รีวิว 3 ปี ‘ทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง’ 5 สัญญา ได้ใช้ปีไหน?
กำลังเป็นรูปเป็นร่างเรื่อยๆ สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 4 สัญญา และมีงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอีก 1 สัญญา รวมวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว
ล่าสุด ‘สุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข’ ผู้ว่า กทพ. อัปเดทความคืบหน้าของงานก่อสร้างทั้งหมดว่า สำหรับความคืบหน้าของงานก่อสร้าง ณ สิ้นเดือน มกราคม 2566 ในภาพรวมมีความคืบหน้าแล้ว 46.21% จากแผนงาน 40.65% เร็วกว่าแผนงาน 5.56% โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดและเปิดให้บริการในปี 2567 ทั้งนี้ แต่ละสัญญามีความคืบหน้า ดังนี้
สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. มี กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บมจ.ซีวิล เอนจีเนียริง) วงเงินโครงการ 7,350 ล้านบาท เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ผลงานสะสม 18.85% จากแผนงาน 17.75% เร็วกว่าแผนงาน 1.10%
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วงเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. มีกลุ่มไชน่าฮาร์เบอร์ฯ-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงินโครงการ 6,440 ล้านบาท ผลงานสะสม 63.16% จากแผนงาน 62.24% เร็วกว่าแผนงาน 0.92%
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี (ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ ร่วมกับ บจ. วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงินโครงการ 7,359.3 ล้านบาท ผลงานสะสม 16.98% จากแผนงาน 17.75% ช้ากว่าแผนงาน 0.77%
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างช่วงสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร และงานทางด่วน ขนาด 6 ช่องจราจร 2 กม. มี บมจ. ช.การช่าง เป็นผู้ดำเนินการ วงเงินโครงการ 6,636 ล้านบาท ผลงานสะสม 98.23% จากแผนงาน 75.50% เร็วกว่าแผนงาน 22.73%
สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร กทพ. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างก่อสร้าง โดยมีแผนจะออกประกาศประกวดราคาช่วงเดือนมีนาคม 2566 นี้
สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทาง 18.7 กม. ใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ก่อสร้างวงเงิน30,437 ล้านบาท
มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ อยู่ที่ กม. 13+000 ของถนนพระรามที่ 2 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางขวาเข้าซ้อนทับกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 9 โดยจะก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ซึ่งมีช่วงความยาวช่วงสะพาน (Main Span) 450 เมตร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการฯ มีระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร โครงการฯ มีทางขึ้น – ลง จำนวน 7 แห่ง
เปิดแผนทางด่วน ‘ฉลองรัช – เกาะสมุย’
นอกจากนี้ นายสุรเชษฐ์ระบุอีกว่า นอกจากโครงการทางด่วนพระราม 3 แล้ว อีก 2 โครงการทางด่วนที่สำคัญจะผลักดันต่อ ประกอบด้วย
1.โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช–นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ระยะทาง 19 กม. วงเงิน 26,100 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลง EIA ของโครงการ ใช้เวลา 12 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2566 จากนั้นน่าจะนำเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการภายในปีงบประมาณ 2566 ก่อนจะตรา พ.ร.ฎ เพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประมาณ 6 เดือน ระหว่างปีงบประมาณ 2566-2567 และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประมาณ 24 เดือน ระหว่างปีงบประมาณ 2567-2569 และจะเริ่มก่อสร้างโครงการประมาณ 36 เดือน ระหว่างปีงบประมาณ 2567-2570
กับ 2. โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเริ่มศึกษาในเดือน มี.ค. 2566 ใช้เวลาศึกษา 24 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2571 เปิดให้บริการปลายปี 2573
แม้จะมีโครงการในแผน 2 โครงการสำคัญ แต่ต้องจับตาทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนองของคนกรุงฯว่า ในปี 2567 จะได้ใช้งานจริงหรือไม่?