไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์ม Social Media หลักที่ภาคธุรกิจนิยมเลือกใช้ในการทำการตลาดกับผู้บริโภคมากที่สุด คือ Facebook โดย Wisesight ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูล Social Media ชั้นนำในไทย ได้ระบุว่า 99% ของผู้ประกอบการ เลือกใช้ Facebook ในการทำตลาดตามมาด้วย Instagram, YouTube, TikTok และ X ที่มีสัดส่วนการใช้งาน 73%, 50%, 38% และ 34% ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังพบว่า 95% ของแบรนด์ มีบัญชี Social Media ทางการอย่างน้อย 2 แพลตฟอร์มในการทำการตลาดกับผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 26.4% จะมีบัญชีทางการมากถึง 5 แพลตฟอร์ม ครอบคลุมเกือบทุกแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทย ซึ่งการเลือกใช้แพลตฟอร์มของแต่ละธุรกิจจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ
ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค9 หรือตามลักษณะของคอนเทนต์ที่ต้องการสื่อสาร เช่น กลุ่มการท่องเที่ยวและโรงแรม มักจะใช้ Facebook และ Instagram
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าเมื่อพิจารณาระหว่างความสนใจของผู้บริโภค และการเลือกใช้แพลตฟอร์มของแต่ละธุรกิจผ่านช่องทางต่างๆ พบว่า ในแต่ละแพลตฟอร์มยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการเข้าทำการตลาดกับผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น ธุรกิจ Skincare และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมี Room เหลือให้ผู้ประกอบการเข้าไปทำการตลาดผ่านช่องทาง Facebook เพิ่มเติม
E-Commerce
จากพฤติกรรมการเข้าถึง Internet และ Social Media ของคนไทยที่มากขึ้น และแทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ในส่วนนี้อยากชวนผู้อ่านมาร่วมวิเคราะห์ตลาด E-Commerce ของไทยที่มีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเทรนด์ดิจิทัลจะมีทิศทางเป็นอย่างไร? เติบโตได้มากน้อยแค่ไหน? และสินค้าหมวดหมู่ใด? ที่คนไทยนิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
ตลาด E-Commerce ของไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าแฟชั่น
ตลาด E-Commerce ได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก ตลาด E-Commerce ของไทยที่โตเกือบเท่าตัวจากปี 2563 ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มูลค่าตลาด E-Commerce มีการเติบโตสูง คือ การพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล บวกกับการเข้าถึง Internet, Social Media และ Smart Phone อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการประกาศล็อกดาวน์จนทำให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคจำเป็นต้องหันมาขายและซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แทน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ตลาด E-Commerce ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ การแข่งขันด้านราคาจากร้านค้าออนไลน์ และการแข่งขันของแพลตฟอร์ม ที่มีการแจกจ่ายส่วนลดสำหรับการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มนั้นๆ ผ่านแคมเปญต่างๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/บริการของผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว สะท้อนจากข้อมูลของ We Are Social ที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยของการใช้เงินซื้อของผ่านตลาด E-Commerce สูงขึ้น 259% จากปีละ 3,900 บาทต่อคนในปี 2563 ขึ้นมาอยู่ที่ 14,000 บาทต่อคนในปี 2566 และจากข้อมูลล่าสุด ยังพบว่า 2 ใน 3 ของคนไทยมีพฤติกรรมซื้อของออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก
และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญให้ตลาด E-Commerce ของไทยเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ขยายตัวกว่า 76% จาก 3.19 แสนล้านบาทในปี 2563 ขึ้นมาอยู่ที่ 5.64 แสนล้านบาทในปี 2564 และขึ้นมาแตะระดับ 6.22 แสนล้านบาท ในปี 2566 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% (CAGR ปี 2564-2566)
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ตลาด E-Commerce ของไทย มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องขึ้นไปแตะระดับ 7.47 แสนล้านบาทในปี 2568 เติบโตเฉลี่ยปีละ 9.6% (CAGR ปี 2566-2568) และเมื่อเราพิจารณาแนวโน้มสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านช่องทาง E-Commerce ในช่วงปี 2563-2567 สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มเติบโต: เป็นกลุ่มสินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า 1% ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มเครื่องดื่ม และกลุ่มสินค้าแฟชั่น โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 14.2%, 6.2% และ 10.5% ตามลำดับ ในปี 2563 มาอยู่ที่ 20.4%, 9.7% และ 12.0% ในปี 2567
2) 2) กลุ่มทรงตัว: เป็นกลุ่มสินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2563 มากนัก โดยมีสัดส่วนลดลง/เพิ่มขึ้น ในช่วงระหว่าง -0.9% ถึง +0.9% อาทิ ยาเพื่อการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม/ดูแลร่างกาย ของเล่น เป็นต้น
3) กลุ่มชะลอตัว: เป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 1% ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าประเภท DIY
&Hardware กลุ่ม Media และกลุ่ม Electronics โดยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 3.8%, 2.1% และ 40.5% ตามลำดับในปี 2563 มาอยู่ที่ 2.8%, 1.1% และ 30.4% ในปี 2567
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเติบโตส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีอัตราการบริโภคหมุนเวียนรวดเร็ว ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม หรือกลุ่มสินค้าที่ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสและเทรนด์ ได้แก่ กลุ่มสินค้าแฟชั่น อาทิ เครื่องแต่งกาย รองเท้า ส่วนกลุ่ม Electronics แม้ยอดขายจะขยายตัวตามตลาดE-Commerce กว่า 59% จาก 1.29 แสนล้านบาทในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 2.06 แสนล้านบาทในปี 2567 แต่กลับมีส่วนแบ่งตลาดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงถึง 10%
จากเทรนด์ดิจิทัลที่กล่าวไปแล้วไปข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคนไทยที่คุ้นชินกับการใช้ Internet และ Social Media ความนิยมในการสั่งของออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น หรือการที่ผู้บริโภคจะดูรีวิวสินค้าจากผู้บริโภครายอื่นๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ Krungthai COMPASS ขอนำสนอ 3 แนวทางในการทำการตลาด ให้สอดรับไปกับเทรนด์ดิจิทัล ได้แก่
1. Digital Marketing หรือ การตลาดออนไลน์
เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภคในยุคที่ Internet ได้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยภาคธุรกิจอาจนำช่องทางการตลาดบนโลกดิจิทัลที่มีอยู่หลากหลาย มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับภาคธุรกิจ ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเจาะลึก 5 ช่องทางการตลาดออนไลน์ที่น่าสนใจ ได้แก่
Influencer Marketing ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักเชื่อผู้บริโภคด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือเซเลบใน Social Media โดยพบว่า คนไทยราว 76% ของผู้ซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์จะเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ ตามคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์10 ทำให้การทำตลาดผ่าน Influencer จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า Gen X ซึ่งตัดสินใจเลือกแหล่งกิน เที่ยว และซื้อสินค้าจากคำแนะนำของบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือ Influencer
Creator Marketing จากผลสำรวจของ TikTok for Business เผยว่า 75% ของผู้ใช้งาน TikTok ได้ซื้อสินค้าหลังจากดูวิดีโอของครีเอเตอร์ และอีก 65% ได้ดูรีวิวและวิดีโอของครีเอเตอร์ก่อนจะตัดสินใจซื้อ11 ทำให้ครีเอเตอร์ หรือนักสร้างเนื้อหา ถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาด โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์สินค้ากับกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการเล่าเรื่องราวบนคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเขียน รูปภาพ หรือวิดีโอ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์สินค้า ทำความรู้จักกับกลุ่มเป้าหมาย โปรโมทสินค้าและบริการ
Affiliate Marketing คือ การทำการตลาดโดยมี “ตัวแทน” หรือที่เรียกว่า Affiliate Marketer มาช่วยโปรโมทสินค้า/บริการ โดยจะได้รับ Commission จากการขายเป็นค่าตอบแทน ส่วนใหญ่จะทำการแนะนำสินค้าผ่านการรีวิวในรูปแบบต่างๆ และแปะลิงก์สินค้านั้นๆ เพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถเข้าซื้อสินค้าได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งข้อดีของ Affiliate Marketing คือ ต้นทุนทางการตลาดต่ำเมื่อเทียบกับการโฆษณาหรือโปรโมตสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อื่น นอกจากนี้ ยังสามารถตั้ง Action Point เองได้ เช่น ต้องมียอดซื้อเท่านั้นจึงจะจ่ายค่าตอบแทน เป็นต้น ซึ่งล่าสุดร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ได้นำกลยุทธ์ Affiliate Marketing มาปรับใช้ในธุรกิจโดยเปิดให้ลูกค้าทั่วไปกลายมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ช่วย 7-Eleven ขายของผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวเอง โดยให้ค่า Commission 1-5% เป็นค่าตอบแทน12
Video Marketing หรือ การใช้เนื้อหาวิดีโอในการโปรโมตแบรนด์ สินค้า หรือบริการ ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย โดยร้านค้าหลายเจ้า พบว่ามีผลประกอบการที่ดีขึ้น หลังจากที่นำ Video Marketing มาปรับใช้ ตัวอย่างเช่น การไลฟ์ขายสินค้าของ “เจิ้งเซียงเซียง” แม่ค้าจีนออนไลน์สายสปีด ที่ขายของด้วยความเร็วสูง ภายในเวลาไม่เกิน 3 วินาทีต่อชิ้น จนเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ในช่วงปีที่ผ่านมา มียอดเข้าชมไลฟ์กว่า 100 ล้านคน และสร้างรายได้จากการขายของออนไลน์ได้มากกว่า 300 ล้านบาท หรือพ่อค้าออนไลน์ขายอาหารทะเล “บังฮาซัน“ เจ้าของ วลีเด็ด “แม่ฉันต้องได้กินกุ้ง” ที่มีผู้เข้าชมการไลฟ์แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน และสร้างรายได้นับล้านบาทต่อเดือน
Fandom Marketing กลุ่ม Fandom ในแง่มุมของการตลาด ถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และพร้อมสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบ การใช้กลยุทธ์ Fandom Marketing จะช่วยเชื่อมโยงธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มนี้ โดยอาจเป็นการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปินหรือสินค้าที่เป็นที่ชื่นชอบของ Fandom โดยตัวอย่างกิจกรรมที่ได้รับการพูดถึง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ Lotus’s Anniversary 2023 ‘Golden Moment’ ที่ให้ลูกค้านำใบเสร็จที่ซื้อสินค้ามาลุ้นสิทธิ์ร่วมงาน Meet & Greet กับนักแสดงชื่อดังจากเกาหลี “พัคซอจุน” ซึ่งได้กระแสการตอบรับที่ดีมาก ผู้ชนะอันดับหนึ่งมียอดซื้อสะสมสูงถึง 78 ล้านบาท ขณะที่อันดับที่ 2-5 ก็มียอดซื้อไม่ต่ำกว่า 38 ล้านบาท หรือกรณีนางงามมิสแกรนด์เมื่อมีการไลฟ์ขายสินค้าต่างๆ เช่น น้ำพริกปลาสลิดตรานางงาม เหล่าแฟนคลับก็พร้อมสนับสนุนจน #อิงฟ้ามหาชน #อิงล็อต ติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมบน X ในปี 2566 และสร้างรายได้จากการขายสินค้ากว่า 100 ล้านบาท
2. AI ตัวช่วยธุรกิจเข้าถึงผู้บริโภค
การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI กำลังทวีความสำคัญและกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค ตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้าและบริการผ่านแชทบอท เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จัดการคลังสินค้า การจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลได้จำนวนมาก ตัวอย่างภาคธุรกิจที่นำ AI มาใช้ เช่น แอปพลิเคชันแต่งหน้าเสมือนจริง ซึ่งพัฒนามาจากเทคโนโลยี AI Face Recognition และถูกนำมาใช้ในการแนะนำเครื่องสำอางที่เหมาะสมกับสีผิวของลูกค้า หรือ เทคโนโลยี Virtual Tours หรือ ทัวร์เสมือนจริง ที่ถูกพัฒนามาใช้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสำรวจแบบบ้านหรือคอนโดมิเนียมในรูปแบบเสมือนจริง
3. เตรียมพร้อมเพื่อจับผู้บริโภคในกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป หรือกลุ่ม Baby Boomer ที่มีศักยภาพและยังมีกำลังซื้อ
ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super-Aged Society ในปี 2572 ทำให้กลุ่ม Baby Boomer จะกลายเป็นหนึ่งในผู้ใช้ Social Media กลุ่มหลัก และเป็นผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่สำคัญต่อตลาด E-Commerce โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมสั่งซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทาง Social Media สูงสุด ตามมาด้วย E-Marketplace เช่น Shopee Lazada Kaidee Grab และส่วนใหญ่จะจ่ายเงินค่าสินค้าเป็นเงินสดแบบเก็บเงินปลายทาง โดยหมวดหมู่สินค้าที่ชาว Baby Boomer นิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์สูงสุด ได้แก่ ยาเวชภัณฑ์/อาหารเสริม รองลงมา ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม13
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาแนวทางในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือและไขว่คว้าโอกาสจากลูกค้ากลุ่ม Baby Boomer ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพ ตัวอย่างเช่น (1) ศึกษา และวางแผนกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม ที่มีพฤติกรรมและความต้องการต่างจากช่วงอายุอื่นๆ (2) เลือกช่องทางการสื่อสารตามความถนัด โดยผู้สูงวัยส่วนใหญ่นิยมใช้ LINE มากเป็นอันดับหนึ่งเพราะใช้งานง่ายทั้งการส่งข้อความและแชร์ข้อมูล รวมทั้ง (3) เลือกใช้ภาษา และรูปแบบนำเสนอที่เหมาะสม เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาที่นำเสนอ นอกจากนี้ อาจเลือกใช้อักษร (Font) ขนาดใหญ่ให้มองเห็นง่ายและเป็นที่จดจำ หรือออกแบบขั้นตอนการซื้อและช่องทางชำระเงินที่สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน เป็นต้น
Implication:
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ตลาด E-Commerce ของไทย มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องขึ้นไปแตะระดับ 7.47 แสนล้านบาทในปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.6% (CAGR ปี 2566-2568) โดยได้รับอานิสงส์จากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ค่อนข้างดี บวกกับการเข้าถึง Internet, Social Media และ Smart Phone ของคนไทยที่เพิ่มขึ้น
โดยปัจจัยที่ทำให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอยู่ในเกณฑ์ “ดี” ได้แก่ คุณภาพอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาตามลำดับ แต่ยังมีบางด้านที่ต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เช่น ความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยคนไทยมีความเชื่อมั่นต่อนโยบายด้านดิจิทัลเพียง 57% และอีกราว 30% มีความกังวลต่อระบบความปลอดภัยของระบบการชำระเงินในการซื้อสินค้า/บริการออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการเติบโตของตลาด E-Commerce ทั้งนี้ ไทยอาจพิจารณานำแนวนโยบายของประเทศต่างๆ อาทิ General Data Protection Regulation (GDPR) ของกลุ่มสหภาพยุโรป มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล หรือเพิ่มมาตรฐานการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความปลอดภัย เป็นต้น
ขณะที่คนไทยเข้าถึง Internet และ Social Media เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Baby Boomer ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ใช้งาน Internet สูงถึง 63.2 ล้านคน และมีผู้ใช้งาน Social Media 49.1 ล้านคน โดยชาว Gen Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้งาน Internet และ Social Media สูงสุด ขณะที่ชาว Baby Boom เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ใช้ Social Media กลุ่มหลักที่สำคัญต่อตลาด E-Commerce ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาแนวทางในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือและไขว่คว้าโอกาสจากลูกค้ากลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น ศึกษา และวางแผนกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสม เลือกช่องทางการสื่อสารตามความถนัด รวมทั้ง เลือกใช้ภาษาที่เหมาะสม เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาที่นำเสนอ และเลือกใช้อักษร (Font) ขนาดใหญ่ให้มองเห็นง่ายและเป็นที่จดจำ หรือออกแบบขั้นตอนการซื้อและช่องทางชำระเงินที่สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในตลาด E-Commerce อาจต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงและรุนแรงมากขึ้น จุดเด่นของตลาด E-Commerce คือ การซื้อขายสินค้า/บริการผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทำได้ง่าย สามารถซื้อขายได้ทุกที่ทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีช่องทางขายหลายรูปแบบ เช่น E-marketplace, Social Commerce ทำให้ในระยะถัดไปตลาด E-Commerce จะกลายเป็นช่องทางการซื้อสินค้าสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาด E-Commerce ที่ทำได้ง่าย และเป็นทางเลือกหลักของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ขณะที่สินค้าที่ขายไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก ทำให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบราคาสินค้าได้ง่าย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง และยังถูกซ้ำเติมจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรพิจารณาแนวทางการทำตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจ อาทิ สร้างจุดเด่นของสินค้า หรือเลือกช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคที่เหมาะสม ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น การทำตลาดบน Social Media, Google Ads, การทำ SEO หรืออาจเลือกใช้กลยุทธ์ Omni Channel ที่ผสมผสานระหว่างช่องทางออนไลน์ (Online) และการขายหน้าร้าน (Offline) เป็นต้น