กระตุ้นใช้รถ EV เพิ่มขึ้น ราคาต้องต่ำกว่า 8 แสน !!
ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการส่งเสริมของภาครัฐ หากราคารถอีวีต่ำกว่า 8 แสนบาท ความต้องการซื้อยิ่งโตแบบก้าวกระโดด แน่นอน
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อ 24 มีนาคม 2564 ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้เห็นชอบปรับเป้าหมายการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV )ของไทย
จากกำหนดเดิมที่วางเป้าหมายให้ปี 2573 สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เป็นสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี เป็น ในปี 2578 หรือ อีก 14 ปี ประเทศไทยจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 18.4 คัน
ส่งผลให้หลายฝ่ายตื่นตัว ออกแนวตกใจ กับการปรับเป้าหมายใหม่ครั้งนี้ และเร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ สถานีชาร์จ เพื่อรองรับประมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
จากการเปิดเผยของ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า จากตัวเลขย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน จากปี 2561 มียอดขายในประเทศเพียง 600 คัน ปี 2562 อยู่ที่ 802 คัน ปี 2563 มียอดขาย 2,079 คัน
และในปี 2564 คาดว่าจะมียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพิ่มขึ้น 188% หรือ ประมาณ 6,000 คัน เทียบกับปี 2563 ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เนื่องจาก หลายค่ายรถได้นำรถอีวี ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือ 1 ล้านบาทต้นๆ มาขายมากขึ้น
นายสุรพงษ์ ยังได้บอกว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการส่งเสริมของภาครัฐ แต่เป็นความต้องการของผู้บริโภคที่มีเงิน ต้องการลองเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นรถคันที่ 3-4
หากภาครัฐ สนับสนุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือปั๊มชาร์จ และราคารถอีวีสามารถถูกลงต่ำกว่า 8 แสนบาท เชื่อว่าทำให้ความต้องการซื้อรถอีวียิ่งโตแบบก้าวกระโดด และปี 2565 คาดว่าจะเกินหมื่นคันแน่นอน
ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ ส่งผลให้ภาครัฐต้องเร่งออกนโยบายเพื่อมารองรับ และปรับเป้าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เป็น 18.4 คัน ในปี 2578
เนื่องเพราะทิศทางยานยนต์โลกโดยยุโรปและญี่ปุ่น ได้ประกาศว่า ภายในปี 2579 รถที่ใช้พลังงานน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจะหมดไป ขณะที่ จีน กำหนดไว้ภายใน ปี 2578 รถที่ใช้พลังงานน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจะหมดไป
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การวางเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ทั่วถึง ประกอบกับการวางระดับราคาที่จับต้องได้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเร่งให้ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ทั้งยังระบุว่า จากทิศทางการขยับขยายของอุตสาหกรรมรถยนต์โลกไปสู่เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า และดูเหมือนสถานะของไทยเองในปัจจุบันก็ได้ถูกวางตำแหน่งให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการวางยุทธศาสตร์การผลิต และทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ของค่ายรถหลายสัญชาติ
ดังนั้นหากไทยสามารถรักษาสถานะดังกล่าวไว้ได้ ด้วยการเร่งสร้างความร่วมมืออย่างเหมาะสมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ อาจช่วยให้ไทยทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศได้ดี และยังส่งเสริมแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยรักษาความสามารถในการแข่งขันในการเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคได้ไม่ยาก
และปัจจัยสำคัญ นอกจาก มาตรการกระตุ้นตลาด เรื่องการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้า และมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค แล้ว
การสร้างความพร้อมของอุตสาหกรรมกำจัดซากรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศ และการออกแบบมาตรการจำกัดและลดปริมาณรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีที่เหมาะสมในอนาคต เพื่อลดความต้องการถือครองรถยนต์เก่าของผู้บริโภคลง และเพิ่มโอกาสหมุนเวียนรถยนต์ในตลาดให้มากขึ้น
ขณะที่ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ได้วิเคราะห์ ว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทยจะเติบโตได้จาก 3 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ 1.ตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่จะเพิ่มมากขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่ส่งผลให้ EV นำเข้าทั้งคันจากจีนได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า
2.ราคาแบตเตอรี่ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิต EV ที่ทยอยปรับลดลงต่อเนื่องตามพัฒนาการเทคโนโลยี
3. สำนึกต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหามลภาวะในเมืองโดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งไทยติดอันดับ 3 ในด้านความรุนแรงจาก 15 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ส่วนอุปสรรคที่จะฉุดรั้งการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมี 4 ประการ ประกอบด้วย 1.ราคารถยนต์ไฟฟ้า ที่ยังสูงและไม่คุ้มค่าต่อการใช้งานปกติ 2.มาตรการรัฐที่ยังไม่เอื้อต่อการสร้างฐานการผลิต รถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศ รวมถึงการคงภาษีนำเข้าแบตเตอรี่ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศเสียเปรียบด้านต้นทุน
3.สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุม และการขาดข้อกำหนดให้มีหัวจ่ายไฟตามอาคารที่พักอาศัย และ 4.แนวโน้มการใช้ชีวิตในเมืองที่พึ่งพารถยนต์ส่วนตัวน้อยลง
ซึ่งท้ายที่สุดแล้วตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศที่เติบโตได้ช้า อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไทยสูญเสียโอกาสในการเป็นผู้ผลิตยานยนต์สมัยใหม่ของโลก
ที่น่าสนใจ คือ ความเสี่ยงต่อภาคการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ไทยกำลังกลายเป็นฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายในแห่งสุดท้ายของอาเซียน จากโซ่การผลิตยานยนต์ที่แนบแน่นกับบริษัทรถจากญี่ปุ่นที่ยังไม่ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ถึงครึ่งหนึ่งของอาเซียนจึงมีต้นทุนในการปรับตัวสูงทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านแรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับทักษะและกฎหมายแรงงาน
บริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะรักษาฐานการผลิตรถ ICE หรือแม้แต่รวมการผลิตรถ ICE ในภูมิภาคมาไว้ในประเทศไทย ส่งผลให้ไทยจะยังเป็นฐานการผลิตรถ ICE ของบริษัทญี่ปุ่นในอาเซียนต่อไป สวนทางกับตลาด EV ในประเทศที่จะเติบโตจากการนำเข้าจากจีนที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี EV ในปัจจุบันเป็นหลัก
ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทั้งโซ่การผลิตสามารถขยับได้ไปพร้อมกัน และภาครัฐควรมีมาตรการ 3 ด้านเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่
1.กำหนดเป้ารถยนต์ไฟฟ้า ระยะสั้น-กลาง-ยาว และอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่ใหญ่เพียงพอ 2.ส่งเสริมการลงทุน และควรลดภาษีนำเข้าแบตเตอรี่และส่วนประกอบที่จำเป็นในระยะเริ่มต้น เพื่อวางฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศให้แข่งขันได้กับ รถยนต์ไฟฟ้า นำเข้า และ 3. ขยายโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งทั้งหลาย ทั้งมวล “บอร์ดอีวี” เองกำลังก็เร่งดำเนินการ ด้วยการตั้งอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อพิจารณาความต้องการใช้รถไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานอาทิ แบตเตอรี่ รวมถึงสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจ
อดใจรอกันอีกนิด เดือน พฤษภาคม นี้ เชื่อว่า บอร์ดอีวี น่าจะมีมาตรการดีๆ ออกมาให้ชื่นใจ อย่างแน่นนอน!!