10 + 1 เหตุการณ์เด่นการเมืองปี 2565
โบกมือลาปีเสือ กับ 10 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในปี 2565 ที่จะเป็นจุดตัดในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2566
เหตุการณ์ที่หนึ่ง : ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีวาระนายกฯ 8 ปี
ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ปมวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกให้เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองแห่งปีเสือ เพราะจุดเปลี่ยนการทางการเมืองครั้งสำคัญและกำหนดทิศทางการเมืองไทย
ที่สำคัญ คือ เป็นการชี้ชะตากรรมของพล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ถึงปี 2568 หรือ ปี 2570 เลวร้ายที่สุด คือ พ้นจากตำแหน่งรนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565
วันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ครบกำหนดเวลา 8 ปี หรือ นับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560
แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคุณกับพล.อ.ประยุทธ์ แต่กลายเป็นทุกขลาภ เพราะสามารถไปต่อในดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น
เหตุการณ์ที่สอง : พล.อ.ประยุทธ์ พักงาน 38 วัน
ช่วงสุญญากาศระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ เกิดปรากฎการณ์สำคัญที่น่าสนใจซ้อนกัน 2 ปรากฎการณ์
พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี 38 วัน และไปนั่งทำงานที่กระทรวงกลาโหม ตลอดจนคืนรถยนต์ประจำตำแหน่งและรับเงินเดือนในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ตลอดระยะเวลา 38 วัน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ก้าวเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาล แม้กระทั้งการเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ใช้วิธีผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากกระทรวงกลาโหม
เหตุการณ์ที่สาม : พล.อ.ประวิตรทดลองงานนายกฯ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ใช้ “ใจบันดาลแรง” บริหารราชการแผ่นดินในช่วงพล.อ.ประยุทธ์ถูกพักงาน
ตลอดระยะเวลาในช่วงทดลองงาน 38 วัน พล.อ.ประวิตร โชว์ฟอร์มว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐได้อย่างอยู่หมัด
ด้วยสไตล์พี่ใหญ่ ใจถึงพึ่งได้ พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี 4 ครั้ง อนุมัติงบประมาณในช่วงเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ไปถึงเกือบ 5 แสนล้านบาท
เหตุการณ์ที่สี่ : บัตรเลือกตั้งสองใบ หาร 100 เพื่อไทยแลนด์สไลด์-พรรคเล็กสูญพันธุ์
เหตุการณ์ชี้ชะตานักการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตราขึ้นโดยถูกต้องและไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
เป็นจุดชี้ขาดโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ พรรคเพื่อไทยจะกลับมากุมความได้เปรียบจากกติกาการเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งสองใบ หารด้วย 100 ขณะที่พรรคจิ๋ว หรือพรรคการเมืองปัดเศษหมดทางสู้-สูญพันธุ์ไปหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
เหตุการณ์ที่ห้า : 7 รัฐมนตรีภูมิใจไทย ค้านสายสีเขียว
การเมืองในทำเนียบรัฐบาลครั้งที่แตกหักที่สุด เมื่อ 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย พร้อมใจกันลาการประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะคัดค้านการต่อสัญญาสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายออกไปอีก 30 ปี
7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข-หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม-เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 5.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต บริษัทบีทีเอส จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของสัมปทาน
ตลอดระยะเวลาของรัฐบาลที่มีนายศักดิ์สยาม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตะถ่วงการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาโดยตลอด โดยให้เหตุผลเรื่องค่าโดยสารต้องไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ระเบียบและกฎหมาย
เหตุการณ์ที่หก : แพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
ปรากฎการณ์เดียวของพรรคฝ่ายค้านในรอบปีที่ผ่านมา คือ การเปิดตัว หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อุ๊งอิ๊ง – แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก ของนายทักษิณ ชินวัตร
ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย คือ ตำแหน่งแห่งที่ของหัวน้าครอบครัวเพื่อไทยที่ไม่ปรากฏอยู่ในกฎหมายทุกฉบับ และว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
สำทับด้วยการปรากฏตัวของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดาพร้อมครอบครัวชินวัตร ในงานกิจกรรม ครอบครัวเพื่อไทย “สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ” ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่
สะท้อนให้เห็นการเดิมพันครั้งสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าของนายทักษิณ ที่ต้องการกลับมาเลี้ยงหลานอย่างเท่ ๆ
เหตุการณ์ที่เจ็ด : พล.อ.ประยุทธ์แคนดิเดตนายกฯ รวมไทยสร้างชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ใช้จังหวะและเวลาในการประกาศความชัดเจนถึงอนาคตทางการเมืองในช่วงปลายปี 2565นับถอยหลัง 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบวาระในเดือนมี.ค. 2566 จนถึงวันเลือกตั้ง
รวมไทยสร้างชาติ คือ พรรคที่พล.อ.ประยุทธ์จะโดยสารเป็นยานพาหนะเข้าสู่สนามเลือกตั้งในตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค และ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี จิตวิญญาณของพรรคเป็นหน่วยสนับสนุนหลัก
เหตุการณ์ที่แปด : ภูมิใจไทยโชว์พลังดูด
พรรคที่เนื้อหอมที่สุดในปี 2565 หนีไม่พ้นภูมิใจไทยที่ใส่เกียร์หน้าเดิน โชว์พลังดูด ส.ส. ไม่ไว้หน้าเพื่อน-พรรคร่วมรัฐบาล และหน้านายใหญ่-พรรคเพื่อไทย 9 พรรค
พรรคภูมิใจไทยถูกคาดหมายว่า จะเป็นคู่แข่งกับพรรคเพื่อไทย ล้มแผนการแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และจะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
เหตุการณ์ที่เก้า : ประชาธิปัตย์เลือดไหลออกไม่หยุด
สวนทางกับประชาธิปัตย์ที่มีเลือดไหลออกมากที่สุด นักการเมืองขาใหญ่-เก๋าเกมทยอยเขียนใบลาออกจากสมาชิกพรรคหายานลำใหม่ กว้างขวาง-ไม่คับแคบเหมือนพรรคเก่าแก่ ที่หลงเหลือเพียงความเป็นสถาบันทางการเมืองที่เสื่อมมนต์ขลัง
เบอร์ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปกุมบังเหียนพรรคการเมืองใหม่ อาทิ นายกรณ์ จาติกวาณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี
เหตุการณ์ที่สิบ : สภาล่มซ้ำซาก
เสมอต้นเสมอปลายสภา 500 ล่มตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี นับเฉพาะปี 2565 สภาล่ม 10 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 19 ม.ค. 2565 ครั้งที่สอง วันที่ 2 ก.พ. 2565 ครั้งที่สาม วันที่ 4 ก.พ. 2565 ครั้งที่สี่ วันที่ 10 ก.พ. 2565 ครั้งที่ห้า วันที่ 15 ก.ย. 2565
ครั้งที่หก วันที่ 4 พ.ย. 2565 ครั้งที่เจ็ด วันที่ 23 พ.ย. 2565 ครั้งที่แปด วันที่ 1 ธ.ค. 2565 ครั้งที่เก้า วันที่ 7 ธ.ค. 2565 และครั้งที่สิบ วันที่ 21 ธ.ค. 2565
หากนับรวมตลอดอายุสภา 3 ปี เข้าปีที่ 4 สภาล่มทั้งหมด 15 ครั้ง ปี 62 สภาล่ม 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก วันที่ 27 พ.ย. 2562 ครั้งที่ 2 วันที่ 28 พ.ย. 2562 ปี 63 สภาล่ม 1 ครั้ง คือ วันที่ 8 ก.ค. 2563 ปี 64 สภาล่ม 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก วันที่ 30 มิ.ย. 2564 และครั้งที่สอง วันที่ 17 ธ.ค. 2564
อีกเหตุการณ์ภาคผนวกที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าการเมืองท้องถิ่นที่สะท้อนภาพการเมืองระดับชาติ คือ ชัยชนะของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แบบถล่มทลายกว่า 1.4 ล้านคะแนน คว้าเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17