การท่องเที่ยวไทยเดินต่อยังไง? ภายใต้วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยทำท่าว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ หลังจากรัฐบาลเปิดให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งโดยไม่มีการกักตัว ในรูปแบบ Test & Go เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายกลับต้องเจอกับมรสุมรอบใหม่ หลังรัสเซียเปิดฉากถล่มยูเครน จนทำให้การท่องเที่ยวเกิดการการชะงักงัน โดยเฉพาะทางฝั่งของตลาดยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดเป้าหมายหลักของประเทศไทย
จากการประเมินตัวเลขล่าสุดของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เกี่ยวกับจำนวนและรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสแรก ปี 2565 อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีแนวโน้มว่า จะปรับลดลงจากตัวเลขเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 338,645 คน และสร้างรายได้ 26,065 ล้านบาท

เรื่องนี้ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ ททท. ออกมายอมรับว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสแรกมีแนวโน้มปรับลดลงมากถึง 30-40% จากเป้าหมายเดิม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายของไทยเชนกัน เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวรัสเซียจะลดลงแล้ว อาจส่งผลกระทบไปถึงการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากยุโรปอีกด้วย
สอดคล้องกับการประเมินของ กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างติดตามสานการณ์การบุกยูเครนของรัสเซียอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดบรรยากาศในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศต้องกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียในไทยที่มีการขยายเวลาการพักในไทยไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามเรื่องที่น่าเป็นห่วงไปมากกว่านั้น คือแม้ว่านักท่องเที่ยวจะขยายเวลาพักในไทยมากขึ้น แต่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอาจมีค่าใช้จ่ายในอัตราที่ลดต่ำลง เพราะปัจจุบันสถานบันการเงินของรัสเซียถูกคว่ำบาตร ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในระบบของวีซ่า และมาสเตอร์การ์ดไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องนี้มีส่วนสำคัญและจะกระทบต่อรายได้อย่างแน่นอน โดยจากนี้คงต้องติดตามและประเมินว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อต่อไปอย่างไรบ้าง
ความสำคัญของ “ตลาดรัสเซีย” ในปัจจุบัน มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากจำนวนตัวเลขในเดือนม.ค.-ก.พ.2565 นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 รวมทั้งสิ้น 41,375 คน โดยในเดือนม.ค.มีจำนวน 23,760 คน และในเดือนก.พ.อีก 17,615 คน ส่วนในช่วงก่อนหน้าจะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระหว่างปี 2560 – 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยถึง 1.3 – 1.4 ล้านคน
เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตความรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้ตอนนี้หลายชาติได้มีมาตรการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โดยเฉพาะเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีการตัดธนาคารพาณิชย์บางแห่งออกจากเครือข่ายการเงินระหว่างประเทซ (AWIFT) รวมไปถึงการปิดน่านฟ้าของสหภาพยุโรป (EU) ไม่ให้เครื่องบินพาณิชย์รัสเซียบินผ่านกรณีนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางสู่ประเทศไทย

สำหรบผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เห็นได้ชัดเจน มีด้วยกันดังนี้
1.ค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และมีผลทำให้ค่าใช้จ่านด้านารท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้นมนสายตาของชาวรัสเซีย
2.ผู้ประกอบการในรัสเซียชะลดการขายแพ็คเกจทัวร์ทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์
3.หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ มีโอกาสที่จะส่งผลระทบต่อการท่องเที่ยวไทยในระยะส้น ต่อเนื่องถึงระยะกลาง ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ก็ยังพอมีความหวังว่าสถานการณ์น่าจะคลี่คลายลงได้บ้างและอาจหลับมาปรับตัวดีอีกครั้งในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวแล้ว
มาดูตัวเลขข้อมูลของ “นักท่องเที่ยวจากยูเครน” กันบ้าง แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่มากเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรป แต่ก็นับว่าเป็นตลาดหนึ่งที่สำคัญที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ตัวเลขระหว่างปี 2560 – 2562 ประเทศไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวยูเครนถึง 6 – 8 หมื่นคน

ข้อมูลล่าสุดในปี 2565 พบว่า ในเดือนม.ค. – ก.พ. ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวยูเครนเข้ามาไทยสะสมแล้ว 4,101 คน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นในประเทศ หลังรัสเซียเคลื่อนกำลังทหารเข้ามาและรัฐบาลปิดน่านฟ้า นักท่องเที่ยวยูเครนที่เดินทางมาประเทศไทยได้ปรับลดลงทันที โดยตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.เป็นต้นมา ไม่มีนักท่องเที่ยวยูเครนเดินทางมาประเทศไทย
ด้วยสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มองข้ามช็อตไปตลอดทั้งปี 2565 ว่า น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจาก 2 ประเทศนี้หายไปประมาณ 1 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 1.8% ของแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งปีตามเป้าหมายที่ 5.5 ล้านคน และมีผลทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 6,000 ล้านบาท
ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาได้อีกครั้ง โดยอาจต้องมาทบทวนนโยบาย มาตรการ รวมทั้งแผนงานกันใหม่ทั้งหมด มิฉะนั้นหากปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเรื่อย ๆ ถึงตอนนั้นทุกอย่างอาจจะสายไปเสียแล้ว
