คนไทยเตรียมทำใจ ดบ.หลังปีใหม่ขึ้นแน่!
จะว่าไปแล้วสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ นักลงทุนรายใหญ่และใหญ่ หรือแม้แต่ ภาคประชาชนเอง ต่างก็ซึมซับรับกับข่าวที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เตรียมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากเดิมที่นิ่งมานานหลายปี ในระดับ 1.5% อีก 0.25% เป็น 1.75% มาโดยตลอด
พูดได้ว่า…ข่าวที่ออกมาจากเวทีการประชุม กนง. เมื่อช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมติของเสียงส่วนใหญ่จากเวที กนง. 5 ต่อ 2 เสียง เห็นควรให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโนบายอีก 0.25% สิ่งนี้ แทบไม่ “เซอร์ไพร้ส์” หรือส่งผลกระทบในวงกว้างมากสักเท่าใด?
ไม่เพียงแค่นั้น นักวิเคราะห์และกูรูด้านเศรษฐกิจมหาภาคหลายคนหลายองค์กร มองเห็นตรงกัน ก่อนหน้านี้ว่า…การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ครั้งแรกในรอบ 3 ปีเศษ จะต้องเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และอาจต้องปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ด้วยเหตุผลที่ว่า…กนง. และธปท. จำเป็นต้องมีเครื่องมือทางการเงินเอาไว้รองรับกรณีฉุกเฉินจากสถานการณ์ภายในและนอกประเทศ
อีกทั้ง พวกเขายังไม่ต้องการจะเห็นความต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ถูกถ่างมากขึ้นไปเรื่อยๆ หลังจากธนาคารสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วหลายรอบ และมีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยขึ้นมาอีก 2-3 ครั้งในปีหน้า ซึ่งนั่นทำให้ธนาคารกลางของประเทศในกลุ่ม “ตลาดเกิดใหม่” โดยเฉพาะในซีกของอาเซียน ที่จำต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ
สิ่งนี้…หาก ธปท. และกนง.นิ่งเฉยนานเกิน ก็อาจส่งผลร้ายต่อค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยน และระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปัญหา “เงินทุนไหลออก” ได้
แม้เหตุผลที่ AEC10NEWS หยิบยกขึ้นเป็นข้อสังเกตข้างต้น อาจถูกปฏิเสธจากทั้ง ธปท.และกนง. แต่สิ่งนี้…คนในแวดวงการเงินและการธนาคารต่างรู้กันดีว่า…“อะไรคืออะไร?”
ประเด็นของมันไม่ได้อยู่ที่ว่า…ธปท. และ/หรือ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่? แค่ไหน? และจะมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่หรือไม่? เพราะสิ่งนี้…สังคมไทย รับรู้และจับกระแสได้อยู่แล้ว
แต่สิ่งที่คนไทยรู้สึกเป็นกังวลใจมากกว่านั้น ก็คือ…ผลพวงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.มากกว่าว่า…จะเป็น “ตัวเร่ง” ให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ ต่างทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งในซีกของ “เงินกู้” และ “เงินฝาก” หรือไม่? อย่างไร? และแค่ไหน?
เพราะภาพในอดีต สังคมไทยมักจะได้เห็นอาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ภายหลังจากที่ กนง.ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นั่นคือ…การปรับขึ้นตามๆ กันไป และสัดส่วนของอัตราดอกเบี้ย จะเน้นหนักตรงที่ “ดอกเบี้ยเงินกู้” มากกว่า “ดอกเบี้ยเงินฝาก” ส่วนหนึ่งเพราะแต่ละธนาคารเอง ต่างก็ต้นทุนการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน
จังหวะที่สังคมไทยจะได้เห็นอาการ “จดๆ จ้องๆ” รอเวลานับถอยหลัง “ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย” ของธนาคารพาณิชย์นี่แหล่ะ ที่สร้างความกังวลใจต่อสังคมไทย โดยเฉพาะองค์กรภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป ที่ตกอยู่ในสภาพ “ลูกหนี้เงินกู้” เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น คือ เม็ดเงินนำจ่ายที่พวกเขาก็หามาเพิ่มให้กับ “แบงก์เจ้าหนี้”
แม้ผู้บริหารหลายคน ในหลายธนาคารฯ จะพูดทำนองเดียวกันว่า…ขณะนี้ ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ธนาคารพาณิชย์จะดำเนินการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่บางคนให้เหตุที่ฟังดูแล้ว ช่างแสนเสนาะหูยิ่งนัก ทำนอง...“การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้หรือเงินฝาก ถ้าจะเกิดขึ้น จะเป็นผลจากนโยบายการทำธุรกิจของแต่ละธนาคารเป็นหลัก”
ธนาคารบางแห่งให้เหตุที่ยังไม่มีนโยบายที่จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้ นั่นเพราะว่า… แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับตัวขึ้น แต่ธนาคารไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำกำไรระยะสั้น อีกทั้ง การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นอาจส่งผลกระทบด้านลบกับลูกค้า และสวนทางกับความตั้งใจของธนาคารที่อยากเห็นธุรกิจของลูกค้าฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งก่อน
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว! การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ขา…ดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝาก ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำเนินการ แม้จะไม่ในทันที แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า…คนไทยคงได้เที่ยวสนุกสนานตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่นั่นแหละ
หมดสนุกและกลับเข้าสู่โหมดความเป็นจริงเมื่อใด? โลกความเป็นจริงที่สังคมไทยจะต้องประสบพบเจอกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็เท่ากับที่ กนง.ประกาศขึ้นไปก่อนหน้านี้ที่ 0.25%
และมีแนวโน้มว่า…รอบนี้ ธนาคารขนาดใหญ่ ก็น่าจะเป็น “แกนหลัก” ในการประกาศขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้
รอบที่สังคมไทย…คงต้องทำใจกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หลังเทศกาลปีใหม่ นั่นเอง.