ร่วมจำกัดจุดอ่อน! กฎกระทรวง “เรียกรถผ่านแอปฯ”
จุดโหว่! ร่างกฎกระทรวง “เรียกรถผ่านแอปฯ” ที่กรมขนส่งทางบก จำต้อง “สกัด” ก่อนร่วมสร้างปรากฏการณ์เดินคู่ไปกับนโยบายรัฐ “ยุคดิจิทัล” ท่ามกลางตำแหน่งใหม่ของประเทศไทยในยุค “สังคมไร้เงินสด – National e-Payment – Thailand 4.0
การทำประชาพิจารณ์ ผ่านช่องทาง “ออนไลน์” ที่ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม กับ ธุรกิจ “รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารผ่านแอปพลิเคชั่น” ( “เรียกรถผ่านแอปฯ” ) ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปก่อนนี้…
ถูกตอกย้ำอีกครั้ง! กับ ประชาพิจารณ์ในแบบ “ออฟไลน์” เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในแบบ เปิดหน้า…เห็นตัว ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 1 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ปมลึกๆ ที่ กรมการขนส่งทางบก ต้องเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ ทั้งในแบบ “ออนไลน์และออฟไลน์” เพราะขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ “เรียกรถผ่านแอปฯ” ที่ชื่อ…ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …. (ร่างกฎกระทรวงฯ)
กฎหมายตัวนี้ จะทำให้ธุรกิจ “เรียกรถผ่านแอปฯ” ถูกกฎหมาย หลังโดนโจมตีว่า…ภาครัฐปล่อยให้ธุรกิจประเภทนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ถือเป็นการทำลายธุรกิจ “แท็กซี่รับจ้าง”
ขณะที่ คนอีกกลุ่ม ซึ่งรู้สึกผิดหวังกับการปฏิเสธ “รับ-ส่งผู้โดยสาร” ของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม และ กลุ่มคนที่มองเห็นภาพอนาคตของเทคโนโลยี (แอปพลิเคชั่น) ต่อการเข้ามาเติมเต็มและแก้ปัญหารถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร กลับเรียกร้องให้ภาครัฐ เร่งออกกฎหมายทำให้ธุรกิจ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เป็นเรื่อง…ถูกกฎหมายโดยเร็ว
กอปรกับนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล ที่ต้องการเร่งรัดให้ ประเทศไทย ก้าวสู่ยุค “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) โดยเร็ว
จึงสั่งการให้…กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการ…สร้างนโยบาย National e-Payment (ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์) ของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศ สู่ Thailand 4.0
นั่นจึงเป็น วาระเร่งด่วน! ที่กรมการขนส่งทางบก จำต้องเร่งคลอดกฎกระทรวงฯฉบับนี้ออกมา
แต่การเกิดขึ้นของ ธุรกิจ “เรียกรถผ่านแอปฯ” ย่อมกระทบกับผู้มีส่วนได้เสีย! แน่นอนว่า…กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ย่อมสนับสนุนเป็นธรรมดา เช่นกัน…กลุ่มที่สูญผลเสียประโยชน์ จะต้องเดินหน้าคัดค้านอย่างที่สุด
การเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ครั้งล่าสุด ก็เช่นกัน มีกลุ่มคนคัดค้าน…ร่างกฎกระทรวงฯ ไม่น้อยกว่ากลุ่มที่สนับสนุน
ใครกันที่คัดค้านฯ? เว็บไซต์ AEC10NEWS สืบรู้มาว่า…กลุ่มหลักที่ค้านสุดลิ่มทิ่มประตู คือ เจ้าของธุรกิจให้บริการเช่ารถแท็กซี่ ไม่ว่าจะในนาม…บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือในนามกลุ่ม/องค์กรใดๆ ก็ตาม
พวกเขาจะปล่อยให้ธุรกิจ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เกิดขึ้นแบบถูกกฎหมายไม่ได้เป็นอันขาด! เพราะจะทำให้พวกเสียสูญเสียประโยชน์ไปเต็มๆ และเป็นจำนวนมหาศาล
การจัดตั้งและว่าจ้าง…สร้าง “แนวร่วมเฉพาะกิจ” ขึ้นมาต่อต้านร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้ จึงมีให้เห็น ทว่าสิ่งนี้…กรมการขนส่งทางบก รวมถึงคนที่มีใจเป็นกลาง ต่างล่วงรู้อย่างเท่าทันในพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้
จะว่าไปแล้ว เท่าที่พูดคุยกับ “ผู้ขับขี่รถแท็กซี่มิเตอร์” ส่วนใหญ่เห็นตรงกัน…การเกิดขึ้นของธุรกิจ “เรียกรถผ่านแอปฯ” ไม่ส่งผลกระทบต่อพวกเขามากนัก ด้วยเหตุที่พวกเขา…สามารถทำ 2 อย่างไปพร้อมกันได้ นั่นคือ เป็นเครือข่ายบริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ”คู่ขนานกับ ตีรถเปล่า…ให้ผู้โดยสารเรียกใช้บริการตามรายทาง
หรือที่พวกเขาเรียกกันเองว่าเป็น “อาหารเสริม /ไฮบริดจ์” ซึ่ง คนกลุ่มนี้…ไม่คัดค้านร่างกฎกระทรวงฯ และก็มีเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว!
โลกความเป็นจริง! ใช่ว่าจะมีแต่กลุ่มคัดค้านฯและสนับสนุน หากยังมี…คนกลุ่มกลางๆ ที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทางตรงทางอ้อมใดๆ กับ ร่างกฎกระทรวงฯ และธุรกิจ “เรียกรถผ่านแอปฯ” และยังเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ภาครัฐจะต้องรับฟัง!
คนกลุ่มนี้…น่าจะเป็น “ตัวชี้ขาด” คู่ขนานไปกับการเดินไปตามแผนงาน ในนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะ นโยบายที่จะยกระดับให้ประเทศไทย เข้าสู่ภาวะ “สังคมไร้เงินสด”, National e-Payment และ Thailand 4.0
แน่นอนว่า…ร่างกฎกระทรวงฯ ที่กรมการขนส่งทางบก กำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้คลอดออกมาเป็นกฎกระทรวง และมีสภาพบังคับใช้ฯ โดยเร็วนั้น เป็นสิ่งที่…ถึงอย่างไรมันก็จะต้องเกิดขึ้น! ไม่ช้าก็เร็ว
แม้ในเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ที่มี นายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดี (ฝ่ายบริหาร) กรมการขนส่งทางบก เป็นประธานฯ และมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯมากมาย อาทิ หน่วยงานในสังกัดกรมการขนส่งทางบก ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจทางหลวง กสทช. สคบ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ภาคประชาชนผู้ใช้บริการ กรมการท่องเที่ยว กลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่สาธารณะ ฯลฯ
…จะมีเสียงที่เห็นด้วยและคัดค้านฯ!!!
แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่…เสียงส่วนหนึ่ง ที่จะต้องนำไปพิจารณาประกอบกับเสียงอื่นๆ ก่อนหน้านี้ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่อิงกับภาพอนาคต ซึ่งเป็น “ภาพฉาย” จะต้องเกิดขึ้นอย่างมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม แม้ในกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับ ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวเอง ก็ยังมีมุมมองที่ไม่ได้สอดรับกับภาครัฐทั้ง 100%
เนื่องจากพวกเขา…ไม่ว่าจะเป็น ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัย CONC Thammasat ม.ธรรมศาสตร์ นายสุรพงษ์ สุขปูรณะ แล ะนายมารุต จันทะลือ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายรถยนต์รับจ้างแบบบริการทางเลือก (กลุ่มเครือข่ายฯ) หรือแม้แต่ ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บริษัท แกร็บ ประเทศไทย จำกัด
…ต่างมองเห็น จุดอ่อนและช่องโหว่ของ “ร่างกฎกระทรวงฯ” ฉบับนี้ โดยเฉพาะ ข้อ 3 ที่ระบุว่า “การรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก จะจดทะเบียนในจังหวัดใด จำนวนเท่าใด ให้เป็นไปที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
พวกเขาเห็นตรงกัน…ข้อ 3 ที่ว่านี้ เปรียบเสมือนเป็นการ “จำกัดโควตา” และอาจทำให้ กฎกระทรวงฯที่จะมีออกมา…กลายเป็นความล้าหลัง!
ทั้งที่เทคโนโลยีดิจิทัลวันนี้ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทั้งจำนวนผู้ให้บริการฯและจำนวนเที่ยวในแต่ละวัน ได้ทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง เจ้าของแอปฯและผู้ขับขี่ฯ สามารถวางแผนวันต่อวันได้เลยว่า…ควรจะนำรถออกมาให้บริการมากน้อยเท่าใด?
นี่ยังไม่นับรวมข้ออื่นๆ เช่น ข้อ.4 ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้จดทะเบียนรถรับจ้างแบบบริการทางเลือกได้แค่คนละหนึ่งคัน เพราะความเป็นจริงอาจมีบางคนที่มีรถมากกว่าหนึ่งคัน และ ข้อ 10. การกำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์ไม่เกิน 9 ปี โดยเสนอให้ขยายเวลาเป็น 10-12 ปี ตามความสมควรของประเภทรถยนต์
ทั้งหลายทั้งปวง กับ…มุมมอง ความคิดเห็น และเสนอแนะข้างต้น ย่อมน่าที่กรมการขนส่งทางบก จะต้องนำไปพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทั้งยังจะต้อง…อิงกับแนวนโนบายของรัฐบาล ซึ่งมีแผนจะวางตำแหน่งของประเทศไทย ก้าวสู่ยุค “ดิจิทัล”ในเร็วนี้.