สัญญาณเตือน ‘เศรษฐกิจโลกถดถอย’ รับมือวิกฤติใหญ่ปี 66
ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเผชิญปัญหาที่หนักหน่วงมาโดยตลอดตั้งแต่เรื่องของสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯและจีนนสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ยังไม่ทันที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้าจะคลี่คลาย โลกก็ต้องมาเจอกับวิกฤติโรคระบาด “โควิด-19” ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง
เมื่อมีการพัฒนาวัคซีนมากขึ้น และเริ่มสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีมากขึ้นความหวังเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติที่เกิดขึ้นก็ต้องมาเจอกับปัญหาใหญ่ของอีกวิกฤติก็คือเรื่องของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์แพงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรกันไปมาระหว่างยุโรป รัสเซีย รวมทั้งสหรัฐฯ ผลที่ตามมาจากราคาพลังงานที่สูงก็คือปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตทำให้สินค้าหลายชนิดปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดปัญหา “เงินเฟ้อ” ตามมา
IMF ชี้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย
ในปี 2566 ที่ใกล้จะถึงในอีกไม่กี่เดือนนี้วิกฤติที่กำลังจะตามมาจากภาวะเงินเฟ้อโลกอาจจะต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยซึ่งหมายถึง ภาวะที่เศรษฐกิจมีการหดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การบริโภค การผลิต หรือการลงทุน เป็นต้น เมื่อเจอภาวะนี้ จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมหดตัวลงไปด้วย โดยปกติแล้วจะใช้ข้อมูลตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากมีการหดตัวของจีดีพี 2 ไตรมาสติดต่อกันถือได้ว่าเข้าสู่ภาะการถดถอยทางเศรษฐกิจทางเทคนิคซึ่งเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมักจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง มีการลดการบริโภค การผลิตลดลง และมีการปรับลดคนงานเป็นจำนวนมาก
Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการใหญ่ขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บอกว่าจากการติดตามภาวะเศรษฐกิจของ IMF คาดว่าในปีหน้ามีโอกาสถึง 33% ที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยิ่งไปกว่านั้นประเทศที่เป็นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) 1 ใน 4 ของโลกหรือประมาณ 25% ของประเทศในกลุ่มนี้จะเริ่มผิดนัดชำระหนี้ หรือผิดนัดชำระการไถ่ถอนคืนพันธบัตร ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจจะเกิดวิกฤติหนี้ (Debt Crisis) รอบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น เห็นได้จากในหลายประเทศในกลุ่มนี้ได้เริ่มเข้ามาติดต่อกับ IMF เพื่อสอบถามเกี่ยวกับโปรมแกรมการขอกู้เงินแล้ว
ทั้งนี้สาเหตุที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จนทำให้ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อทำให้เงินเฟ้อลดลง การที่อัตราดอกเบี้ยสูงเกินไปแม้จะช่วยให้กดเงินเฟ้อลงมาได้แต่ดอกเบี้ยที่สูงก็กลายเป็นต้นทุนทางการเงินของทั้งเอกชน และรัฐบาล เมื่อไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้ได้ในภาวะที่ดอกเบี้ยสูงการผิดนัดชำระหนี้ก็จะเกิดขึ้น ส่งผลให้ลามเป็นวิกฤติจากบริษัทหนึ่งไปยังบริษัทหนึ่ง และจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งได้เป็นวงกว้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกทั้งในสหรัฐฯ จีน และในยุโรปต่างเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจภายใน หมายความว่าตลาดนำเข้าสินค้าขนาดใหญ่จะหดตัวลงพร้อมๆกันภาคการส่งออกของประเทศต่างๆที่มีการส่งสินค้าออกไปยังประเทศต่างๆเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก
ดอกเบี้ยสูงเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ
ในอดีตที่ผ่านมาวิกฤติเศรษฐกิจมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่สูงเพราะทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ ประชาชน รวมทั้งรัฐบาลสูงขึ้น เพราะมีภาระเพิ่มในการชำระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ดังนั้นการที่ธคารกลางส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงหวังคุมเงินเฟ้อรอบนี้อาจกลายเป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจถดถอยเหมือนในอดีตได้
เพราะธนาคารกลางมีหน้าที่สำคัญคือ ดูแลให้เศรษฐกิจและราคามีเสถียรภาพยั่งยืน แต่ขณะนี้ธนาคารกลางในโลกหลายแห่งโดยเฉพาะสหรัฐฯดูเหมือนจะกลัวเงินเฟ้อสูง (inflation fear) มากกว่าจะกลัวเศรษฐกิจถดถอย (recession fear) ที่เป็นผลจากนโยบายการเงินตึงตัวเร็วทั่วโลก
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยธนาคารกลางส่วนใหญ่ประเมินกรณีฐานไว้ว่า แม้ทำนโยบายการเงินตึงตัวเร็วและแรงมากเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เศรษฐกิจก็ยังรับไหว การเหยียบเบรกนโยบายการเงินแรงจะช่วยกดเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปสงค์ได้ เพราะเมื่อต้นทุนดอกเบี้ยแพงขึ้น คนมีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น ต้องลดการใช้จ่ายลง ทำให้อุปสงค์รวมในประเทศลดลง แถมยังช่วยสกัดเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้คนไม่ให้สูงต่อเนื่องได้ด้วย สุดท้ายจะช่วยดึงเงินเฟ้อให้กลับเข้าเป้าได้สำเร็จ โดยหวังว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก (soft-landing)
เงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาว
ในทางตรงกันข้าวหากปัจจัยเงินเฟ้อจากจากด้านอุปทาน เช่น มาจากมาตรการล็อคดาวน์ช่วงโควิด ปัญหาคอขวดอุปทานผลิตไม่ทันใช้หลังเปิดเศรษฐกิจ สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มาตรการ Zero โควิดของจีนทำให้ผลิตสินค้าออกมาป้อนตลาดโลกได้น้อยลง และอาจรวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจกระทบห่วงโซ่การผลิต กลายเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เงินเฟ้อพุ่งแรง และการเร่งเหยียบเบรกนโยบายการเงินแรงไม่ได้ช่วยกดเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปทานแต่อย่างใด เงินเฟ้อจะไม่ชะลอลงมากอย่างที่ธนาคารกลางอยากเห็น แต่ผู้คนกลับต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง/ดอกเบี้ยสูงพร้อมกัน จนทำให้เศรษฐกิจชะลอลงมากในภาวะเงินเฟ้อสูง (stagflation) ได้
ในความเป็นจริงแล้วธนาคารกลางทุกประเทศคงไม่อยากไปอยู่ในจุดที่ต้องเจอทั้งเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอยพร้อมกัน ภาครัฐบาลเองอาจต้องปรับนโยบายเตรียมรับมือภาวะเงินเฟ้อสูงนานไว้ด้วยเช่นกัน เช่น รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศนโยบาย transform อุตสาหกรรม/เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มค่าจ้างให้โตแซงหน้าค่าครองชีพ ก้าวข้ามปัญหาเงินเฟ้อสูงได้อย่างยั่งยืน
กอบศักดิ์ชี้สหรัฐฯเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มความเสี่ยง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะเริ่มเติบโตได้ยากในภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อยๆจากการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดปี 2565 ไปจนถึงปี 2566
การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯในระดับที่ 0.75% ต่อเนื่องทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯเข้าใกล้ระดับ 4% ต่อปี ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯยังอยู่ที่ระดับ 8 – 9% สิ่งที่เราเห็นก็คือความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเงิน และตลาดทุนดัชนีหุ้นผันผวน มีการปรับตัวลดลงอย่างมากในตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ดัชนีลงมาต่ำกว่าระดับ 3 หมื่นจุด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยแม้จะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 1,600 จุด แต่ก็มีการพักฐานเป็นระยะๆ
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนแทบทุกสกุลเงินก็มีการอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการถือเงินดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐฯถือว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยเมื่อเกิดวิกฤติในแต่ละครั้ง ประกอบกับผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจ่ายให้มากขึ้นทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปที่สหรัฐฯจำนวนมากส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯแข็งค่าเพิ่มขึ้น
เตือนวิกฤติลามเข้าภาคเศรษฐกิจจริง
อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าก็คือวิกฤติที่เกิดขึ้นในตลาดเงิน ตลาดทุน จะลามเข้าสู่เศรษฐกิจจริง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะส่งผลต่อภาคการส่งออก เมื่อการส่งออกขยายตัวได้ลดลงหรือหดตัวในการส่งสินค้าออกในแต่ละไตรมาส ก็จะทำให้มีการลดกำลังการผลิตสินค้าลง ส่งผลต่อการจ้างงานที่จะเริ่มเห็นการลดคนงานลงในบางธุรกิจเกิดเป็นปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศได้ และประเทศที่มีผลกระทบมากก็คือประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีภาคเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแรงมีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก และมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืนในปริมาณที่สูง ที่สำคัญมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ฃ
“ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระดับโลกนี้ถือว่ามีความรุนแรงและจะเป็นการเกิดขึ้นครั้งที่ 5 ในรอบ 50 ปี โดยสัญญาณของปัญหาเศรษฐกิจที่จะได้เห็นคือการเริ่มปลดพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯและยุโรป ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) หลายประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินและต้องเข้าขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)”
ทั้งนี้การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลกจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นกัน โดยในปี 2566 จะเป็นปีที่การส่งออกจะไม่ได้ขยายตัวเหมือกับ 1 – 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีนต่างมีปัญหาเศรษฐกิจดังนั้นเครื่องยนต์การส่งออกจะไม่ได้ดีเหมือนกับในปี 2564 และ 2565 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ในระดับไม่น้อยกว่า 3% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องได้ในช่วงที่หลายประเทศจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ชี้เศรษฐกิจไทยมีทุนสำรองแข็งแกร่ง
นายกอบศักดิ์ระว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูง แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่า แต่เป็นการอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นๆเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นมากซึ่งการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท หรือไม่เข้าไปสู้กับการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯถือว่าตัดสินใจได้ถูกต้องแล้วเพราะค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการที่สหรัฐฯเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ การเก็บเงินทุนสำรองไว้ใช้ในช่วงเวลาที่จำเป็นถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
“อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยก็คาดว่าจะไม่ปรับตัวขึ้นสูงจนมากเกินไปเพราะ ธปท.ไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องของส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างเรากับสหรัฐฯแต่ให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งหากราคาน้ำมันและพลังงานปรับตัวลดลงในปีหน้าเงินเฟ้อของไทยจะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายได้ซึ่งทำให้แรงกดดันเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการการเงิน (กนง.) ลดลง”
ท่องเที่ยวช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยปีหน้า
ภาคส่วนที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกก็คือภาคการท่องเที่ยว และภาคการลงทุนซึ่งมีทิศทางที่ดีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเดือนละ 1.5 ล้านคน ทำให้ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน และในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากว่า 20 – 25 ล้านคน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น
อีกส่วนที่เศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงค์ก็คือการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนโดยตัวเลือกในการย้ายฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆในอาเซียนที่เป็น Gate Way ในการลงทุนยังคงเป็นไทยและเวียดนาม เห็นได้จากการตัดสินใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยของบริษัท BYD รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศจากประเทศจีนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัท WHA จ.ระยองในพื้นที่กว่า 700 ไร่ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสที่มีเงินลงทุนทางตรง (FDI) จากต่างประเทศเข้ามาอีกมาก
แนะเร่งสร้างความเชื่อมั่นดึงลงทุนจากต่างประเทศ
สิ่งที่รัฐบาลควรจะมีการเตรียมการในช่วงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนโดยจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ถูกต้องเกี่ยวกับความแข็งแรงและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีอยู่ ควบคู่กับการโรดโชว์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับนักลงทุนต่างประเทศเพื่อดึงดูดเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยระยะยาวในไทยตามเงื่อนไขของวีซ่า LTR ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งลงทุนโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่รัฐบาลมีแผนอยู่ให้เร็วขึ้นทั้งทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง โครงการอีอีซี และโครงการระเบียงพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะช่วยหนุนเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไปได้อย่างดี
นอกจากนั้นโครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซีที่ได้อนุมัติไปแล้วทั้งอีอีซี SEC ต้องมีการเร่งรัดเพราะทำให้ประเทศไทยจะมีแรงส่ง ในช่วงที่ต้องขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งดีกว่าการที่เอาเงินไปช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งในช่วง 2 ปีข้างหน้าเมื่อประเทศไทยมีแรงส่งจากเรื่องของการท่องเที่ยว FDI การลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นกว่าหลายๆประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย