เจาะนโยบายท่องเที่ยว เปิดผับถึงตี 4 ได้หรือเสีย อะไรคุ้มกว่ากัน
นอกจากสถานการณ์การเมืองจะร้อนปรอทแตก หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว เรื่องของการท่องเที่ยว ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน หลัง “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศดันนโยบาย ขยายเวลาเปิดผับ บาร์ สถานบันเทิง ยาวยันตี 4 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
แน่นอนว่า เรื่องดังว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือนโยบายที่เพิ่งคิดขึ้นมาในช่วงหลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เพราะจริง ๆ แล้วนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งประกาศเอาไว้ตั้งแต่รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมกับพรรคร่วมรัฐบาล เข้ามาบริหารประเทศ
ครั้งนั้นถ้าใครจำกันได้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” เป็นหัวหอกสำคัญที่ชงเรื่องให้นายกฯ ประยุทธ์ ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งแรก ๆ ว่าต้องการผลักดันเรื่องนี้ออกมากระตุ้นการท่องเที่ยว การใช้จ่าย โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ทั้ง เมืองพัทยา หัวหิน รวมไปถึงภูเก็ต และกระบี่
แต่ท้ายที่สุดแนวคิดนี้ก็ถูกเบรกเอาไว้ เพราะรัฐบาลทนแรงกระทบไม่ไหว จนเมื่อมาเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปี 2563 นโยบายนี้ เลยต้องถูกปิดตาย เพราะมีความเสี่ยงให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ของการระบาด เหมือนที่เกิดขึ้นมาช่วงโควิดระบาดใหม่ ๆ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์โควิด เริ่มจะคุมได้อยู่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็หยิบนโยบายนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุถึงเรื่องนี้ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ แม้ว่าเรื่องนี้จะอยู่คนละขั้วกับกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงความกังวลทั้งเรื่องสุขภาพ และการระบาดของโควิด แต่เจ้าตัวยืนยันในฐานะของเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มข้น ในการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งเป้าหมายก็คือ พาประเทศฟื้นจากโควิดให้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ รอบบ้าน
ทั้งที่แนวนโยบายอาจขัดกับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี ผู้คุมกระทรวงสาธารณสุข
โดยแนวคิดนี้ไม่ได้คิดแค่ลอย ๆ แต่เริ่มต้นแล้วอย่างเป็นทางการ เพราะ “พิพัฒน์” พร้อมคณะ ได้เดินสายลงพื้นที่หารือภาคเอกชน เจ้าของประกอบการ และชาวบ้านโดยรอบ เริ่มต้นจากวันฟูลมูน ที่ยกทีมลงไปยังเกาะพะงัน ในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวง 12 ส.ค. เพื่อติดตามข้อมูลจริงเอามาพิจารณาความเหมาะสมของโซนนิ่ง และสถานที่
เบื้องต้นตามแผนกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะปักธงเอาไว้ในสถานที่ท่องเที่ยวเป้าหมาย 8 จังหวัด นั่นคือ กรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย และ เชียงใหม่ โดยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมการท่องเที่ยว ตำรวจท่องเที่ยว และหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กำกับดูแลรวบรวมข้อมูล เมื่อได้ข้อสรุปค่อยชงศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ไฟเขียว
ไทม์ไลน์ตอนนี้ มองว่าอย่างเร็วที่สุดภายในเดือนก.ย. นี้ คงได้ข้อสรุปชง ศบค. เพื่อให้สามารถนำร่องจังหวัดที่จะเปิดสถานบันเทิงได้ถึง ตี 4 ภายในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ต่อเนื่องไปถึงช่วงต้นปีหน้า
ตามแผนคงไม่เสนอให้ขยายเวลาเปิดบริการถึง 04.00 น. ทั่วทั้งพื้นที่ดังกล่าว แต่จะระบุเฉพาะจุดเท่านั้น เช่น กรุงเทพฯ จะเป็นถนนข้าวสาร ภูเก็ตจะเป็นถนนบางลา บนหาดป่าตอง ตอนนี้ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ประประสานผู้ว่าราชการจังหวัดในเมืองท่องเที่ยวหลัก คุยกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการสถานบันเทิงในจังหวัด เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พร้อมผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแหล่งท่องเที่ยว บริเวณถนนข้าวสาร พร้อมทั้งหารือร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร และสถานบันเทิง และเตรียมประกาศให้ถนนข้าวสารเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก เพราะเบื้องต้นกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ถนนข้าวสาร ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ แต่สิ่งที่ต้องหารือต่อคือหากขยายเวลาแล้วจะต้องไม่ส่งเสียงดังรบกวนชุมชนโดยรอบ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องควบคุมให้ดี ไม่ให้เกิดการร้องเรียน
“การผลักดันเรื่องนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คิดมาอย่างดีแล้ว เมื่อมีโอกาสทำก็จำเป็นต้องทำ ตอนนี้ไม่ใช่เวลากลัว เพราะการจะฟื้นการท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ให้กลับมาขยายตัวได้ มีสิ่งอะไรที่ควรทำก็ต้องทำ และผลักดันออกมา ไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็คงตามประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจคงจะเติบโตไม่ทันแน่นอน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยืนยัน
ขณะที่ความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ แน่นอนว่ามีทั้ง “เห็นด้วย” และ “ปฏิเสธ” โดยในฝั่งของผู้ประกอบการเองแน่นอนว่า หากมองถึงการทำธุรกิจ ทั้งหมดก็สนับสนุนแนวคิดนี้แน่นอน อย่างเช่น “สง่า เรืองวัฒนกุล” นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ระบุว่า การขยายเวลาให้บริการถึงตี 4 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากรายได้ต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวและใช้จ่าย โดยถนนข้าวสารนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือ ชาวต่างชาติถึง 80% เพียงแต่ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยมากกว่า เพราะเพิ่งจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น และในอนาคตน่าจะมีต่างชาติเข้ามาเรื่อย ๆ และการขยายเวลาก็ทำเป็นโซน และมีระเบียบควบคุมชัดเจน
เช่นเดียวกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ระบุถึงเรื่องนี้ ว่า กทม.ก็สนุบสนัน เพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และยังช่วยลดธุรกิจสีเทา แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องดูเรื่องผลกระทบในทางลบด้วย เช่น การควบคุมไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แอบเที่ยว
ด้าน “นพ.แท้จริง ศิริพานิช” เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ท้วงเรื่องนี้แน่นอน โดยขอตั้งคำถามว่า มันจะคุ้มกันไหมหากแลกเรื่องของเศรษฐกิจ รายได้ของฝั่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น กับเรื่องของสุขภาพ เพราะการกินดื่มแอลกอฮอล์ทำร้ายร่างกายอยู่แล้ว และยังมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยต่อชีวิตที่จะควบคุมดูแลอย่างไร โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุ เพราะตัวเลขข้อมูลก็ชี้ชัดว่า การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย มีสาเหตุส่วนใหญ่จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สอดคล้องกับ “ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คัดค้าน เต็มที่และขอให้เปิดแค่ตี 2 เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็พอแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลล่าสุดของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุข้อมูลเอาไว้ในภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 2.3% เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะขยายเวลาการเปิดให้บริการของสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ และเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สามารถขายได้ถึงเวลา 24.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้ประชาชนมีการบริโภคมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามที่จะรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคยังไม่ปรับตัวลดลงมากนัก
ขณะเดียวกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อดึงดูดผู้ดื่มหน้าใหม่มากขึ้น ทั้งการปรับสูตรให้สามารถดื่มได้ง่ายขึ้น แต่งเติมกลิ่นและรสชาติของผลไม้ อาทิ พีช องุ่น เลมอน สตรอว์เบอร์รี โดยที่ลดหรือไม่ได้ลดปริมาณแอลกอฮอล์ลง รวมทั้งมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่สวยงามทำให้ภาพลักษณ์ไม่สื่อถึงการเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถถ่ายรูปได้ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการมีตัวตนบนโลกโซเชียลมีเดีย นิยมโพสต์ไลฟ์สไตล์ของตนเองลงในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
ทำให้เครื่องดื่มประเภทนี้สามารถดึงดูดกลุ่มผู้หญิง กลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Gen Alpha ที่จะเติบโตไปเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในอนาคตได้เป็นอย่างดี ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เยาวชนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการดื่มอยู่ที่ 15% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 13.6% ขณะที่อายุเฉลี่ยของการเริ่มดื่มครั้งแรกของผู้หญิง ลดลงจาก 23.7 ปีเป็น 22.9 ปี
อีกทั้งเครื่องดื่มประเภทนี้ยังมีการทำการตลาดผ่าน Nano และ Micro Influencers ซึ่งเป็นคนธรรมดาทั่วไป ทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือว่าได้มีการซื้อมาดื่มเองจริง ไม่ใช่เป็นการโฆษณา ผ่านการทำคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น YouTube Facebook Instagram หรือ Tiktok ซึ่งการพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามและหลากหลาย หาซื้อได้ง่าย อีกทั้งยังมีการท าการตลาดเพื่อจูงใจผู้บริโภคผ่านโซเชียลมีเดียที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย นั่นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่โดยเฉพาะผู้หญิงและวัยรุ่น
ดังนั้นจึงน่าติดตามต่อไปว่า นโยบายแบบสุดลิ่มแห่งความบันเทิงด้วยการฉีกกฎของสังคมไทย ขยายเวลาการเปิดผับ บาร์ สถานบันเทิง ไปจนถึงเช้ามืดจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่นานคงมีคำตอบ