ท่องเที่ยวสายบุญ ตัวแปรสำคัญฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ
ไม่กี่วันก่อนหลายคนคงภาพของคนจำนวนมากแห่ไปไหว้ พระราหูบริเวณ “เทวาลัยพระพิฆเนศ” สี่แยกห้วยขวาง กันจนแน่นขนัดตั้งแต่เวลา 20.00 น. เรื่อยไปจนถึงช่วงที่ดาวราหูจะย้ายในวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 02.24 น. ตามเวลาในปฏิทินโหราศาสตร์
ภาพที่เราเห็นสะท้อนเห็นถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง
อย่างแรก คือ ความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ของคนไทย ยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง แม้กาลเวลา และสมัยจะเปลี่ยนไปสู่โลกที่ใช้เทคโนโลยีและขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ ที่น่าสนใจ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ยังมีความเชื่อในเรื่องของโหราศาสตร์ เพิ่มมากขึ้น
อย่างต่อมา คือ การแสดงหาที่พึ่ง และการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยุ๋คู่กับจิตวิญญาณมนุษย์มาอย่างยาวนาน
อย่างสุดท้าย คือ ภาพของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตวิญญาณกำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่สถานที่ไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ยังตามมาด้วยสินค้า บริการ และสิ่งสำคัญคือ “การท่องเที่ยว”
ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งมักผูกกับเรื่องของการเดินทางไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มานานอยู่แล้ว แต่ตอนนี้กลับเด่นชัดมากขึ้น หลังจากหน่วยงานต่าง ๆ พยายามหาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism)
ขณะเดียวกันยังมักจะมีการกล่าวถึงในลักษณะของความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณหลายคำ เช่น การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา การท่องเที่ยวเชิงศาสนา หรือการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั่นก็คือการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณทั้งสิ้น
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แบ่งรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ออกเป้นแบบใหญ่ ๆ ดังนี้ แบบแรก เป็นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อจุดประสงค์ของการแสวงบุญ การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา ความเชื่อ และเพื่อยกระดับทางจิตวิญญาณของตน ส่วนใหญ่มักจะเป็นการเดินทางระยะไกล ใช้ระยะเวลานาน
ยกตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งควรเข้าร่วมอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต โดยในแต่ละปีมีคนเข้าร่วมมากกว่า 2 ล้านคน จากทั่วโลก เป็นต้น
อีกรูปแบบ เป็นการเดินทางเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางศาสนา และสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่มาจากความเชื่อ ความชื่นชอบ และความศรัทธา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะทางด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่จะรวมไปถึงทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และสถานที่ของบรรพบุรุษหรือถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ซึ่งกรณีนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยี่ยมชมอาจไม่ได้นับถือศาสนานั้น ๆ เป็นแต่เพียงความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น
การเที่ยวชมโบสถ์ในประเทศอิตาลีที่เป็นสถาปัตยกรรมล้ำค่า ที่มาพร้อมกับงานศิลปะที่มีชื่อเสียงมากมาย หรือกรุงเยรููซาเล็ม ประเทศอิสราเอล ที่ถือเป็นศูนย์กลางของศาสนายิว คริสเตียน และอิสลาม การท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญทางศาสนาที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศอินเดีย
หรือกรณีของประเทศไทย อาทิ ทัวร์ไหว้พระ 9 วัด ทัวร์เดินทางสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งในและต่างประเทศ และการทำบุญในสถานที่ต่าง ๆ เช่น งานกินเจ ภูเก็ต งานบุญบั้งไฟพญานาค งานแห่เทียนพรรษา และงานชักพระ ประเพณีทางใต้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถ้าจำกันได้ ประเทศไทยเคยเกิดปรากฏการณ์การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณมาแล้วครั้งใหญ่ ๆ ประมาณ 3-4 ครั้ง ครั้งแรกช่วงการบูมของ “จตุคามรามเทพ” ครั้งต่อมา กระแสไหว้ “ไอ้ไข่” วัดเจย์ดี จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือเดินทางไหว้พ่อปู่-ย่า พญานาคแห่ง “คำชะโนด” จังหวัดอุดรธานี และล่าสุดคือ “ท้าวเวสสุวรรณ” วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม
กระแสการเดินทางดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้ส่งผลให้เกิดเงินรายได้ลงไปยังพื้นที่เป็นอย่างมาก ช่วยสร้างอาชีพให้กับชาวชุมชนและจังหวัดโดยรอบจากการท่องเที่ยวที่บูมขึ้นมา และที่สำคัญอีกอย่าง คือ การกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ตลอดทั้งปี แม้จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น
ยืนยันด้วยตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเคยสำรวจข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณของไทย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า การท่องเที่ยวสายบุญ ในช่วงปีใหม่ 2564 ต่อเนื่องถึงดือนมี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเก็บตัวอย่าง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช จำนวน 406 ตัวอย่าง พบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากแหล่งท่องเที่ยวหลัก
โดยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เดินทางเป็นกรุ๊ปเล็ก ๆ เฉลี่ย 4 คน และมีความถี่ในการเดินทางเฉลี่ย 3 ครั้งต่อปี หากไม่มีปัจจัยอะไรต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบอย่างหนัก
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาถึงค่าใช่จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ พบว่า มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกคนละ 1,842.65 บาท โดยจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด คือ เชียงใหม่คนละ 2,755.92 บาท นครศรีธรรมราชคนละ 1,374.55 บาท และพระนครศรีอยุธยาคนละ 1,319.47 บาท
จากการสำรวจพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่เพื่อไหว้พระและทำบุญกว่า 66.5% เลือกไปเพราะประวัติความเป็นมาของพระประธานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด ส่วน 29.9% ไปเพราะประวัติความเป็นมาของสถานที่ ขณะที่ปัจจัยหลังที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ทำสมาธิหรือปฏิบัติธรรม 40% ยอมรับว่าเป็นเพราะความพร้อมของสถานที่ ส่วนอีก 32% ยอมรับว่ามีความสะดวกในการเดินทาง
นอกจากนี้เมื่อถามถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่เพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และแสวงโชคนั้นกว่า 59.9% ยอมรับว่าเป็นเพราะข่าวสารความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด และอีก 24.1% เป็นเพราะประวัติและความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอดีต และเมื่อถามนักท่องเที่ยวว่า จะแนะนำญาติ เพื่อน หรือคนรู้จักเข้ามาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณในจังหวัดที่สำรวจหรือไม่ คนไทยมากถึง 90.2% บอกว่าพร้อมแนะนำให้คนอื่น ๆ เดินทางมาเที่ยวด้วย
อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันจากนี้ หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปิดให้พื้นที่จัดงานสงกรานต์ ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับ ซึ่งอนุญาตให้เล่นน้ำและจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำด้ำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรีได้นั้น แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัดแล้ว
ก็น่าสนใจว่า การเดินทางท่องเที่ยวในเชิงจิตวิญญาณ หรือทัวร์สายบุญ สายมูต่าง ๆ น่าจะสร้างเงินสะพัดในพื้นที่หลายจังหวัดอีกมากอย่างแน่นอน