“เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” ความหวังกระตุ้นท่องเที่ยวต้นปี 2566
รอกันนานนับเดือนสำหรับโครงการมหาชน “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งไฟเขียวโครงการสด ๆ ร้อน ๆ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ กระจายรายได้ไปยังชุมชน และธุรกิจท่องเที่ยวอีกมากมาย
ที่ผ่านมาต้องยอมรับเลยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้กำกับดูแล ททท. ต้องฝ่าด่านหินหลายด่านกว่าโครงการจะผ่านครม. ก็ต้องใช้เวลานานเป็นเดือน เพราะถ้าใครจำกัดได้ โครงการนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พยายามผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นต้อนรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566
แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถผลักดันให้รัฐบาล โดยครม. เห็นชอบโครงการได้ หลังจากต้องทำความเห็นไปเสนอให้ทุกหน่วยงานช่วยตรวจสอบว่า “เหมาะสม” และ “สอดคล้อง” กับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ทั้งการฟื้นตัวของกำลังซื้อ และข้อจำกัดด้านงบประมาณที่มีอยู่น้อยนิด และต้องกันไว้ใช้ในโครงการที่จำเป็นสำหรับประเทศจริง ๆ
เมื่อเสนอไม่ทันช่วงปีใหม่ แผนต่อไปก็เลยเสนอหวังว่าจะเอามาใช้ทันช่วงเทศกาลตรุษจีนช่วงปลายเดือนม.ค. 2566 แต่ก็ยังไม่สามารถเสนอให้ครม.เห็นชอบได้ทันอีก เพราะเจอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เบรก เพราะโครงการนี้ได้เสนอกรอบวงเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2566 สูงถึง 5,700 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรีมองว่าโครงการนี้มีวงเงินสูงเกินไปหน่อย พร้อมขอตัดวงเงินเหลือครึ่งเดียว นั่นคือ 4,000 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ ททท. ไปหารือกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงโครงการใหม่อีกครั้งให้ใช้เงินไม่เกินกรอบวงเงินที่นายกฯ กันเอาไว้ให้ จนล่าสุดก็ได้ข้อสรุป กระทรวงการท่องเที่ยวฯ หน่วยงานต้นสังกัด จึงเสนอโครงการเข้ามายังครม.อีกครั้ง ก่อนจะได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ครม.จัดงบกลางให้ไม่เต็ม 4 พันล้าน
มติครม.เกี่ยวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ที่ประชุมได้อนุมัติวงเงินเพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 3,946,434,800 บาท แบ่งเป็น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงินรวม 2,016,000,000 บาท และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย วงเงิน 1,930,434,800 บาท
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ชี้แจงเหตุผลว่า การดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งภาคแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 11 ล้านคน โดยประเมินว่า เฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 12,539 ล้านบาท กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
รายละเอียด เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5
รูปแบบการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 กำหนดแนวทางดำเนินการเอาไว้ชัดเจน โดยจะเปิดให้มีการลงทะเบียนใช้สิทธิเข้าโรงแรมที่พักจำนวนห้องพัก 560,000 สิทธิ์ต่อห้อง รัฐสนับสนุน 40%แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน สูงสุด 5 ห้อง พร้อมกับได้รับคูปองอาหารหรือท่องเที่ยว (e-voucher) 600 บาทต่อวัน กำหนดพื้นที่ดำเนินการ ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์- กันยายน 2566
เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการรอบนี้ กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไปลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com พร้อมติดตั้งเป๋าตัง โดยต้องจองห้องพักล่วงหน้าก่อนเดินทาง 7 วัน โดยผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิจำนวน 5 สิทธิ สำหรับประชาชนที่เคยใช้สิทธิแล้ว สามารถกดให้ความยินยอมในแบบฟอร์มยินยอม (consent) ในระบบได้
สำหรับ 5 สิทธิดังกล่าว ไม่นับรวมสิทธิที่ใช้แล้วในโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ที่สำคัญอีกอย่างนั่นคือ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคล เช่นเดียวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการที่ต้องการให้เกิดการใช้จ่ายและการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการบรรเทาภาระของประชาชน
สั่งคุมเข้มป้องกันทุจริต
ปัญหาหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการคือ การสมรู้ระหว่างคนใช้และคนให้บริการจนเกิดเป็นการทุจริต ซึ่งมีการฟ้องร้องกันในช่วงที่ผ่านมานั้น การทำโครงการรอบนี้ ททท.ได้จัดทำแนวทางป้องกันการทุจริตมาแล้ว โดยร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จัดให้มีระบบแสดงจำนวนห้องพักของแต่ละโรงแรม/ที่พัก หากมีการจองเกินจำนวนห้องที่แจ้งไว้ ระบบจะสามารถจำกัดการจองได้ โดยมอบให้ ททท. สำนักงานสาขาในประเทศ เป็นผู้ดำเนินการ
พร้อมกันนี้เพื่อป้องกันการขึ้นราคาห้องพักเกินจริง จึงให้มีการระบุในแบบฟอร์มยินยอม (consent) ให้ชัดเจน หากโรงแรมที่พักเจตนาขึ้นราคาห้องพักเกินจริง สามารถเอาผิดเรียกเงินคืน และระงับการจ่ายได้ รวมทั้งต้องได้รับโทษถึงการตัดสิทธิในการเข้าร่วมทุกโครงการของรัฐบาล รวมทั้งจะมีระบบสแกนใบหน้าของผู้ใช้สิทธิในการเชคอินเข้าพักและการใช้ e-voucher เพื่อป้องกันการใช้บัตรประชาชนผู้อื่นสวมสิทธิ
กำหนดวันเปิดจองลงทะเบียน
ขั้นตอนสำคัญหลังจากครม.เห็นชอบแล้ว นั่นคือ กำหนดการเริ่มต้นโครงการให้คนเข้าไปกดลงทะเบียน หรือจองสิทธิ์กับโรงแรม ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องนี้เพิ่งจะได้ข้อสรุป โดย “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ ททท. ระบุไทม์ไลน์ว่า หลังจากหารือกับผู้วางระบบคือธนาคารกรุงไทย ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะเริ่มเปิดรับสมัครสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ วันที่ 8-15 ก.พ. 2566 จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนจองโรงแรมเพื่อใช้สิทธิ์ได้ในวันที่ 8 มี.ค. 2566 และเริ่มเข้าพักได้วันที่ 11 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป
ส่วนวันที่ 27 เม.ย. 2566 จะเป็นวันที่เข้าไปจองโรงแรมได้เป็นวันสุดท้าย เพื่อให้วันที่ 30 เม.ย. 2566 เป็นวันสุดท้ายของการเดินทางและวันสิ้นสุดโครงการ
“ททท. ยังกำหนดให้นักท่องเที่ยวจองห้องพักล่วงหน้าก่อนเดินทาง 3 วัน ลดลงมาจากเดิมที่กำหนดไว้ 7 วัน เพราะพฤติกรรมการท่องเที่ยวตอนนี้คนไทยตัดสินใจสั้นลง ย่างไรก็ดีในช่วงเวลาที่กำหนดให้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในช่วง 1 เดือนกว่าจะทำให้คนเข้ามาใช้สิทธิ์เร็วขึ้น และจะช่วยดึงดูดให้คนไทยเที่ยวไทยในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ น่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงเดือนเมษายนนี้ปรับตัวดีขึ้นได้” ผู้ว่าการฯ ททท. ระบุ
ทางฝั่งเอกชนเอง ก็ออกมาตอบรับโครงการนี้ โดย “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มองว่า ในปี 2566 การท่องเที่ยวไทย จะฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด โดยตลาดในประเทซจะได้รับอานิสงส์จากเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้คนไทยออกเดินทางมากขึ้น เชนเดียวกับตลาดต่างประเทศ ประเมินว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 30 ล้านคน และเชื่อว่า ตลอดทั้งปี ภาคท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ให้กับประเทศในปีนี้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าได้