ศก.ญี่ปุ่นหดตัวจากภัยธรรมชาติ/ส่งออก
เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงในไตรมาส 3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการส่งออกที่ลดลง ส่งสัญญาณน่ากังวลว่านโยบายการกีดกันทางการค้าเริ่มส่งผลกับดีมานด์ต่างประเทศ
โดยตัวเลขการหดตัว 1.2% ต่อปีในไตรมาสเดือนก.ค. – ก.ย. สูงกว่าค่าประเมินเฉลี่ยคือ 1.0% ต่อปี หลังจากไตรมาสก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีตัวเลขการเติบโตสูงถึง 3.0%
การลดฮวบลงของดีมานด์ในประเทศเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด เนื่องจากในปีนี้ ญี่ปุ่นถูกพายุไต้ฝุ่นถล่มอย่างรุนแรงหลายลูก และยังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ทำความเสียหายกับโรงงานและส่งผลกับการบริโภค แม้นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าอุปสรรคขัดขวางเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว และการลดดิ่งลงของการส่งออกยิ่งสร้างความกังวลมากขึ้น
ขณะที่ดีมานด์จากต่างประเทศ (หรือส่งออกลบด้วยนำเข้า) ส่งผลทำให้ตัวเลข GDP ลดลง 0.1% ซึ่งตัวเลขตรงกับค่าประเมินเฉลี่ย แต่ข้อมูลชี้ว่าการส่งออกลดลง 1.8/% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการลดดิ่งลงอย่งรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 3 ปี
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตในไตรมาสปัจจุบัน แต่การส่งออกที่ลดลงชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวขึ้นอาจถูกสั่นคลอนจากการกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันกับรัฐบาลมากขึ้นที่จะหันไปสู่มาตรการกระตุ้นการใช้งบประมาณ
“ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวโดยได้แรงขับเคลื่อนสำคัญจากดีมานด์ในประเทศ ” โทชิมิตสึ โมเทหงิ รมว.เศรษฐกิจระบุในแถลงการณ์หลังเผยแพร่ข้อมูลนี้
“ การส่งออกที่เกี่ยวกับไอทีในเอเชียชะลอตัวลงจากช่วงฤดูใบไม่้ผลิ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องระมัดระวังถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้า และแนวโน้มการเติบโตของจีนมีผลกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ” เขากล่าว
ข้อมูลจากสำนักคณะรัฐมนตรีชี้ว่า GDP ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเท่ากับตัวเลขประเมินเฉลี่ย และมีการปรับแก้ตัวเลขเป็น 0.8% ในไตรมาสเดือนเม.ย. – มิ.ย.
การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 60% ของ GDP ปรับลดลง 0.1% ในไตรมาสเดือนก.ค. – ก.ย. น้อยกว่าค่าประเมินเฉลี่ยว่าจะลดลง 0.2% ขณะที่ตัวเลขในไตรมาสก่อนเติบโต 0.7%
รายจ่ายเพื่อลงทุน หรือ Capex ลดลง 0.2% เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี ค่าประเมินเฉลี่ยที่เป็นไปเพื่อรายจ่ายในการลงทุนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดย Capex เพิ่มขึ้น 3.1% ในไตรมาสเดือนเม.ย. – มิ.ย.
ในเดือนก.ย.เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดไฟดับบนเกาะฮอกไกโด หลังจากเกิดพายุไต้ฝุ่นรุนแรงที่ทำลายสนามบินและโครงสร้างพื้นฐานขนส่งทางตะวันตกของญี่ปุ่น
โดยนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ธุรกิจฟื้นตัวกลับมาดำเนินการได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลกระทบด้านลบจากภัยพิบัติเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ
กำลังมีความกังวลมากขึ้นกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก เพราะส่งผลกระทบกับการส่งออกของญี่ปุ่นทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็น
“ ตัวเลขส่งออกที่ลดลง ไม่สามารถอ้างว่าเกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหมด ” ฮิโรอากิ มูโตะ จากศูนย์วิจัยโตเกียว Tokai กล่าว
“ นอกจากภัยธรรมชาติ การส่งออกไปจีนก็ชะลอตัวลง ที่สำคัญคือเศรษฐกิจจีนกำลังซบเซาลง หมายความว่าการส่งออกของญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงเพื่อฟื้นตัวขึ้น และการเติบโตจะชะลอตัวลงประมาณช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ”
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะสั่งการให้รมว.ในคณะรัฐบาลรวบรวมโครงการใช้จ่ายงบประมาณด้านสาธารณูปโภคใหม่ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของดีมานด์ทั่วโลก ถือเป็นการขานรับตามปกติจากพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยของรัฐบาลที่มีต่อความตกต่ำ
ทั้งนี้ รัฐบาลยังกังวลถึงการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีกำหนดจะปรับขึ้นทั่วประเทศในเดือนต.ค.ปีหน้าว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านลบกับเศรษฐกิจ จึงคาดหวังว่าการใช้จ่ายงบประมาณจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ.