เที่ยวสงกรานต์ซมพิษโควิด-ศก.เจ๊ง คนไทยเที่ยวใกล้บ้าน-เซฟค่าใช้จ่าย
อีกไม่กี่วันก็ถึงวันสงกรานต์ หลายคนคงอัดอั้นอยากเดินทางทั้งกลับบ้าน และท่องเที่ยว หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาต้องเจอข้อจำกัดจากโควิด-19 ที่ระบาดหนักหลายต่อหลายระลอก จะไปไหนไม่ได้ จะทำอะไรก็ถูกห้าม แต่ปีนี้เราได้เรียนรู้อยู่กับโรคระบาดร้ายมาจนภูมิคุ้มกันเริ่มแข็งแกร่ง ดังนั้นในปีนี้หลายคนจึงเลือกที่จะแพ็กกระเป๋าเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนากันหนาตากว่าทุกปี
กระทรวงคมนาคม ประเมินสถานการณ์การเดินทางในเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 คาดว่าจะมีคนใช้บริการระบบขนส่ง เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคน และสั่งเตรียมความพร้อมระบบขนส่งสาธารณะ ให้พอต่อการใช้บริการ ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. และการรถไฟแห่งประเทศไทย ประเมินว่า จะมีผู้เดินทางเฉลี่ยถึงวันละ 40,000 คน เลยทีเดียว
ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวเอง ปีนี้น่าจะดูคึกคักมากกว่าทุกปี ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินตัวเลขชาวไทยจะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3.34 ล้านคน-ครั้ง สร้างใช้จ่ายสร้างรายได้ หมุนเวียนในพื้นที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 41% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาจากช่วงปีใหม่ ที่เจอการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอย่างหนัก
ด้วยตัวเลขที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวนี้ น่าจะสร้างความหวังให้กับบรรดาผู้ที่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวได้ดีขึ้น แต่เดี๋ยวก่อน!! เพราะถ้าเข้าไปดูไส้ในของสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ก็เรียกว่า ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย
บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 ระหว่างวันที่ 13-17เมษายน 2565 รวมจำนวน 5 วัน ททท. ยอมรับว่า บรรยากาศทั่วไปประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจึงยังคงมาตรการเว้นระยะห่าง โดยพื้นที่ที่ขออนุญาต ก็เปิดให้สามารถจัดงานได้ แต่เน้นเรื่องประเพณี เช่น รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ การแสดงทางวัฒนธรรม ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting
พร้อมกำกับอย่างเคร่งครัดไม่ให้หละหลวม โดยขอให้งดการสาดน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ เรื่องนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ย้ำมาอีกครั้งหลังจากประชุมศบค. ครั้งล่าสุดเสร็จสิ้น บอกไม่ห้ามเล่นน้ำ ถ้าเล่นตามประเพณี ใช้ขันพรมใส่กันเบา ๆ แต่ถ้าไล่สาดกันล่ะก็ ขอร้อง!! และสั่งหน่วยงาน ในพื้นที่กำชับการเล่นน้ำอย่างดี อย่าให้เกิดกรณีปัญหา จนนำมาสู่คลัสเตอร์ใหม่ต้อนรับสงกรานต์
แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าการจัดงานสงกรานต์จะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ด้วยรัฐบาลไม่มีมาตรการห้ามเดินทางข้ามภูมิภาค รวมทั้งยังเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ เยี่ยมญาติ และถือโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกัน อีกทั้งได้รับแรงหนุนจากการจัดกิจกรรมในส่วนของททท. และจากการจัดงานของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่และเอกชน
ดังนั้นจึงประเมินเอาไว้ว่า อาจทำให้บรรยากาศโดยภาพรวมน่าจะมีความคึกคักในหลายพื้นที่ทั้งในเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองรอง เห็นได้จากผลสำรวจการเดินทางท่องเที่ยวของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยระบุว่า คนไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์มากที่สุด โดยวางแผนเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง 34% และเที่ยวข้ามภาค 32%
สมทบด้วยข้อมูลจากเพจท่องเที่ยว เช่น เที่ยวทั่วไทยไปไหนดี, มาคาเลียส เพื่อนพาเที่ยว พบว่า ส่วนใหญ่คนไทยจะออกเที่ยวพักผ่อนช่วงสงกรานต์และมีการจองที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม อาทิ พัทยา (ชลบุรี) โคราช (นครราชสีมา) เกาะช้าง (ตราด) และเชียงใหม่
ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ บรรยากาศน่าจะช่วยหนุนให้การท่องเที่ยวในประเทศยังคงเติบโตได้บ้าง!!!
“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า บรรยากาศสงกรานต์ปีนี้แม้จะมีความคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่พบการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ผนวกกับเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงเป็นเหตุผลที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางระยะใกล้ นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และปรับลดค่าใช้จ่ายทั้งในการเดินทางท่องเที่ยวและการซื้อของฝาก จึงทำให้จำนวนและรายได้ชาวไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19
ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพที่คนไทยนิยมขับรถเที่ยว อาทิ ชลบุรี นครราชสีมา กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ และนครนายก ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ระบุว่านักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่จะมองหาแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้เน้นการเดินทางสะดวกสามารถขับรถไปได้
ขณะที่พื้นที่ท่องเที่ยวระยะไกล โดยเฉพาะภูเก็ต ก็ได้รับความสนใจ เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม เงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน อีกทั้งสายการบินภายในประเทศและผู้ประกอบการโรงแรมที่พักจัดโปรโมชั่นราคาที่คนไทยเอื้อมถึง ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่คนไทยอยากไปเที่ยวก่อนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางกลับเข้ามาในพื้นที่เหมือนเช่นปีก่อนเกิดโควิด
นอกจากนี้เมื่อมองในมุมของจังหวัดที่มีสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่พักค้าง เกินกว่า 60% ในช่วงวันหยุดเทศกาลนี้ ได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา ภูเก็ต กาญจนบุรีอุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลจาก wiseinsight.com ที่ระบุว่าคนกรุงเทพฯ มีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์คิดเป็นสัดส่วน 79.8% โดยมีการเดินทางแบบไปพักค้างประมาณ 59.4%
ขณะเดียวกันจากการวิเคราะห์การพูดคุยในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 ยังพบ ข้อมูลน่าสนใจสนับสนุนอีกว่า คำที่มีการค้นมากที่สุด คือ สงกรานต์ และไปเที่ยว โดยแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกกล่าวถึงพร้อมกับคำว่า “สงกรานต์” มากที่สุดในสื่อออนไลน์ได้แก่ หาดพัทยา วัดพระธาตุพนมวรวิหาร วนอุทยานปราณบุรี และเกาะสมุย สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงวันหยุดยาวคนไทยยังคงวางแผนจะออกเดินทางท่องเที่ยว และเลือกที่จะไปแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ และแหล่งท่องเที่ยวศาสนา เพื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณี
มาดูแลนด์มาร์คสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่าง “ถนนข้าวสาร” กันบ้าง ล่าสุด “สง่า เรืองวัฒนกุล” นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ประกาศว่า จากการหารือผู้ประกอบการสมาชิกของสมาคมได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการจัดกิจกรรมงานเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากภาครัฐเข้มงวดและกำหนดกฎระเบียบ รวมถึงกำหนดการปรับในการกระทำหลายเรื่องจนมีข้อจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละร้านยังเปิดปกติ การบริการยังเปิดและปิดตามเวลาที่รัฐกำหนด
ส่วนบรรยากาศบนถนนข้าวสารและบริเวณใกล้เคียง น่าจะมีคนออกมาเดินเล่นและกินอาหารนอกบ้านมากกว่าปีก่อน ๆ เพราะตอนนี้เริ่มเห็นคนต่างชาติเข้ามา และจองห้องพักตามโรงแรมในบริเวณถนนข้าวสาร ประเมินเบื้องต้นว่า ปีนี้น่าจะมีเงินสะพัดประมาณวันละ 10 ล้านบาท ลดลงอย่างน่าใจหายจากช่วงพีค ๆ เคยมีเงินสะพัดถึงวันละ 50-80 ล้านบาท
ส่วนด้านการใช้จ่าย แน่นอนว่าด้านสถานการณ์การระบาดของโควิดอย่างนี้ ประจวบเหมาะกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว พลังการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงเทศกาลนี้ที่ภาคธุรกิจฝากความหวังเอาไว้ว้าจะเป็นช่วง “โกลเด้น ไทม์” อาจต้องผิดหวังไปและต้องทนกันไปอีกปี หลังจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาระบุตัวเลข การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลดลงจากปีก่อนหน้า 5.4% โดยมีเงินสะพัดเพียง 1.06 แสนล้านบาท เรียกว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี !!
พฤติกรรมการใช้จ่ายจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดของตนเองเป็นส่วนใหญ่ งดการเดินทางออกนอกพื้นที่ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดไกล ๆ เพราะคนไม่อยากจ่ายเงิน โดยเฉพาะยุคน้ำมันแพง และค่าครองชีพสูง รวมทั้งยังมีความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19
ด้วยแนวโน้มดังที่กล่าวมาทั้งหมดคงจะทำให้หลายคนเห็นบรรยากาศของเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไม่มากก็น้อย