ปิดไฟลดโลกร้อน
วันที่ 19 มี.ค. ผู้คนจะเห็นโอเปราเฮ้าส์และสะพานฮาเบอร์ในนครซิดนีย์สวยงามในความมืดช่วงระหว่าง ‘เอิร์ธ อาวเออร์’ หรือปิดไฟลดโลกร้อน นับเป็นการรณรงค์ที่ประสบผลสำเร็จไปทั่วโลก
ผู้คนหลายล้านคนจาก 178 ประเทศทั่วโลกและอีกหลายอาณาเขต ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมในแคมเปญ‘เอิร์ธอาวเออร์’ หรือปิดไฟลดโลกร้อนในปีนี้ ที่อนุสาวรีย์และอาคารสถานที่สำคัญในประเทศต่างๆ เช่น หอไอเฟล ตึกไทเป 101 และตึกเอ็มไพร์สเตท เพื่อปิดไฟและอยู่ในความมืดเป็นเวลา 1 ชั่วโมงในเวลา 20.30 -21.30 น.
แคมเปญรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม‘ปิดไฟเพื่อโลกร้อน’นี้เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ในปี 2550 โดยบรรดาอาคารที่ตั้งอยู่ริมอ่าวซิดนีย์ต่างพากันปิดไฟเพื่อเข้าร่วมในโครงการนี้มาเป็นเวลานานถึง 10 ปีติดต่อกันแล้ว
นายแซม เว็บบ์ ผู้จัดการโครงการเอิร์ธอาวเออร์ในออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ” เราเพิ่งเห็นสะพานฮาเบอร์ปิดไฟ และตึกที่อยู่รอบๆด้วย เป็นเรื่องดีมากๆ”
นายซิดดาร์ธ ดาส ประธานบริหารแคมเปญเอิร์ธอาวเออร์ทั่วโลก กล่าวว่า คณะผู้ริเริ่มจัดทำโครงการรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นว่า การรณรงค์ประสบความสำเร็จและมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ครั้แรกในเมืองซิดนีย์ในปี 2550
โดยเขาให้สัมภาษณ์สื่อทางโทรศัพท์เนื่องจากเขาอยู่ในสิงคโปร์ว่า “จากเมืองหนึ่งขยายตัวไปมากกว่า 178 ประเทศใน 7,000 กว่าเมือง เรารู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นคนหลายล้านคนทั่วโลกเข้าร่วมเพื่อช่วยสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้ดีขึ้น”
นายดาส ให้ความเห็นว่า ผู้คนให้ความสนใจและแสดงออกในการมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่มีการประชุมเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในกรุงปารีสเมื่อปีที่แล้ว
ผลการประชุมที่เรียกว่า ‘ข้อตกลงปารีส’ ตั้งเป้าที่จะลดอุณหภูมิโลกร้อนให้ต่ำลง 2 องศาเซลเซียส และมีเป้าหมายที่ยากยิ่งขึ้นคือลดอุณหภูมิให้ต่ำลงอีก 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้
โดยนายดาสให้ความเห็นว่า ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับผลของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมากกว่าในปีที่แคมเปญเอิร์อาวเออร์เริ่มต้นขึ้น ทำให้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นหัวข้อส่วนบุคคลที่ขยายวงกว้างมากขึ้น นายดาสกล่าวว่า
“ไม่มีใครปฏิเสธความจริงได้ว่า โลกเรากำลังมาถึงทางแยกสำคัญในเรื่องสภาพอากาศแล้ว แต่ในขณะที่เรากำลังมองเห็นผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปชัดเจนยิ่งขึ้น เราก็ได้เห็นแรงขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่เป็นรูปธรรมผ่านหลายพรมแดนและคนหลายวัยมากขึ้นเช่นเดียวกัน”
“ผมคิดว่ามีความตื่นตัวที่เข้มข้นขึ้นในระดับบุคคลและรัฐบาลในแต่ละประเทศที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเรื่องสภาพอากาศและจะต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเต็มที่”
นายดาส ยังเสริมว่า ผู้จัดทำโครงการเอิร์ธอาวเออร์ไม่ได้เก็บสถิติทั่วโลกว่าพลังงานที่ประหยัดได้ในช่วง 1 ชั่วโมงนี้คือเท่าไร เนื่องจากต้องการให้เป็นแคมเปญที่แสดงสัญญลักษณ์ของความตั้งใจ และเป็นช่วงเวลาของการรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะแก้ไขปัญหาของโลกด้วยกัน.