จาก ‘หัวลำโพง’ สู่ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ดีเดย์ย้าย 52 ขบวนรถไฟ 19 ม.ค.นี้
ในสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึงนี้ กำลังจะมีหนึ่งปรากฎการณ์สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทยและคาดว่าน่าจะส่งผลกระทบกับประชาชนที่ใช้การสัญจรทางระบบราง สิ่งนั้นก็คือ การย้ายขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ สายใต้ สายอีสาน ของขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน จากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะคิกออฟกันวันแรก 19 ม.ค. 66 นี้
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นดังกล่าว ก็เป็นผลมาจากนโยบายของกระทรวงคมนาคมเช่นเคย ซึ่งหากยังจำกันได้ช่วงปลายปี 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีดำริถอนการเดินรถทั้งหมดจากหัวลำโพงไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แบบ ‘หักดิบ’ แล้วนำพื้นที่ของหัวลำโพงไปออกแบบเป็นมิกซ์ยูส แต่ถูกสังคมต่อต้านจนต้องพับเสื่อกลับไปรอบหนึ่ง
มาครั้งนี้ มีขั้นตอนในการรับฟังความเห็นก่อนเมื่อช่วงกลางปี 2565 และในที่สุดเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 รฟท.ก็ร่อนข่าวแจกทำนองว่า มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาตอบแบบสอบถาม และแสดงความเห็นกันมาก โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการย้ายสถานีต้นทางปลายทางจากหัวลำโพงมาที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ แถมประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ การรถไฟฯ ยังคงใช้สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานีต้นทางปลายทางของ ขบวนรถไฟชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ตามเดิม
ก่อนทิ้งท้ายว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีความเหมาะสม และมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่ศูนย์กลางธุรกิจ การคมนาคมสะดวก สามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้หลากหลายทางเลือก ดังนั้นจึงอยากให้การรถไฟฯ ใช้ประโยชน์จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้คุ้มค่าสูงสุด นอกเหนือจากการให้บริการเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รฟท.ก็ยังไม่เคยเผยแพร่ผลการสำรวจดังกล่าวเลยว่า มีประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์ที่เห็นด้วยมีเท่าไหร่ ตัวอย่างที่เข้ามาทำแบบสอบถามมีเท่าไหร่ ตลอดถึงรายละเอียดอื่นๆ ก็มิเคยปรากฏ
เมื่อเรื่องเดินมาถึงวันนี้ จึงต้องเลยตามเลย โดย รฟท.ได้ประกาศแล้วว่า ในวันที่ 19 มกราคม 2566 ขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ สายใต้ สายอีสาน ของขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวนจะย้ายมาตั้งแถวให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยในวันดังกล่าว นายศักดิ์สยามจะไปเป็นสักขีพยานขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ในเวลา 13.19 น. ด้วยขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHAเดินรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีอยุธยาด้วย
สำหรับ 52 ขบวนรถไฟที่จะมาให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การจะไปใช้บริการให้ไปที่ประตู 4 ของสถานีกลาง โดยการเดินทางมาที่สถานีกลาง ณ ตอนนี้สะดวกที่สุดคือ การโดยสารรถไฟฟ้า 2 ระบบคือ สายสีน้ำเงิน ลงสถานีบางซื่อ และสายสีแดง ลงที่สถานีบางซื่อเช่นกัน
สำหรับ 52 ขบวนที่จะให้บริการ มีดังนี้
สายเหนือ 14 ขบวน จะวิ่งบนทางรถไฟเดียวกันรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต เริ่มจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปจนถึงสถานีดอนเมือง ซึ่งเป็นสถานีบนทางยกระดับ โดยยกเลิกที่หยุดรถไฟ กม.11, สถานีบางเขน, ที่หยุดรถรถไฟทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่ และป้ายหยุดรถการเคหะฯ ขบวนรถไฟทั้ง 14 ขบวน ประกอบด้วย
1.ขบวนที่ 7/8 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ / เชียงใหม่ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
2.ขบวนที่ 9/10 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ / เชียงใหม่ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
3.ขบวนที่ 13/14 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ / เชียงใหม่ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
4.ขบวนที่ 51/52 ด่วน ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ / เชียงใหม่ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
5.ขบวนที่ 109/102 เร็ว ช่วงช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ / เชียงใหม่ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
6.ขบวนที่ 107/112 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เด่นชัย / เด่นชัย – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
7.ขบวนที่ 111/108 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เด่นชัย / เด่นชัย – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
สายอีสาน 18 ขบวน จะวิ่งบนทางรถไฟเดียวกันรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต เริ่มจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปจนถึงสถานีดอนเมือง ซึ่งเป็นสถานีบนทางยกระดับ โดยยกเลิกที่หยุดรถไฟ กม.11, สถานีบางเขน, ที่หยุดรถรถไฟทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่ และป้ายหยุดรถการเคหะฯ ขบวนรถไฟทั้ง 18 ขบวน ประกอบด้วย
1.ขบวนที่ 21/22 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุบลราชธานี / อุบลราชธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
2.ขบวนที่ 23/24 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุบลราชธานี / อุบลราชธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
3.ขบวนที่ 25/26 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – หนองคาย / หนองคาย – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
4.ขบวนที่ 71/72 ด่วน ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุบลราชธานี / อุบลราชธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
5.ขบวนที่ 75/76 ด่วน ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – หนองคาย / หนองคาย – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
6.ขบวนที่ 133/134 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – หนองคาย / หนองคาย – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
7.ขบวนที่ 135/136 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุบลราชธานี / อุบลราชธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
8.ขบวนที่ 139/140 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุบลราชธานี / อุบลราชธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
9.ขบวนที่ 141/142 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุบลราชธานี / อุบลราชธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
สายใต้ 20 ขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีบางบำหรุ ยกเว้นขบวนรถธรรมดา และชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดินตั้งแต่สถานีชุมทางบางซื่อไปตามเส้นทางเดิม ทั้ง 20 ขบวน ประกอบด้วย
1.ขบวนที่ 31/32 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ชุมทางหาดใหญ่ / ชุมทางหาดใหญ่ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
2.ขบวนที่ 37/38 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สุไหงโกลก / สุไหงโกลก – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
3.ขบวนที่ 39/44 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สุราษฎร์ธานี / สุราษฎร์ธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
4.ขบวนที่ 43/40 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สุราษฎร์ธานี / สุราษฎร์ธานี – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
5.ขบวนที่ 45/46 ด่วนพิเศษ ช่วงสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ – ปาดังเบซาร์ / ปาดังเบซาร์ – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
6.ขบวนที่ 83/84 ด่วน ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตรัง / ตรัง – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
7.ขบวนที่ 85/86 ด่วน ช่วงสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ – นครศรีธรรมราช / นครศรีธรรมราช – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
8.ขบวนที่ 167/168 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – กันตัง / กันตัง – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
9.ขบวนที่ 169/170 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ยะลา / ยะลา – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
10.ขบวนที่ 171/172 เร็ว ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สุไหงโกลก / สุไหงโกลก – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ทั้งนี้ สำหรับผู้โดยสารที่เคยขึ้น-ลงสถานีรถไฟทางไกลระดับพื้นดิน ที่มีการยกเลิกข้างต้น รฟท.อนุญาตผู้โดยสารในขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา สามารถใช้ตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งจะต้องใช้ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่ระบุอยู่บนตั๋วโดยสาร
แม้จะเป็นการย้ายรถไฟเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะอีก 62 ขบวน ยังประจำการอยู่ที่หัวลำโพง แต่จากสภาพแวดล้อมของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่สิ่งอำนวยความสะดวกและป้ายบอกทางยังไม่ดีพอ ก็คงต้องเป็นภาระประชาชนอย่างเราๆท่านๆที่ต้องลองใช้ ลองผิด ลองพลาดกันต่อไปตามมีตามเกิดจนเกิดความเคยชินกันเองต่อไปเหมือนหลายๆเรื่องที่ประชาชนก็ต้องหาทางปรับตัวกันเองนั่นแล