สศช. – IMF มองเศรษฐกิจไทยสดใส
ปี 66 โตสวนทางเศรษฐกิจโลก
ผลพวงจากภาวะอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรงในปีนี้ที่มีที่มาจากหลายสาเหตุทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกันผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยาวนานมาตั้งแต่เดือน ก.พ.ยิ่งทำให้ราคาพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติในรอบหลายปีซึ่งราคาพลังงานที่สูงส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนค่าครองชีพ และการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งไปมีส่วนในการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นและซ้ำเติมเศรษฐกิจไปอีก
ที่ผ่านมาได้เห็นการแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยธนาคารกลางหลายประเทศต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยหวังที่จะดึงอัตราเงินเฟ้อให้ลดลง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.75% มาต่อเนื่อง จนดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ปรับขึ้นมาสู่ระดับ 3.00-3.25% ขณะที่เฟดยังระบุว่า อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 4.6% ในสิ้นปี 2023 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 3.9% ในปี 2024
เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย
การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศเข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย คือเศรษฐกิจติดลบติดต่อกันสองไตรมาส โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯและหลายประเทศในสหภาพยุโรป (EU) เมื่อรวมกับปัญหาของเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ลำดับต้นๆของโลกที่ยังคงมีปัญหาทั้งเรื่องโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกถดถอยก็มีมากขึ้น
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงความไม่สดใสของเศรษฐกิจโลกในระหว่างการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปคว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่กำลังชะลอตัวลง และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยสหรัฐ จีน และยุโรปเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยทั้ง 3 ถือเป็นหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจไทยโตสวนเศรษฐกิจโลก
แม้ว่าในภาพของเศรษฐกิจโลกจะไม่สดใสแต่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณบวกต่อเนื่องเห็นได้จากการแถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ถึง 4.5% ปรับตัวเป็นบวกได้ 4 ไตรมาสติดต่อกัน เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% และคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จีดีพีของไทยจะขยายตัวได้ 3 – 4% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.5% ถือว่าฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นมากในหลายตัวชี้วัด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงในรอบหลายไตรมาส แสดงถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ถึง 9% ภาคการส่งออกที่รวมกับภาคท่องเที่ยวและบริการขยายตัวได้ถึง 9.5% ภาคการผลิตมีการขยายตัวได้ 6.3% เป็นต้น
แรงส่งทางเศรษฐกิจไทยที่จะส่งต่อไปในปี 2566 สศช.มีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์ต่อเนื่อง เช่น การใช้จ่ายภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3% การลงทุนรวมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.6% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.4% จากปี 2565 ที่ผ่านมาสอดคล้องกับการกำหนดกรอบงบประมาณการลงทุนภาครัฐในปี 2566 ที่ 6.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณนี้ถึง 13.5% ซึ่งรัฐบาลพยายามวางกรอบการเบิกจ่ายและจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2566 และเข้าสู่การเลือกตั้งต่อไป
ท่องเที่ยวหนุน ปีหน้าโกยรายได้ 1.2 ล้านล้าน
ส่วนด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยในปีหน้าเพิ่มเป็น 23.5 ล้านคนและมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทบนสมมุติฐานว่าจีนเปิดให้นักท่องเที่ยวออกมาท่องเที่ยวภายนอกประเทศ และกลับมาเที่ยวในประเทศไทยได้
อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคการส่งออกสินค้าไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1% เท่านั้น ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดย สศช.ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีหน้าลดลงจาก 3.1% เหลือ 2.6% โดยในส่วนของเศรษฐกิจภาคส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวนั้นจะมีการลดลง สศช.ให้คำแนะนำกับรัฐบาลว่า ควรจะมีการเร่งการหาตลาดเพิ่มเติม เพราะการส่งออกมีความสำคัญในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยตลาดที่มีศักยภาพเช่นตะวันออกกลาง ที่มีรายได้สูงจากการส่งออกน้ำมันในปีนี้
สำหรับในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าคาดว่ายังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนในส่วนของสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศต่างๆในยูโรโซนยังเงินเฟ้อสูง ส่วนเงินเฟ้อไทยแม้จะลดลงจากระดับ 6.6% เหลือ 6.4% ในเดือนที่ผ่านมา โดยในเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายในภาพรวม และคาดว่าสหรัฐฯจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปีหน้า
โดยความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในเรื่องของเงินเฟ้อที่สูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน ขณะที่ในเรื่องของเศรษฐกิจจีนยังได้รับผลกระทบจากเรื่องของการคุมโควิด และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังต้องใช้เวลาแก้ไข
“ประยุทธ์” ปลื้ม IMF มองเศรษฐกิจไทยบวก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้รับทราบแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่จะมีการขยายตัวได้ต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจหลายประเทศที่มีความเสี่ยงกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และ กิจกรรมเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงแบบเป็นวงกว้าง และมากกว่าที่คาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของประเทศไทยสามารที่จะฟื้นตัวได้ในระดับที่ดีสวนทางกับประเทศส่วนใหญ่
ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมเอเปค (APEC) 2022 นายกรัฐมนตรีของไทยได้หารือกับนางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) โดย IMF ได้หยิบยกเอารายงาน แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฯ ของเดือนต.ค. 2565 คาดการณ์ว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น มีประเทศไทย และประเทศจีน เพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ขยายตัวทั้งในปี 2565 และ 2566 และการขยายตัวของจีดีพีที่แท้จริงในปีหน้านั้นยังเพิ่มขึ้นจากระดับในปีนี้ด้วย โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% และในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจของ IMF ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก ขอให้ทุกฝ่ายเร่งรัดทำงานและจะต้องเร่งรัดการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปีต่อไป
สศช.แนะจับตา 8 ประเด็นบริหารเศรษฐกิจ
แม้ว่าหน่วยงานเศรษฐกิจของไทยและหน่วยงานในระดับโลกอย่าง IMF จะมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2566 แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุผล ซึ่ง สศช.ได้กำหนดประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไว้ 8 ประเด็นดังนี้
1.การดูแลแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMES) 2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการเตรียม มาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2566/2567
3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ โดยการติดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการค้าโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหารและสินค้าอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า การใช้ประโยชน์จาก กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของ อัตราแลกเปลี่ยน
4.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการแก้ไขปัญหา และเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มศักยภาพ การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน การจัดกิจกรรมส่งเสริม การท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการดูแลด้านสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวย ความสะดวกเพื่อตึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ
6. การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง การขับเคลื่อน และการลงทุนภาครัฐ 7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนและการเงินโลก
และ 8.การติดตาม เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรองรับการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้