อินเดียโต้ไม่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง
ผลสำรวจที่จัดทำโดยมูลนิธิธอมป์สัน รอยเตอร์จัดอันดับให้อินเดียเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง ตามมาด้วยอัฟกานิสถาน ซีเรีย และซาอุดิอาระเบีย แต่ความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ?
โดยโพลล์ที่ทำการสำรวจผู้เชี่ยวชาญ 548 คนจาก 6 ตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน ทั้ง สาธารณสุข การเลือกปฏิบัติ ประเพณีวัฒนธรรม ความรุนแรงทางเพศและไม่ใช่ทางเพศ และการค้ามนุษย์ โดยครั้งแรกมีการถามพวกเขาให้บอกชื่อ 5 ประเทศที่อันตรายที่สุดจาก 193 ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ และจากนั้นก็ถามชื่อประเทศที่เลวร้ายที่สุดในแต่ละประเภท โดยอินเดียมีคะแนนสูงสุดใน 3 หัวข้อคือ ประเพณีวัฒนธรรม ความรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ เมื่อ 7 ปีก่อน ในโพลล์ในแบบเดียวกันนี้จัดให้อินเดียอยู่อันดับ 4 ขณะที่อัฟกานิสถานอยู่ในอันดับ 1
ผลสำรวจครั้งใหม่นี้ถูกอินเดียวิจารณ์หนัก โดยมีการตั้งคำถามมากมายว่าประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย และอัฟกานิสถาน ซึ่งให้สิทธิสตรีน้อยมากกลับมีคะแนนที่ดีกว่าอินเดีย
คณะกรรมาธิการสตรีแห่งชาติของอินเดียไม่ยอมรับผลสำรวจนี้ โดยระบุว่า หลายประเทศที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงกลับได้คะแนนดีกว่า อินเดีย โดยพวกเธอยังชี้ว่าการข่มขืน การคุกคาม และรูปแบบความรุนแรงอื่นๆที่มีต่อผู้หญิงที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นในอินเดียเพราะมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีมากขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่พอใจอย่างรุนแรงกับประเด็นนี้
กระทรวงพัฒนาสตรีและเด็กระบุในแถลงการณ์ว่า การใช้โพลล์ความคิดเห็นเพื่อปักหมุดอินเดียว่าเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิงเป็นความพยายามที่จะกล่าวหาให้ร้ายประเทศอินเดียอย่างชัดเจน และดึงความสนใจไปจากการปรับปรุงพัฒนาประเทศอินเดียที่เกิดขึ้นจริงในช่วงไม่กี่ปีมานี้
ผลสำรวจขึ้นอยู่กับความเห็นและคำตัดสินจากผู้เชี่ยวชาญ 548 คน ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิชาการ ส.ส. ผู้สื่อข่าว และบุคคลที่ทำงานในด้านสาธารณสุข หรือภาคส่วนพัฒนาอื่นๆ
อินเดียเป็นประเทศที่อันตรายกว่าอัฟกานิสถาน ซีเรีย และซาอุดิอาระเบียจริงหรือ ?
รัฐบาลตั้งคำถามกับผลสำรวจของรอยเตอร์อย่างรวดเร็ว แต่จากข้อมูลของสำนักงานสถิติอาชญากรรมในปี 2559 ชี้ชัดว่า ทุกๆ 13 นาที จะมีผู้หญิงอินเดีย 1 คนถูกข่มขืน / ผู้หญิง 6 คนถูกแก๊งทรชนรุมโทรมทุกวัน / ผู้หญิงถูกฆาตกรรมเพื่อเอาสินสอดทุก 69 นาที และมีผู้หญิงถูกสาดน้ำกรด 19 คนทุกเดือน
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานคดีนอกจากนี้อีกนับพันที่เป็นคดีคุกคามทางเพศ ติดตามสะกดรอย ถ้ำมอง และความรุนแรงในครอบครัว
“ มันไม่เกี่ยวกับอันดับหรอก สังคมของเราปกครองโดยคนที่เกลียดผู้หญิงและผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว ” ซาเกีย โซมาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ตอบแบบสำรวจ กล่าวกับสื่อ BBC
“ เราต้องใช้ผลสำรวจนี้เพื่อจิตวิญญาณที่ถูกต้อง เราต้องวิเคราะห์มันเพื่อสะท้อนความจริง ไม่อย่างนั้นสังคมของเราจะเดินผิดทาง ”
เธอเสริมว่าไม่มีใครคาดหวังว่าผู้หญิงจะมีชีวิตง่ายๆ ในหลายประเทศ ทั้งโซมาเลีย หรือซาอุฯ แต่พวกเขาคาดหวังอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้นจากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างอินเดีย
เป็นเรื่องที่ยุติธรรมหรือไม่ที่เปรียบเทียบอินเดียกับหลายประเทศอย่างซาอุฯ ซึ่งสิทธิของผู้หญิงถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ?
“ เป็นที่รู้กันว่า ผู้หญิงในซาอุฯ ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ในแง่ของสิทธิ ” น.ส.เวอร์มากล่าว “ แต่ความจริงที่ว่า ทางการอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ไม่กี่วันก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณของความหวัง สำหรับฉัน มันแสดงให้เห็นว่าประเทศกำลังมีการเปลี่ยนแปลงวและก้าวไปข้างหน้าด้วยตัวเอง ”
“ มันยากที่จะเปรียบเทียบกับอินเดีย แต่หากเรามองดูจริงๆ เราจะเห็นว่าอินเดียไม่มีอะไรเปลี่ยนมากนัก ”