โสมแดงปลดอาวุธนิวเคลียร์ไม่ใช่เพราะสหรัฐฯ
เกาหลีเหนือระบุเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ว่า ความตั้งใจที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่เผยในการประชุมของผู้นำสองเกาหลีไม่ได้เป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตรและการกดดันจากสหรัฐฯ โดยเตือนสหรัฐฯว่าอย่าทำให้คนเข้าใจผิด
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่องจากสหประชาชาติและสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์และทดสอบขีปนาวุธ
ประธานาธิบดีคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือและประธานาธิบดีมุนแจอินแห่งเกาหลีใต้ให้คำมั่นที่จะมีการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีโดยสมบูรณ์ในการประชุมครั้งแรกระหว่างสองเกาหลีเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่การประกาศยังไม่มีขั้นตอนที่ชัดเจนที่จะทำให้บรรลุตามเป้าหมาย
สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือรายงานว่า วอชิงตันบิดเบือนความเห็นของสาธารณชน ด้วยการอ้างว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตรและการกดดันจากสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ไม่ควรมีเจตนายั่วยุเกาหลีเหนือด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ยุทธศาสตร์การรบในเกาหลีใต้และยกประเด็นสิทธิมนุษยชนขึ้นมา สำนักข่าว KCNA รายงานโดยอ้างถึงถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงต่างประเทศ
“ ท่าทีเช่นนี้เป็นความพยายามที่จะทำลายบรรยากาศของการพูดคุย และทำให้สถานการณ์กลับมาสู่จุดเริ่มต้น ” อ้างอิงจากถ้อยแถลงของโฆษก
หากทางวอชิงตันไม่ประเมินพลาดถึงเจตนาความรักในสันติภาพของเกาหลีเหนือ ก็จะไม่นำไปสู่การแก้ไขในประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นสัญญาณของความอ่อนแอและยังคงต้องกดดันและใช้กำลังทหารขู่คุกคาม สื่อ KCNA รายงาน
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งมีแผนจะประชุมกับผู้นำเกาหลีเหนือในอีก 2-3 สัปดาห์หน้า ได้ระบุว่า เขาจะยังคงมาตรการคว่ำบาตรและกดดันเกาหลีเหนือ และจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา และย้ำว่าจุดยืนที่เด็ดเดี่ยวของเขาทำให้เกิดการเจรจาขึ้น
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีของสมาคมปืนไรเฟิลของสหรัฐฯ ในดัลลาสเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ว่า เขาได้ลดโทนความดุดันของเขาลงมาแล้ว หลังจากปีที่แล้ว เขาเคยตั้งฉายาให้ประธานาธิบดีคิมว่า ‘มนุษย์จรวดน้อย’ และขู่จะถล่มเกาหลีเหนือด้วย ‘ไฟและความโกรธเกรี้ยว’
ประธานาธิบดีมุนแห่งเกาหลีใต้กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์สมควรได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพจากความพยายามที่จะยุติการเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ
ทำเนียบขาวแถลงว่า John Bolton ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีทรัมป์ได้พบกับที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งเกาหลีใต้ในวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา และทั้งสองประเทศยังไม่มีแผนจะเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายการป้องกันประเทศของสหรัฐฯกับเกาหลีใต้
ในทางเทคนิคแล้ว เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในสงคราม เพราะสงครามเกาหลียุติลงด้วยการพักรบ ไม่ใช่การทำสนธิสัญญา โดยเกาหลีใต้ระบุว่า ทหารสหรัฐฯจำเป็นต้องประจำการต่อไปในเกาหลีใต้ แม้จะมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพแทนการหยุดยิงแล้วก็ตาม
ปัจจุบัน สหรัฐฯมีทหารประจำการในเกาหลีใต้มากถึง 28,500 นาย.