‘เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ’ กรุยทางสรรพสามิตสู่เวทีโลก
ทั้งนี้ จากการติดตามภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากก๊าซเรือนกระจก ทำให้คนทั้งโลกมองความสำคัญถึงเรื่อง “การลดคาร์บอนมอนอกไซด์” ทั้งระดับประเทศและในภูมิภาค
โดยแต่ละปี ทั่วโลกคาดว่า ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศหลายหมื่นล้านตัน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเอง ก็มีการคาดการณ์ เราได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์กว่า 400 ล้านตันต่อปี
“ก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์” คือตัวการของสาเหตุของสภาพอากาศแปรปรวน อากาศร้อนก็ร้องยาวนาน หรือมีอากาศหนาวก็เย็นมากกว่าปกติ ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายๆ ประเทศประสบปัญหาฝนตกหนักจนน้ำท่วม และล่าสุด ไทยก็เผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนกลัวว่าจะติดอยู่ในภาวะนี้อีกนาน
กรมสรรพสามิต ในฐานะหน่วยจัดเก็บภาษีของรัฐบาล มีรายได้มากที่สุด คิดเป็นอันดับ 2 ของกระทรวงการคลัง รองจากกรมสรรพากร ภายใต้การบริหารงานของ “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ในฐานะหัวเรือใหญ่ของกรมสรรพสามิตนั้น ล่าสุด ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงบทบาทของกรมฯ จากนี้ไป “สรรพสามิต” จะไม่ใช่ หน่วย งานจัดเก็บรายได้ภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ยังจะมีนโยบายใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยภาษีที่มุ่งเน้น เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลที่เรียกว่า “ESG” ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานสากล และยังเป็นเป้าหมายของหลายๆ ประเทศที่จะก้าวเดินไปในทิศทางนี้
สำนักข่าว ACE10News จึงถือโอกาสนี้สัมภาษณ์ “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อชี้แจ้งถึงนโยบายในการยกระดับกรมสรรพสามิตที่จะสร้างให้ประเทศไทย ไปสู่การจัดเก็บภาษีอย่างยั่งยืน!!
*****
“ยุทธ์ศาสตร์ในการยกระดับกรมสรรสามิต ได้แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. สินค้าที่กรมจัดเก็บภาษี จะต้องทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2.ยกระดับบุคลากรสรรพสามิต เพื่อให้เกิดความสมาร์ท (Smart) สามารถเข้ากับโลกปัจจุบันได้ 3.ยกระดับมาตรฐานให้เป็นสากลเช่น การปรับการทำงานให้สามารถเข้ากับ Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก่อนข้ามพรมแดนไปเรื่องที่ใหญ่กว่าคือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่กำลัง จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และ 4.ยกระดับการบริการประชาชน คือการให้บริการแบบไร้รอยต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ เราเรียกว่า ยุทธศาสตร์ EASE Excise” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว และกล่าวว่า
สิ่งที่กรมได้ดำเนินการแล้วในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนโรงงานเอทานอล (ethanol) ให้ผลิตไบโอ-เอทิลีน (bio-based ethylene) เพื่อนำไปทำพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ซึ่งเป็นต้องการของสหภาพยุโรปอย่างมาก และสินค้าเหล่านี้ ก็ยังมีราคาแพง กรมสรรสามิต จึงได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน สมาคมเกษตรการผู้ปลูกอ้อย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาล เพื่อออกนโยบายที่จะขับเคลื่อนไบโอพลาสติก ไปด้วยกัน
ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพสามิตได้เสนอให้ครม.ได้รับทราบไปแล้ว ถึงแนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอพลาสติกในไทย เพื่อกำหนดตามมาตรฐานสากล ซึ่งในส่วนของกรมสรรพสามิตเอง จะร่วมมือกับคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือบอร์ด บีซีจี และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อกำหนดมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ
สำหรับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับเอทานอล ที่จะนำมาผลิตเป็นเม็ดไบโอพลาสติก จะเทียบเคียงกับภาษีเอทานอลปัจจุบัน ที่นำมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง หรือแก๊สโซฮอล์ ที่เก็บในอัตรา 6 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีนำเข้าเอทานอลเก็บในอัตรา 80 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันกรมได้ยกร่างเป็นกฎกระทรวงแล้ว และรอ ครม.อนุมัติ
อีกเรื่องคือ มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย หรือ แพคเกจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งขณะนี้ ยอดการจองซื้อ EV ในไทยโตสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน และเติบโตกว่า 270% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การยกระดับต่อไป คือ แบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวี ในสัดส่วนมากกว่า 50% ของโครงสร้าง จึงห่วงว่าในอนาคต 5-10 ปี แบตเตอรี่กลับมาทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น กรมสรรพสามิต จึงได้ทำเรื่อง โครงสร้างภาษี แบตเตอรี่
“โครสร้างของแบตในอนาคตคือ ต้องใช้ซ้ำหลายๆ ครั้งได้ ดังนั้น อะไรที่ใช้ซ้ำๆ ได้ ต้องมีอัตราภาษีถูกกว่า 2.ประสิทธิภาพ ความจุไฟฟ้าที่จำนวนมากๆ หรือสามารถใช้งานได้นานๆ รถ EV ที่วิ่งได้ไกลๆ ภาษีที่เก็บก็จะถูกกว่า และ3.การประสิทธิผลคือ การทำรีไซเคิล (recycle) ในโรงงานผลิตและที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ศึกษาเรื่อง track and trace เพื่อติดตามการเดินทางของแบตเตอรี่ด้วย ว่า เมื่อสิ้นสุดการใช้งานแล้ว มีการทำลาย หรือ รีไซเคิลอย่างถูกต้อง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่” ดร.เอกนิติ กล่าวและกล่าวเสริมว่า
คำว่า แบตเตอรี่ ของกรมสรรพสามิต ไม่ใช่เพียงแค่แบตเตอรี่ในรถยนต์ EV เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงแบตเตอรี่ทุกประเภท ตั้งแต่แบตเตอรี่ถ่านไฟฉายที่ใช้ภายในบ้าน แบตเตอรี่ที่จะนำไปใช้เก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากพลัง งานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์ (Solar Cell) รวมถึงภาษีตัวใหม่ อย่าง ภาษีคาร์บอน (carbon tax)
ดร.เอกนิติ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมสรรพสามิตกำลังทำพิจารณาเรื่อง “ภาษีคาร์บอน” หรือ carbon tax อยู่ และได้ประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และอยู่ระหว่างการตั้งทีม เพื่อหารือกับสหภาพยุโรปในเรื่องของ CBAM (มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป) เพื่อให้ได้ภาษีคาร์บอนที่เป็นมาตรฐานสากล ขณะเดียวกัน เราก็กำลังศึกษากฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act: CCA) ของสหรัฐอเมริกาควบคู่ไปด้วย
“หลักการสำคัญคือ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ของสินค้าแต่ละชนิด ทั้งภาษีรถยนต์ ภาษีน้ำมัน ตัวไหนชนิดไหนปล่อยคาร์บอนมากที่สุด ก็จะจัดเก็บภาษีมาก และถ้าปล่อยน้อยก็จัดเก็บภาษีน้อย”
*****
นอกจากนี้ งานทางด้านสังคมจากที่กรมฯ ได้ดำเนินการเรื่องภาษีความหวานออกมา เพื่อให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม บริโภคความหวานลดลง ลดโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ ซึ่งทำให้การปริโภคน้ำตาลลดลงจริง โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว น้ำหวานที่มีน้ำตาล 10-14 กรัมต่อน้ำ 100 มล. เก็บภาษีที่ 1 บาทต่อลิตร ในช่วงนั้น มีน้ำหวานที่มีน้ำตาลเกิน 10 กรัมขึ้นไป อยู่ที่ 2,993 ล้านลิตรต่อปี แต่พอได้ปรับขึ้นภาษีความหวาน เฟส 3 ล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ต้นปีที่ผ่านมา ที่จัดเก็บภาษีน้ำหวาน ที่มีน้ำตาล 10-14 กรัมต่อน้ำ 100 มล. ที่ 3 บาทต่อลิตร ทำให้มีน้ำหวานที่มีน้ำตาลเกิน 10 กรัมขึ้นไป เหลือเพียง 728 ล้านลิตรต่อปีเท่านั้น
สำหรับภาษีความเค็ม คือ การพิจารณาการจัดเก็บภาษีตามปริมาณของโซเดียม ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการหารือกับสาธารณสุข เนื่องจากยังไม่มีสินค้าในพิกัดที่ชัดเจนว่า จะเก็บภาษีได้ ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มพิกัดใหม่ ส่วนวิธีการจัดเก็บภาษี คือ “ยิ่งมีโซเดียมสูง ยิ่งเก็บภาษีอัตราแพง”
ส่วนสินค้าที่มีโซเดียมต่ำ ก็จะจัดเก็บอัตราภาษีในอัตราถูก เพื่อลดการบริโภคโซเดียม โดยจะมีกำหนดวิธีการเก็บภาษีเป็นแบบ อัตราขั้นบันได เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ และเริ่มจากสินค้าอุตสาหกรรมก่อน อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมอบกรอบต่างๆ
“จากการหารือกับแพทย์พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,600 กรัมต่อคนต่อวัน มากกว่ามาตรฐานที่แพทย์แนะนำ คือที่ 2,000 กรัมต่อคนต่อวัน กรมฯ จึงสนใจที่จะเก็บภาษีความเค็ม เพื่อช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย ในการบริโภคโซเดียมลดลง อย่างไรก็ดี กรมฯไม่ได้เข้าไปเก็บภาษีสินค้าได้ทุกอย่าง ซึ่งความเค็มที่อยู่ในก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ และอาหารตามสั่ง กรมฯ ไม่จัดเก็บภาษี” ดร.เอกนิติ กล่าว
******
เรื่องของ “ภาษีบุหรี่” นั้น ล่าสุด ที่มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ 2 อัตรา และมีการเพิ่มภาษีสูงมาก แม้จะทำให้เห็นว่าคนไทยสูบบุหรี่น้อยลง แต่อีกสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการหนีไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่เถื่อนที่มีราคาถูกมากขึ้น ทำให้กรมต้องเน้นการปราบปรามมากขึ้น ขณะเดียวกันกรมฯ ได้หลักการใหม่ จากองค์การการค้าโลก หรือ WHO แล้ว คือการปรับปรุงภาษีบุหรี่เป็นการเก็บตามปริมาณมวลมากขึ้น และน่าจะปรับเป็นอัตราเดียว และไปเพิ่มอัตราภาษีต่อมวนแทน
“สำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้น กรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เข้าใจว่า สาธารณะสุขฯ กลัวว่า ถ้าอนุญาตเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้าในพิกัดสินค้าของกรมสรรพสามิตแล้ว จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกต้องตามกฎหมาย แต่ที่เราต้องพยายามผลักดันเรื่องดังกล่าว เพราะกฎหมายปัจจุบัน กรมฯ ก็ไม่มีอำนาจในการจับ ยึดและปรับสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าได้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีพิกัดอยู่ในกฎหมายของกรมสรรพสามิต เวลาเราจับบุหรี่ไฟฟ้าได้ ก็ต้องส่งเรื่องต่อให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มาดำเนินการต่อไปเท่านั้น” นายเอกนิติ กล่าว
ขณะที่ ภาษีเหล้า-เบียร์นั้น ในเรื่องของโครงสร้างภาพรวมต่างๆ กำลังหารือร่วมกับภาคเอกชน เช่น เรื่อง เบียร์แอลกอฮอล์ 0% ที่ปัจจุบันเก็บในภาษีประเภทเครื่องดื่ม ทำให้ต้องหารือกับผู้ประกอบการว่า ควรจะจัดเก็บภาษีอย่างไร ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจว่า ที่ทำการศึกษาภาษีเบียร์ 0% นั้นกรมฯ จะเก็บภาษีเพิ่มแต่จริงๆ การศึกษานี้ทำเพื่อย้ายพิกัดให้เหมาะสม โดยใส่ในหมวดเบียร์ และเชื่อว่าการเก็บภาษีเบียร์ 0% จะถูกกว่าเบียร์ปกติ เนื่องจากไม่มีแอลกอฮอล์เลย
ส่วนภาษีเหล้าซึ่งปัจจุบัน มีเหล้าชนิดใหม่ เกิดขึ้นมากมาย เช่น “โซจู” มีการจัดเก็บภาษีไม่ตรงประเภท เพราะที่จริงแล้วโซจู เป็นเหล้ากลั่นที่เหมือนเหล้าขาว แล้วไปแช่ในผลไม้ ดังนั้น จึงเป็นเหล้าลูกผสมระหว่างเหล้ากลั่นกับเหล้าแช่ แต่ปัจจุบันจัดเก็บภาษีสุราแช่ ซึ่งเป็นหนึ่งในการลักลั่น จึงต้องมีการศึกษาใหม่เพื่อให้เกิดความถูกต้องในระบบภาษีสรรพสามิต