อินเดียจัดงานศพทหารปะทะจีนที่พรมแดน
นิวเดลี (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ชาวอินเดียเผาภาพประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ขณะที่มีการจัดพิธีศพให้ทหาร 20 นายที่ถูกสังหารระหว่างการต่อสู้กับทหารจีนในบริเวณพื้นที่พิพาทหิมาลัยติดพรมแดนของทั้งสองประเทศ
โดย 3 วันหลังการปะทะเดือด กำลังทหารยังคงประจำการเฝ้าระวังที่หุบเขากาลวาน ในภูมิภาคลาดักทางตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งทางการอินเดียระบุว่าฝ่ายจีนเองก็มีทหารเสียชีวิตเช่นกัน แต่จีนไม่ให้รายละเอียดว่ามีทหารเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้
Subrahmanyam Jaishankar รมว.ต่างประเทศอินเดียมีการพูดคุยกับหวังอี้ รมว.ต่างประเทศของจีนเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. และทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่ยกระดับความรุนแรง และจะมุ่งส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพระหว่างกันในพื้นที่พิพาท
เจ้าหน้าที่อินเดียให้ข้อมูลว่า ผู้นำกองทัพของทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยตกลงกันในวันที่ 18 มิ.ย. เพื่อลดความตึงเครียด แต่ก่อนหน้านี้ รมว.ต่างประเทศของทั้งจีนและอินเดียต่างกล่าวโทษกันว่าเป็นต้นเหตุการประทะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 53 ปี และเรียกร้องให้มีการควบคุมกำลังทหารของตัวเอง
“จีนจำเป็นต้องประเมินท่าทีของตัวเองใหม่ และมีปฏิบัติการที่ถูกต้อง” กระทรวงต่างประเทศอินเดียยกคำพูดของรมว. Jaishankar ที่กล่าวกับรมว.หวังอี้มาแถลง
กระทรวงต่างประเทศของจีนระบุว่า อินเดียต้องรับผิดชอบสำหรับความขัดแย้งและการควบคุมกำลังทหารในแนวหน้า
กลุ่มรักชาติหัวรุนแรงที่มีความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียได้เรียกร้องให้ประเทศมีการบอยคอตสินค้าจีน และยกเลิกการทำสัญญากับบริษัทจีน
ทั้งนี้ แบรนด์สมาร์ทโฟน Oppo ได้ตัดสินใจยกเลิกการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงในอินเดียไปก่อนเช่นกัน
ผู้คนในงานศพร่วมกันตะโกนว่า “ชัยชนะของอินเดีย ” ต่อหน้าร่างไร้วิญญาณของพันเอก B.Santosh Babu ซึ่งเป็นทหารอินเดียที่มียศสูงสุดที่เสียชีวิตจากการปะทะ ขณะรถบรรทุกศพที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เคลื่อนขบวนไปยังบ้านเกิดของเขาคือเมือง Suryapet ทางใต้ของอินเดีย ขณะที่จะมีการจัดพิธีศพให้กับทหารนายอื่นที่เมืองเกิดและหมู่บ้านของเขา
ประชาชนเมือง Kanpur ทางเหนือของอินเดียมีการเผาภาพประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และร้องตะโกนคำขวัญต่อต้านจีน และในเมือง Cuttack ทางตะวันออกของอินเดีย มีการเผาภาพประธานาธิบดีสีและธงชาติจีนเช่นกัน
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. รัสเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งสองประเทศระบุว่า หวังว่าจีนและอินเดียจะยอมรับซึ่งกันและกันเพื่อส่งเสริมความมั่นคงที่พรมแดน
ความตึงเครียดที่มีกับจีน (ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าอินเดีย 5 เท่าและใช้เงินงบประมาณด้านกำลังทหารมากกว่าอินเดีย 3 เท่า) ในด้านกองทัพ กลายเป็นความท้าทายนโยบายต่างประเทศที่ตึงเครียดที่สุดที่นายกฯโมดีต้องเผชิญ นับตั้งแต่เข้าสู่อำนาจในปี 2557
จากแนวคิดชาตินิยม ทำให้นายกฯโมดีได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำของอินเดียอีกเป็นสมัยที่สอง โดยเขาชูนโยบายความมั่นคงของชาติ หลังจากมีความตึงเครียดกับปากีสถาน ศัตรูคู่อาฆาตเดิมที่พรมแดนตะวันตก
หลังเหตุปะทะรุนแรงเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นายกฯโมดีถูกกดดันจากฝ่ายค้านและสื่ออินเดียให้มีท่าทีเด็ดขาดกับจีน โดยจีนและอินเดียต่อสู้กันที่พรมแดนเมื่อปี 2505 และมีการปะทะกันเป็นระยะ
ภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้ในช่วงปี 2533 ทั้งสองฝ่ายระบุว่า จะไม่ใช้กำลังทหารใกล้พรมแดน แต่เมื่อคืนวันที่ 16 มิ.ย. มีการต่อสู้ปะทะกันนานหลายชั่วโมง