การลงทุนภาครัฐชดเชยหรือฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย?
การลงทุนภาครัฐกลายเป็นหวังต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า ชดเชยการส่งออกและท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ รัฐบาลไทยมีเงินลงทุนเพียงพอหรือไม่? และการเบิกจ่ายในโครงการรัฐจะยังล่าช้าอีกหรือเปล่า?
หากวัดผลจากมุมมองของนักวิเคราะห์หลายฝ่ายที่เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีหน้า น่าจะชะลอตัวลงจากปีนี้ เนื่องเพราะมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่า…เศรษฐกิจไทยที่เคยได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยภายนอก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แต่กับปี 2562 แล้ว ดูเหมือนเครื่องจักรสำคัญทั้ง 2 ตัว เริ่มจะผ่อนแรงลงตามสถานการณ์โลก
แม้จะมีมุมมองด้านบวกจากนักวิเคราะห์ทั้งในและนอกประเทศ ทำนอง…สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จะไม่ขยายผลทั้งในเชิงกว้างและลึก ต่อเนื่องและยาวนาน กระทั่งกลายเป็นปัญหาของโลก นอกเหนือจากประเทศคู่สงคราม
กระนั้น ทางอ้อม…ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะกลุ่ม Supply Chain ที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงบ้าง แต่จีดีพีของไทยในปีหน้า ก็ยังจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง จากคาดการณ์ 4.6-4.8% ในปีนี้ เหลือประมาณ 4.3-4.4% ในปี 2562
ส่วนหนึ่งเพราะฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัวกว้างขึ้น ดังนั้น หากอัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยลงบ้าง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
นั่นคือเหตุผลของฝ่ายที่สับสนุนแนวคิดที่ว่า…เศรษฐกิจไทยยังคงเข้มแข็ง
แน่นอนว่า…แนวคิดนี้ ได้รับแรงสนับสนุนมาจากแนวนโยบายของรัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนในหลายบิ๊กโปรเจ็กต์
โดยเฉพาะโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนแบบราง ทั้งรถไฟรางคู่รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง รวมถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ไม่เพียงจะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ในลักษณะการชดเชยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเท่านั้น
หากแต่ยังสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชน ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติในเมืองไทย สิ่งนี้ ย่อมเป็นแรงเสริมหลักในการผลักดันจีดีพีไทยให้เติบในระดับที่พอจะฝากความหวังได้บ้าง
อย่างไรก็ดี มีเสียงเตือนจากข้อสังเกตุของผู้บริหารแบงก์พาณิชย์รายใหญ่ อย่างน้อย 2 แห่งที่รู้สึกเป็นห่วงการลงทุนภาครัฐว่าอาจไม่เป็นเช่นที่หลายฝ่ายตั้งความหวังเอาไว้
2 ประเด็นที่พวกเขารู้สึกเป็นห่วง คือ เม็ดเงินที่จะนำมาใช้โครงการขนาดใหญ่เหล่านั้น เอาเข้าจริงรัฐบาลมีงบลงทุนจริงหรือไม่? ในเมื่อเงื่อนไขของการร่วมทุนในบางโครงการ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ได้ถูกต่างชาติ “ขีดเส้นใต้” เอาไว้…ต้องทำกับรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น รวมถึงเงินกู้จากต่างประเทศด้วย
ข้อห่วงใยประการต่อมาคือ หากรัฐบาลมีงบลงทุนจริง ระบบการเบิกจ่ายในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ยังจะล่าช้าตามระบบราชการอีกหรือไม่? ตรงนี้เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้เข้าประมูลงานภาครัฐรู้สึกกังวลใจอย่างมาก
ทั้งหมดจึงสะท้อนในมุมที่ว่า…หากการลงทุนภาครัฐไม่เป็นไปอย่างที่รัฐบาล คสช. ฉายหนังตัวอย่างเอาไว้แบ้ว ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศจะยังคงมีอีกหรือไม่?
หากภาคเอกชนไร้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยแล้ว ก็ไม่แน่ว่า…รัฐบาลชุดใหม่ที่แม้จะมาจากการเลือกในต้นปีหน้า จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ง่ายๆ ในเวลาที่ต้องการหรือไม่?.