เศรษฐา ทวีสิน จากซีอีโอแสนสิริสู่ประธานที่ปรึกษาเพื่อไทย

ทันทีที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ก้าวเท้าข้ามธรณีประตูพรรคเพื่อไทยเต็มตัว หนทางวิบาก-ลูกระนาดทางการเมืองรออยู่เบื้องหน้า
โอวาทของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรุ่นพี่ ถึงนายเศรษฐา “ประเทศไม่ใช่ธุรกิจ” เปรียบเสมือนเป็นการรับน้องใหม่-เปิดศึกท้ารบในสมรภูมิการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคม 2566
ย้อนกลับไปในช่วงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เศรษฐา เป็น 1 ในนักธุรกิจไม่กี่คนที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็น “หัวหน้าผู้ก่อการปฏิวัติ” ออกคำสั่งเรียกมารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศน์

ปัจจุบันสปอร์ตไลต์เริ่มฉายจับ “เศรษฐา” อีกครั้ง เพราะเป็นนักธุรกิจที่กล้าออกมา Call out – แสดงทัศนะทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่สาธารณะ-โลกออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย สื่อทรงอิทธิพลอย่างทวิตเตอร์อย่างถึงพริกถึงขิง
เศรษฐาเป็น “สมาชิกพรรคเพื่อไทย” และ แฟนพันธุ์แท้ตัวยง ก่อนกลายมาเป็นผู้เล่นในบทบาทสำคัญ-ตำแหน่งคีย์แมน “ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
“เศรษฐา” ปรากฏชื่ออยู่ในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจในตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” ที่มี “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นประธานกรรมการ และมีกูรูทางเศรษฐศาสตร์-กุนซือเศรษฐกิจทักษิณรายล้อม
ในวันที่ “เศรษฐา” เปิดตัวประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เขาปรากฎกายบนหน้าสื่อทุกสำนักแบบเอ็กซ์คลูซีฟทุกแพลตฟอร์มทางการเมือง
ในวันรุ่งขึ้นเศรษฐามีวาระงานพบกับประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ที่อาคารหอการค้าไทย-จีน หลังจากได้รับตำแหน่งใหม่ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยใหม่มาด
เศรษฐาปฏิเสธรับทุกตำแหน่งทางเมือง ยกเว้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเท่านั้น หลังจากถูกนักข่าวรุมซัก

“จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตประธานคนเสื้อแดง กล่าวถึงเศรษฐาว่า “เศรษฐาไม่ใช่คนใหม่” เพราะสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายเศรษฐาเป็น “ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ” ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่สาม แห่งบ้านชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์
จังหวะก้าวของ “เศรษฐา” จึงอยู่ในเส้นทางของ “ผู้ถูกเสนอชื่อ” เป็น 1 ใน 3 “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย” ตั้งแต่ต้นทาง-ระหว่างทาง-ปลายทาง
เศรษฐาจบการศึกษาปริญญาโท บริหารธุรกิจ-การเงิน จาก Claremont Graduate School ประเทศสหรัฐอเมริกา ชีวิตไลฟ์สไตล์ชอบกีฬาฟุตบอล เป็นแฟนตัวยงของทีมชาติอังกฤษ
เศรษฐาผ่านประสบการณ์คร่ำวอดอยู่ในวงการดีเวลลอปเปอร์อสังหาริมทรัพย์ตลอด 30 ปี รวมถึงบริษัทในเครือแสนสิริ เช่น บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัท สิริพัฒน์ โฟร์ จำกัด บริษัท แปซิฟิค ชาเลนจ์ โฮลดิ้ง จำกัด
จุดสูงสุดของเสี่ยนิด-เศรษฐา นักธุรกิจรุ่นใหญ่ วัย 60 กะรัต คือ พาบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีทรัพย์สิน-ฐานะการเงินในปัจจุบัน 127,451 ล้านบาท
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นผู้ถือหุ้น 10 รายแรกของบมจ.แสนสิริ หรือ ลำดับที่ 4 จำนวนหุ้น 661,002,734 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 4.44

เศรษฐามีตำแหน่งเป็นกรรมการ-ผู้บริหาร บมจ.แสนสิริ ลำดับที่ 2 แจ้งต่อตลท. 4 ตำแหน่ง 1.ประธานกรรมการบริหาร 2.ประธานอำนวยการ 3.กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ 4.กรรมการ
เศรษฐามีตำแหน่งสำคัญในบมจ.แสนสิริ อีก 3 ตำแหน่ง ได้แก่ 1.กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน 2.รองประธานกรรมการลงทุน และ 3.กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท
บมจ.แสนสิริ แจ้งผลประกอบการ งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ต่อตลท. ปี 2562 รายได้รวม 25,360 ล้านบาท กำไร 2,392 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 34,891 ล้านบาท กำไร 1,673 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 29,747 ล้านบาท กำไร 2,017 ล้านบาท และ ล่าสุด ปี 65 รายได้รวม 34,973 ล้านบาท กำไร 4,279 ล้านบาท

เศรษฐามีจุดเริ่มต้นและอาจจะลงท้ายเหมือนทักษิณ-นักธุรกิจโทรคมนาคม เบนเข็มเข้าสู่เส้นทางการเมืองจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สู่นายกรัฐมนตรีคนที่ 23
และเศรษฐายังมีจุดที่ยืนอยู่เหมือนกับ “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชาชน ที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่มาจาก “บ้านชินวัตร”
เศรษฐาพิสูจน์ให้เห็นถึงฝีมือ “นักบริหารธุรกิจมืออาชีพ” นำบริษัทแสนสิริประสบความสำเร็จ-กวาดรายได้หลักหมื่นล้าน เหลือเพียงแต่ความสามารถในการบริหารประเทศ
คู่ขนานกับการถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นหลังจากนี้