“บิ๊กตู่” ทุ่ม 2.7 หมื่นล้านบาทดึงเศรษฐกิจพ้นปากเหว
สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน วิกฤตเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน อาหาร ที่ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลอย่างมากต่อการใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้ยังไม่รวมปัจจัยจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมครั้งต่อไปของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่ง เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท.ระบุว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือน และกำลังซื้อของประชาชนบางส่วน โดยการประเมินของ ธปท. พบว่าดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของครัวเรือนที่มีหนี้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.5% เทียบกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่ 3.6% ซึ่งมากกว่าผลของการขึ้นดอกเบี้ยกว่า 7 เท่าดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
ตั้งเป้าการบริโภคปีนี้ขยายตัว 3.9%
อย่างไรก็ตามในการประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาพบว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบกับเงินเฟ้อมากนัก โดยการบริโภคภาคเอกชนนั้นขยายตัวได้ถึง 3.9% เพิ่มสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 0.4% และขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2564 ทั้งปีที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้เพียง 0.3% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดหลายระลอกในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สศช.คาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3.9% เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ภาวะ ปกติมากขึ้น รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการดำเนินมาตรการของภาครัฐ อย่างต่อเนื่อง
เงินเฟ้อสูงอัตราดอกเบี้ยเพิ่มฉุดกำลังซื้อ
อย่างไรก็ตามจากปัญหาของเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมีผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของประชาชน และจะกระทบกับเป้าหมายการบริโภคภาคเอกชน ที่เป็นดัชนีชี้อย่างหนึ่งของเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของประชาชน และเนื่องจากการบริโภคขจองประชาชนจะถูกคิดเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีในส่วนของการบริโภค (Consumption) โดยหากไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือ เพิ่มกำลังซื้อ พยุงค่าครองชีพ ก็จะทำให้เป้าหมายในการบริโภคจับจ่ายของประชาชนในปีนี้ไม่ถึงเป้าหมาย และกระทบกับเศรษฐกิจโดยภาพรวมได้
จัดงบฯ2.7 หมื่นล้านบาทดูแลกำลังซื้อ
จากเหตุผลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกดังกล่าวจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกมาตรการในการกระตุ้น และพยุงกำลังซื้อของประชาชนในระยะ 2 – 3 เดือนข้างหน้าระหว่างเดือน ก.ย. – พ.ย. 2565 ผ่านชุดมาตรการ 3 มาตรการที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาวงเงินรวม 27,427 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้โควิด-19 เสนอ โดยใช้วงเงินจากพระราชกำหนดกู้เงินฯเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินการใน โครงการ ได้แก่
1.คนละครึ่ง ระยะที่ 5 (เฟส5) ที่กำหนดจำนวนผู้ได้รับสิทธิ 26.5 ล้านคน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์โดยภาครัฐช่วยจ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้า และบริการที่กำหนด ในอัตรา 50% ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. -31 ต.ค. 2565 โดยโครงการนี้ใช้เงินทั้งสิ้น 21,200 ล้านบาท
2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 หรือโครงการเติมเงินบัตรคนจน จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่เกิน 13.34 ล้านคน โดยช่วยเหลือเงินทั้งสิ้น 200 บาทต่อคน เป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็น 400 บาทต่อคน ใช้เงินทั้งสิ้น 5,336.83 ล้านบาท
และ 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ ระยะที่ 3 จำนวนไม่เกิน 2.22 ล้านคน ช่วยเหลือ 200 บาทต่อคน เป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็น 400 บาทต่อคน ใช้เงินทั้งสิ้น 890.88 ล้านบาท
ทั้งนี้หากรวมวงเงินทั้งหมดในการช่วยเหลือเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนเพื่อพยุงการบริโภค และทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ จากโครงการที่ใช้เงินกู้ แบ่งเป็น “มาตรการคนละครึ่ง” ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ ต.ค.2563 ถึง ต.ค.2565 รวม 5 เฟส ใช้วงเงินรวม 234,500 ล้านบาท ในขณะที่ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการนำมาใช้รวม 5 เฟส รวมวงเงิน 86,090 ล้านบาท
เผยรวมใช้เงินดูแล 45 ล้านคน 8.5 แสนล้าน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการพิจารณาที่การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางวิกฤตที่ยังคงอยู่ในโลก ในครั้งนี้เป็นมาตรการช่วยเหลือ ลดภาระค่าใช้ครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นการใช้เงินกู้ ในปี 2564
การช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลมีความต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี จนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจ ให้แก่ประชาชน ผู้มีรายได้น้อย แรงงานประกันสังคม ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ รวมกว่า 45 ล้านคน วงเงินรวมกว่า 854,000 ล้านบาท รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการจ้างงาน วงเงิน 280,000 ล้านบาท
คลังคาดดันจีดีพีได้ 0.13%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว่าการใช้เม็ดเงินกู้ฯเพิ่มเติมอีก 2.74 หมื่นล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศทำให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่ายรวมในวงเงินประมาณ 4.86 หมื่นล้านบาท ช่วยสนับสนุนจีดีพีได้ประมาณ 0.13% ทั้งนี้ เมื่อใช้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้จำนวนดังกล่าวแล้ว จะเหลือวงเงินในวงเงินกู้อีกประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท
“สาเหตุที่รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว แม้จะเจอปัญหาเงินก็ตาม แต่สถานการณ์โควิด ก็ยังมีการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ในแง่กำลังซื้อของประชาชนอาจจะไม่เพียงพอบวกกับราคาสินค้ายังแพง ขณะที่ พ่อค้าแม่ขายก็ยังไม่สามารถขายของได้ ฉะนั้น เมื่อใดที่มีมาตรการออกมา โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่ง การค้าขายก็จะคึกคักขึ้น ส่วนการที่เราให้วงเงินต่อรายที่ 800 บาท ก็เป็นการดูตามความจำเป็น เพราะช่วงที่ผ่านมา เราได้ใช้เงินไปมาก เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนขาดรายได้ ทางรัฐบาลก็จำเป็นต้องเอาเงินไปสนับสนุน แต่ตอนนี้ ประชาชนเริ่มกลับเข้ามาทำงานและมีรายได้เพิ่ม ฉะนั้น วงเงินที่ให้ก็ถือว่า ช่วยตามความจำเป็น”
ดูแลกลุ่มเปราะบาง–รายได้น้อย
นอกจากนี้การช่วยเหลือประชาชนโดยใช้มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ยังสอดคล้องกับแนวทางของ ธปท.ที่แนะนะให้การช่วยเหลือประชาชนในแต่ละครั้งเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ ไม่ใช่มาตรการที่จะเป็นการออกไปเพื่อช่วยเหลือทุกคนที่อยู่ในประเทศ เช่นเดียวกับที่มาตรการทางการเงินของ ธปท.ก็ไม่ใช่การช่วยเหลือทุกคน ทุกกลุ่มเหมือนกันทั้งหมด แต่เน้นไปที่การช่วยเหลือรายย่อยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเพิ่มมาตรการให้ตรงกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม
สำหรับกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ให้คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ถึงปี 2566 และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 12 เดือนออกไปอีก 1 ปี ถึงปี 2566 ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย จะปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของคลินิกแก้หนี้ โดยเพิ่มทางเลือกการผ่อนชำระเพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังชำระสามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น รวมทั้งจะมีการจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สำหรับบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ จำนำทะเบียน นาโนไฟแนนซ์ ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ด้วย