ดิจิทัล วอลเล็ต เผือกร้อนในมือ “เศรษฐา”
จากการตัดสินใจออกมาแถลงการณ์ ของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 เพื่อชี้แจ้งทุกประเด็นทุกคำถาม กรณีโครงการ “เงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท” ซึ่งเป็นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย จนสามารถเอา ชนะพรรคคู่แข่งมาเป็นอันดับ 2 ในศึกการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กวาด ส.ส.ได้ถึง 141 ที่นั่งนั้น
แต่หลังจากแถลงข่าวจบ ดูเหมือนว่า!! ทุกคำอธิบายของ “นายกฯ เศรษฐา” ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นรัฐบาลอย่างหนัก สังเกตได้จากอากับกริยาของตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงทันที หลังจากแถลงการณ์เสร็จสิ้น ปิดตลาดติดลบไป 15.40 จุด หลุด 1,400 จุด มาอยู่ที่ 1,389.57 จุด แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในอนาคต
ประกอบกับเงินบาท ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้านหนึ่ง ก็ไหลรูด-ลดต่ำ เงินบาทได้อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ด้วยเช่นกัน ค่าเงินบาทปิดที่ 35.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ระหว่างวัน เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 35.74-35.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นแรงเทขายเงินบาท ที่เกิดจากความไม่มั่นใจ ในคำตอบของแหล่งเงินที่มาใช้ในโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” จะมีผลต่อฐานะการคลังอย่างมาก
รัฐทุ่ม 6 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 “เศรษฐา ทวีสิน” ระบุว่า “เงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่กำลังเป็นความจริง โดยเราได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยังกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยวงเงินมูลค่า 600,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะอยู่ในโครงการ เงินดิจิทัล วอลเล็ต 500,000 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชนมากกว่า 50 ล้านคน และอีก 100,000 ล้านบาทจะอยู่ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
ส่วนคุณสมบัติของประชาชนที่จะเข้าโครงการคือประชาชนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท และหรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท โดยใช้จ่ายได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชน และโครงการจะเริ่มได้ใน พ.ค. 2567 เป็นต้นไป คำกล่าวของนายกฯ ที่ได้มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ
สำหรับเงื่อนไขเงินดิจิทัลใหม่นั้น แตกต่างกับนโยบายหาเสียง
ข้อ 1.รายได้ 70,000 ต่อเดือน และหรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท
เทียบกับตอนหาเสียงแจก 10,000 บาทให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ขึ้นไปทุกคน จำนวน 54.8 ล้านคน 548,000 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัลก็ส่งข้อเสนอการแยกกลุ่มการแจกเงินดิจิทัลใหม่ 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.แจกเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวน 15-16 ล้านคน ใช้เงินเพียง 150,000-160,000 ล้านบาท 2.แจกในกลุ่มรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และหรือมีเงินฝากไม่เกิน 100,000 บาท มีจำนวน 45 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 450,000 ล้านบาท และ 3.แจกในกลุ่มรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และหรือมีเงินฝาก 500,000 บาท มีจำนวน 49 ล้านคน ใช้เงิน 490,000 ล้านบาท
ข้อ 2.ใช้จ่ายได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชน
เดิมกำหนดอยู่ที่รัศมี 4 กม.นับจากทะเบียนบ้าน
ข้อ 3.ออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท
จากเดิมแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะใช้งบประมาณจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 1. ประมาณการว่าปี 2567 รัฐจะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท 2. การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจะเพิ่ม 100,000 ล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท และ 4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
ขณะที่ ก่อนนี้ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์”รมช.คลัง จะใช้เงินจาก 1.งบประมาณประจำปี 2567 ผสมกับ 2.เงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ซึ่งให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินมาตรการไปก่อน ซึ่งเลือกเป็นธนาคารออมสิน และต่อมาได้เสนอ ให้ใช้วิธีการตั้งเงินประมาณผูกพันระยะยาว 4 ปี
ข้อ 4.เลือกใช้แอปพลิเคชัน เป๋าตัง
จากเดิม จะสร้างแพลตฟอร์ม บล็อกเชนใหม่ ภายใต้ชื่อแอปฯ ใหม่ด้วย
ข้อ 5. ระยะเวลาใช้จ่าย ผู้มีสิทธิต้องใช้เงินดิจิทัล ครั้งแรกภายใน 6 เดือนนับการได้รับสิทธิ จากนั้นสามารถใช้จ่ายได้ต่อเนื่อง เดือนเม.ย.70
จากเดิมต้องใช้จ่ายให้หมด 10,000 บาท ภายใน 6 เดือนแรก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ
ข้อ 6. เริ่มโครงการเดือนพ.ค.67
เดิมในช่วงหาเสียงระบุว่า ทำทันที และเมื่อประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัลนัดแรก และขยายระยะเวลาไปเป็นเดือน 1 ก.พ. 67
ข้อ7. กำหนดให้ใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ทุกประเภท แต่ไม่สามารถใช้กับบริการ ไม่ให้ซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ให้ซื้อเครื่องดื่มแอล กอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม ไม่ให้ซื้อบัตรกํานัล บัตรเงินสด ทองคํา เพชร พลอย อัญมณี, ไม่ให้ใช้ชำระหนี้ ค่าอินเทอร์เน็ต,ไม่ให้จ่ายค่าเล่าเรียน, จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าน้ำมันและก๊าซ และไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้
เงื่อนไขเดิม กำหนดให้ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท แต่ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อบายมุข และการใช้หนี้
ข้อ 8.ใช้ได้ทุกร้านค้า โดยไม่มีจํากัด แต่ต้องอยู่ในระบบภาษี ร้านค้ารถเข็น ร้านโชว์ห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปฯ เป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ ไม่มีการเปลี่ยนไปจากเดิม
ข้อ 9.การถอนเงินดิจิทัลเป็นเงินสด ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น จากเดิมไม่ได้ระบุถึง
ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 100,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เคยระบุ หรือกล่าวในที่ไหนมาก่อนเลย จึงถือเป็นเรื่องใหม่ที่รัฐบาลได้เสริมเข้าไปในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อให้มีวงเงินรวม 600,000 ล้านบาท สร้างเม็ดเงินได้ ขณะเดียวกัน ก็ได้ ออกมา e-refund ซึ่งถือเป็นนโยบายปลอบใจผู้ที่ไม่ได้สิทธิเงินดิจิทัล โดยมีเงื่อนไขคือจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่า 50,000 บาท และขอใบกำกับภาษีเพื่อมายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งใช้สิทธิได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อวางเป้าหมายให้จีดีพีไทยในปี 2567 ขยายตัว 5% ต่อปี ให้ได้
ดิจิทัล วอตเล็ต เพื่อไทยต้องทำให้ได้
หาย้อนไปดูนโยบายของพรรคเพื่อไทย สมัยที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ คุมบังเหียน หลากหลายมาตรการที่ออกสามารถเรียกว่า “ทำได้สำเร็จ” ขณะที่ ในช่วงนั้น มองเป็น เรื่อง “เพ้อฝัน” แต่สุดท้าย รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ก็สามารถทำให้เป็นจริงได้ ติดตาตรึงใจคนไทยจนถึงปัจจุบัน เช่น โครงการ 30บาทรักษาทุกโรค ที่ถูกรุมโจมตีอย่างหนัก จากนักการเมือง นักวิชาการ และด้านวงการแพทย์ ภายใต้แนวคิดต้องเป็นการใช้เงินจำนวนมหาศาล ในการดูแลผู้ป่วยจากอนาถา ยากไร้ จะไม่ได้รับการรักษาที่ดี กลายเป็นจ่ายเงินเพียง 30 บาท ก็ได้สิทธิรักษาทุกโรคตั้งแต่ไข้หวัดไปถึงโรคร้าย อย่าง โรคเอดส์ การติดเชื้อ HIV และโรคมะเร็ง
โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยรัฐบาลให้เงิน 80,000 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท รวมเป็น 80,000 ล้าน รวมถคงโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ “โอทอป” โครงการสลากเลขท้ายแบบ 2 ตัวและ 3 ตัว (หวยบนดิน) หรือในยุคสมัย ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ก็มีโครงการจำนำข้าว ซึ่งล้วนแต่เป็นไฮไลต์ของพรรคเพื่อไทยที่สร้างกระแส และเรียกศรัทธาให้กับพรรคได้
จนสมัยหนึ่ง ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2548 “ทักษิณ ชินวัตร” ช่วงที่อยู่ในนามพรรคไทยรักไทย ได้รับความไว้ใจจากคนไทย จนแทบเป็นพรรคเดียวที่ชนะการเลือกตั้งได้ และกวาดเก้าอี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 377 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง และสร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคเดียว คือ “ไทยรักไทย”
จนถูกขนาดนาม “ทักษิณ” เจ้าพ่อโครงการประชานิยม!!
ดังนั้นการกลับมาครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทย ต้องทุ่มเท สรรพกำลัง ความคิด เพื่อจุดประกายให้ประชาชนศรัทธาและฟื้นความเชื่อมั่นกลับคืนมาดังที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต ขณะที่ ตัว “ทักษิณ ชินวัตร” ณ วันนี้ แม้จะเป็นนักโทษชาย นอนป่วยในโรงพยาบาล แต่ก็ใช่ว่า จะรอดพ้นปัญหา คดีความภายในวันนี้ หรือพรุ่งนี้!! วันนี้ ของพรรคเพื่อไทย จึงต้องทำทุกอย่างเพื่ออนาคต
ขณะที่ คู่แข่งหน้าใหม่ “พรรคก้าวไกล” ที่ใครจะไปคิดว่า หลังจาก “พรรคอนาคตใหม่” ถูกยุบ กลับมาในนาม พรรคก้าวไกล จะผงาดขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งของการเลือกตั้งปี2566 ด้วยคะแนนท่วมท้น มีจำนวน ส.ส.ถึง 151 เก้าอี้ แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต 112 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 39 คน โดยไม่มีข่าวฉาว การซื้อสิทธิขายเสีงแต่อย่างใดๆ
โดยมีคนเชื่อว่า หากมีการเลือกตั้งในวันนี้ ถ้ามีการแลนด์ไสด์ คงไม่ได้ออกมาจาก ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร หรือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แต่แลนสไลด์จะเป็นของพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน
ก้าวไกลโวยนโยบายรัฐบาลเพ้อฝัน
หลังจากแถลงเงินดิจิทัลจบนั้น “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาให้ความเห็นว่า การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะทำไม่ได้ เนื่องจากเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย 1.ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และ 2.ขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง มาตรา 53 จึงทำให้ถูกตีตกได้ ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยจะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะในสมัย ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ก็เคยออกพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และก็ถูกตีตกไปแล้ว
นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า รัฐบาลอาจจะยืมมือ ฝ่ายค้าน และนักร้องทั้งหลายให้ออกมาขัดค้าน และส่งเรื่องร้องเรียนกัน จนทำให้โครงการไปถึงทางตัน และจบลงอย่างสวยงามได้ โดยไม่ต้องทำโครงการต่อไป
ซึ่งบทสรุป แม้ว่าโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะเป็นสิ่งที่ดูดี และเป็นที่สนใจของประชาชน แต่ความกลัวและความหวาดระแวงของนักวิชาการ 133 คนที่รวมถึง 2 อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย คือ “วิรไท สันติประภพ” และ “ธาริษา วัฒนเกส” ได้ชีให้เห็นของจุดอ่อนของมาตรการ และความเสี่ยงทางวินัยการเงินการคลัง โดยเฉพาะประเด็นหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี หรือมีมูลหนี้รวมกว่า 11 ล้านล้านบาทภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ในขณะเดียวกัน ภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากผ่านพ้นโควิด -19 ก็ถูกมองว่า เศรษฐกิจกำลังภาวะสดใส ความจำเป็นในการใช้เงินมากถึง 600,000 ล้านเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดี และยังเป็นการทำลายวินัยการเงินการคลังจของประเทศชาติ ดังจะเห็นจาก ภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลง และเงินบาทที่อ่อนค่า
ขณะที่ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย จากสถาบันต่างๆ เช่น มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ,สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส หรือ S&P และฟิทช์ เรทติ้งส์ ต่างให้มุมมองในเชิงบวกกับเศรษฐกิจไทยตลอดในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเสถียรทางด้านการคลัง และฐานะการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงไม่ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือ หรือมีมุมมองในแง่ร้ายต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง และมีเงินทุนไหลเข้ามา
แต่จากนี้ สถานการณ์จะไม่เหมือนเดิม หากรัฐบาลยังเดินหน้ากู้เงิน 500,000 ล้านบาท!!
ฝ่าวิกฤติเงินดิจิทัล วอลเล็ต ให้กลายเป็นจริง
อย่างไรก็ดี การออก พ.ร.บ.เงินกู้ ถือเป็นการตัดสินใจที่สร้างความยุ่งยาก และสร้างเงื่อนไขให้กับการเมืองไทย แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและรวมเสียงข้างมากไว้ก็ตาม แต่การตัดสินใจออก พ.ร.บ.เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้าน ซักถาม ตอบโต้ และขุดคุ้ยประเด็นต่างๆ เพื่อโจมตรัฐบาล อย่างที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ไม่เคยเจอว่าก่อน ในฐานะนายกรัฐมนตรี และนักการเมืองป้ายแดง
และแน่นอนว่าพรรคฝ่ายค้านอย่าง “ก้าวไกล” และ “ประชาธิปัตย์” พร้อมที่จะซัดในประเด็นนี้อย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้ จึงต้องจับตาดูว่า “ดิจิทัล วอลเล็ต” จะผ่านด่านหินที่สำคัญ คือการพิจารณาของกฤษฎีกา และการลงมติของ ส.ส.ผ่าน ออกมาเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้หรือไม่