สัญญาณบวกเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ท่องเที่ยว – บริโภค หนุนจีดีพีปี 66 โต 4%
ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าเผชิญกับวิกฤติต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การระบาดที่เกิดขึ้นหลายระลอกส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หดตัวลง เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลายตัวแทบจะดับลงโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคของประชาชนและภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งเข้าสู่ปี 2565 ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันโควิด-19 การเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นคืนมาอย่างมีชีวิตชีวาทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวไม่น้อยกว่า 3% และแรงส่งทางเศรษฐกิจจะส่งผลไปยังปีหน้าที่เศรษฐกิจไทยมีลุ้นที่จะขยายตัวได้ถึง 4%
สภาพัฒน์ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 โต 3.7%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าในปี 2566 สศช. คาดการณ์ว่าจะเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% ต่อเนื่องจากในปี 2565 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5-3.5% (ค่ากลางอยู่ที่ 3%) โดยสมมุติฐานเศรษฐกิจในปี 2566 ของ สศช.ในระดับการขยายตัวที่ประมาณ 3.7% ถือว่าต่ำกว่าสำนักเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เฉลี่ย 4.3 – 4.5%
ทั้งนี้ สศช.มองว่าการค่อยๆฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากระดับ 3% ไปสู่ระดับใกล้เคียงกับ 4% นั้นเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่จะค่อยๆฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 7 – 10 ล้านคน
โดยภาคการท่องเที่ยวถือว่าเกี่ยวข้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมากเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยอย่างมากถึงประมาณ 60% ของจีดีพีทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาวะวิกฤติไม่ได้รวดเร็วมากเท่ากับหลายประเทศที่โครงสร้างการผลิตเกี่ยวข้องกับภาคการผลิต และการส่งออกมากกว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
“ในปี 2565 เป็นปีที่สำคัญที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า ที่ผ่านมาปีนี้มีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจหลายด้าน ได้แก่เรื่องของการแพร่ระบาดของเศรษฐกิจในต้นปี รวมทั้งสถานการณ์การสู้รบของรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลต่อสถานการณ์ราคาพลังงาน และอาหารที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในสหรัฐฯและในยุโรปทำให้ก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ได้มีการหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เพื่อสอบถามว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังสามารถที่จะขยายตัวได้ 3% หรือไม่ ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจยังให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3%”
เครื่องยนต์เศรษฐกิจท่องเที่ยว – บริโภคหนุน
ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ และมีแรงส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปถึงปี 2566 ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นแต่ยังคงถูกกดดันตจากปัญหาเงินเฟ้อ และราคาพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เราควบคุมไม่ได้แต่จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคการส่งออกที่ยังรักษาโมเมนตัมการส่งออกให้ต่อเนื่องได้ โดยการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น มีปัจจัยบวกในแง่การส่งออกอาหาร แต่ก็มีด้านลบด้วย กล่าวคือเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงขับเคลื่อนได้ค่อนข้างดี การลงทุนยังไปได้
ขณะที่ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบประมาณ 2% ในปีที่ผ่านมาจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการขาดรายได้จากการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมาจะคลี่คลายลงเมื่อมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะไม่เกิดขึ้น
ฟิทช์ เรทติ้งส์ มองพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแกร่ง
ทั้งนี้การคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 ของสภาพัฒน์สอดคล้องกับแถลงการณ์ของ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคของฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ได้แถลงว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะมีอัตราการเติบโตที่ 3.2% และในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีปัจจัยบวกในเรื่องการเปิดประเทศ และการอ่อนค่าของเงินบาทที่สนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น และอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งแนวโน้มของการฟื้นตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 – 2566 ทำให้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทยคงประมาณการอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ BBB หรือแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
สะท้อนถึงฐานะการเงินต่างประเทศของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งต่อเนื่องและมีกรอบนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งน่าจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและการภาวะเครดิตของโลกที่ตึงตัวมากขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้และในปีต่อไปด้วย
ส่วนผลการดำเนินงานของภาคธนาคารไทยในปี 2565 น่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่โอกาสที่ระดับการฟื้นจะดีกว่าคาดการณ์นั้นมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโรคระบาดโควิด-19 โดยฟิทช์ฯคาดว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้จากการที่มาตรการผ่อนปรนจะทยอยหมดอายุลงซึ่งกระทบกับหนี้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีความจำเป็นในการต่อสู้กับระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
แบงก์ชาติชี้ปี 66 เศรษฐกิจไทยโต 4.2%
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.2% ปรับเพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่ขยายตัวได้ประมาณ 3.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากในปี 2564 ที่จีดีพีขยายตัวได้ 1.6%
ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการทำประมาณการเศรษฐกิจในหลายส่วนที่จะมีการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ในปี 2565 ไปจนถึงปี 2566 ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนในปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.6% การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 4.5% การอุปโภคภาครัฐจะหดตัว 0.5% โดยเป็นการหดตัวลดลงจากระดับ 1.9% ในปี 2565 เนื่องจากมาตรการด้านสาธารณสุขของภาครัฐที่ใช้ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาลดลงตามลำดับ
ลุ้นปีหน้านักท่องเที่ยวเข้าไทย 19 ล้านคน
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 ธปท.คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศไทยถึงประมาณ 19 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2566 จะลดลงจาก 2.2% ในปี 2565 เหลือ 2.0% ตามระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง
ขณะที่การลงทุนภาครัฐในปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.4% ใกล้เคียงกับในปี 2565 ที่การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 3.5% มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.1% ชะลอตัวลงจากในปี 2565 ที่การส่งออกขยายตัวได้ประมาณ 7.9% โดยการส่งออกในปี 2566 จะขยายตัวจากฐานที่สูงในปี 2565 และการส่งออกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากมีการปรับฐานจากช่วงที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ส่วนการนำเข้าสินค้าในปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.5% ลดลงจากในปี 2565 ที่การนำเข้าสินค้าสูงถึงประมาณ 13.8%
แนวโน้มภาคเอสเอ็มอีเริ่มฟื้นตัว
อีกตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจคือดัชนีจีดีพีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก่อนหน้านี้ นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่าสถานการณ์ภาพรวมของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของเอสเอ็มอีต่อจีดีพีภาพรวมของประเทศในไตรมาสล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นจาก 34.5% เป็น 35% เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลงและรัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 สัดส่วนจีดีพีของเอสเอ็มอีจะปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่เป็นกิจการที่เป็นเอสเอ็มอีจำนวนมาก และจะมีการฟื้นตัวได้รวดเร็วเมื่อเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ
เฝ้าระวังโรคระบาดกระทบท่องเที่ยว
ทั้งหมดเป็นสัญญาณบวกของเศรษฐกิจไทยที่พอจะเห็นได้บ้างในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน และหลายปัจจัยกดดันต่างๆมากพอสมควร โดยสมมุติฐานทางเศรษฐกิจของไทยถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมากซึ่งยังถือว่ามีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังทั้งในส่วนของการแพร่ระบาดของโควิด-19สายพันธุ์ย่อย BA4,BA5 ที่มีการระบาดหนักขึ้นในสหภาพยุโรป และสิงคโปร์
ขณะที่ประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศ และผ่อนคลายให้มีการเปิดสถานบันเทิงที่เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ในวงกว้างได้ รวมถึงการระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิงที่แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีการรายงานการระบาดในประเทศไทย แต่ก็มีการพบโรคนี้ในหลายประเทศแล้วซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อภาคการท่องเที่ยว และเป็นความเสี่ยงของภาคเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน