5 ซีนารีโอ การเมืองปี 2566 เลือกตั้งบัตรสองใบ-จับขั้วรัฐบาลใหม่
5 ซีนารีโอ การเมืองไทย 2566 เตรียมก้าวกระโดดรับกระต่าย รับการจัดการเลือกตั้ง-จัดตั้งรัฐบาลใหม่
ซีนารีโอที่ 1 เพื่อไทย-พรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยแบบไม่ลงมติ
ก่อนสิ้นสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 28 ก.พ. 2566 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย “จองกฐิน” รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ราวกลางเดือนม.ค. 2566
แม้ไม่ใช่เป็น “ศึกซักฟอก” แบบลงมติชี้เป็น-ชี้ตาย แต่เป็นการ “เปิดแผล” การทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อสภา เรื่องใดทำได้-เรื่องใดทำไม่ได้
พรรคฝ่ายค้าน “ล็อกเป้า” หัวหน้าพรรครัฐบาลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “ขึ้นเขียง”อภิปราย หวังผลทางการเมือง หลอกด่า-ดิสเครดิต ให้เป็น “แผลตกสะเก็ด” ไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ภายใต้ยุทธการ“ถอดหน้ากากคนดี”
เมื่อกางรายชื่อหัวหน้าพรรครัฐบาล-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นอกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครัฐบาลแล้ว “แม่บ้านพรรค” ที่เป็นเปรียบเสมือนคนถือกระเป๋าตังค์-นายทุนของพรรคอาจจะถูกเชือดด้วย เช่น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรคภูมิใจไทย และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ซีนารีโอที่ 2 เลือกตั้ง-จุดเปลี่ยนประเทศไทย
ปี 2566 จะเป็น “จุดเปลี่ยน” ประเทศไทยครั้งสำคัญ เพราะจะมีการเลือกตั้งในเดือนพ.ค. 2566เป็นทางสองแพร่ง 8 ปีภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้กติกาใหม่ บัตรเลือกตั้งสองใบ หาร 100
ความน่าติดตามในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ หน้าตา “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30”จะออกมาเป็นอย่างไร ถ้ายังเป็น “นายกฯหน้าเดิม” คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเหลือวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปี
การเมืองไทยจะต้องเจอลูกระนาดอีกหลายลูก
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดตุ๊กตาวันเลือกตั้งไว้วันที่ 7 พ.ค. 2566 กรณีสภาอยู่ครบวาระ วันที่ 23 มี.ค. 2566 และกรณียุบสภาจะต้องจัดการเลือกตั้งอย่างน้อย 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
ภายใต้กติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ หาร 100 นักวิเคราะห์การเมืองฟันธง พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบ พรรคเพื่อไทยจึงประกาศ “แลนด์สไลด์” 253 ที่นั่ง
แม้ไม่ได้ตามเป้าหมาย-ไม่แลนด์สไลด์ แต่เพื่อไทยจะเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1 จากทั้งหมดของพรรคการเมืองที่มีอยู่บนกระดานเลือกตั้งครั้งหน้า
ส่วนจะได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ “หืดขึ้นคอ” และอาจจะครองตำแหน่งแกนนำพรรคฝ่ายค้านเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน
ขณะที่พรรคก้าวไกล พรรคที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจและอานิสงส์จากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในการเลือกตั้งปี 62 กว่า 81 ที่นั่ง ต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นพรรคที่ “เสียประโยชน์มากที่สุด”
พรรคก้าวไกลยังไม่ประกาศตั้งเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้กี่ที่นั่ง แต่ผลคะแนนเมื่อการเลือกตั้งปี 62 ได้คะแนน 6.33 ล้านคะแนน หากคิดเป็นจำนวนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ หารด้วย 3.5 แสนคะแนน จะได้ ส.ส. 18 ที่นั่งเท่านั้น
ส่วน ส.ส.เขต พรรคก้าวไกลอาจต้องลุ้นเสียงคนรุ่นใหม่-หัวก้าวหน้าอย่างหนัก เพราะ “ตลาดเดียวกัน”กับพรรคเพื่อไทย
พรรคพลังประชารัฐปักหลัก-ปักธง ส.ส. 150 ที่นั่ง แม้ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยน-มีข้อมูลใหม่ ภายหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ แยกทาง-หนีบ ส.ส.สายทำเนียบ ตามไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ
ภูมิใจไทย พรรคตัวแปร จับขั้ว-พลิกขั้ว ลั่นกลองรบ “ตอกเสาเข็ม” 100 ที่นั่ง แต่ไม่มีอะไรการันตีว่า ส.ส.ที่ย้ายค่าย-ขั้วเดิม กว่า 100 ชีวิตร จะกลับเข้าสภาได้อีกสมัย
พรรคประชาธิปัตย์ มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคเก่าแก่ ถือธงนำเลือกตั้งครั้งหน้า ลั่นวาจา ถ้าได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม หรือน้อยกว่าส 53 ที่นั่ง จะ “เลิกเล่นการเมือง”
รวมถึงมีตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นเดิมพัน
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนจุดยืนมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ รอดูฤกษ์ยามสมัครเป็นสมาชิกพรรค
นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ผุดคำโต กวาด 100 ที่นั่ง ต่อขาเก้าอี้เบอร์ 1 ตึกไทยคูฟ้า เป็น “นั่งร้าน” พรรคทหารให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สาม
ซีนารีโอที่ 3 รัฐบาลใหม่
“รัฐบาลใหม่” หลังการเลือกตั้งหน้า อัลตร้าซาวด์โฉมหน้าเป็น “รัฐบาลผสม” ต้องจับขั้ว-เลือกข้าง 2 ขั้ว “ขั้วแรก” ฝั่งประชาธิปไตย โดยมีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเป็นแกนหลัก
และ “ขั้วที่สอง” ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-ขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ
โดยมีพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกวุฒิสภา 250 คน เป็นตัวแปรสำคัญ
ซีนารีโอที่ 4 สุญญากาศงบประมาณรายจ่ายปี 67
หลังการเลือกตั้ง กว่าจะจับขั้ว เลือกนายกรัฐมนตรี-ฟอร์มรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้น นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เตรียมรับมือสุญญากาศงบประมาณ 67 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาทล่าช้า-เลวร้ายที่สุด 6 เดือน หรือ มากกว่า
“การใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 อาจจะช้ากว่ากำหนด แต่เราก็สามารถใช้จ่ายงบประมาณปี 2566 50% หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทไปพลางก่อน ทำเตรียมไว้แล้ว และสามารถใช้ต่อไปได้อีกประมาณ 6 เดือน เพื่อรองบประมาณปี 2567 ประกาศใช้”นายเฉลิมพลกล่าว
ส่วนโครงการใหม่-โครงการใหญ่-โครงการผูกพัน ไม่สามารถใช้งบประมาณได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาของสภา แต่กรมบัญชีกลางเคยออกหลักเกณฑ์เปิดทางประกาศประกวดราคาไปก่อนได้ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณผ่านสภา-มีผลบังคับใช้ก็สามารถลงนามในสัญญา-ก่อหนี้ผูกพันได้ทันที
ซีนารีโอที่ 5 แต่งตั้งโยกย้าย ผบ.ทบ.- ผบ.ตร.
วันที่ 30 ก.ย. 2566 ผู้บัญชาการเหล่า และหัวหน้าส่วนราชการแถวหน้าที่จะเกษียณอายุราชการ โดยมีรัฐบาลใหม่ ขั้วอำนาจเดิม-ขั้วอำนาจใหม่เป็นผู้ตัดสิน
โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการความมั่นคงกองทัพ บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และผู้บัญชาการพิทักษ์สันติราษฎ์ บิ๊กเด่น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
แคนดิเดตผบ.ทบ.ที่วางไว้เป็นทายาท บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ คือ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. ขณะที่ว่าที่พิทักษ์ 1 คนที่ 13 คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร.
คนที่เห็นอาจจะไม่ใช่ คนที่ใช่อาจจะไม่เห็น