สนามบินดูไบลงทุนรับการเติบโต
การเติบโตในภาคส่วนการบินของดูไบกลายเป็นปรากฎการณ์ แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของท่าอากาศยานดูไบกล่าวกับสื่อ CNBC
“ใน 10 ปีล่าสุด การเติบโตของความหนาแน่นของผู้โดยสารกลายเป็นปรากฎการณ์” Paul Griffiths ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของท่าอากาศยานดูไบกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ CNBC
โดย Griffiths ระบุว่า ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ ซึ่งเป็นสนามบินที่มีจำนวนผู้มาใช้บริการพลุกพล่านที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกมีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างเล็ก หากจะรับรองผู้โดยสารที่มีการเติบโตมากจนกำลังจะทำลายสถิติทั่วโลก
“เรากำลังเติบโตเร็วกว่าสนามบินอีก 2 แห่งในโลกที่มีสถิติด้านผู้โดยสารมากกว่าเราเล็กน้อย คือที่แอตแลนตาและปักกิ่ง และเรากำลังเข้าใกล้ทั้งสองแห่งนี้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว” เขากล่าว
ทั้งนี้ การท่าอากาศยานดูไบเป็นเจ้าของและบริหารจัดการและพัฒนาสนามบินดูไบทั้งสองแห่ง คือสนามบินนานาชาติดูไบ (DXB) และสนามบินดูไบเวิลด์เซ็นทรัล (DWC)
คาดการณ์ว่า จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินดูไบจะสูงถึง 90 ล้านคนในปีนี้หลังจากช่วงเวลาของการเติบโต Griffiths กล่าว
“เรามีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3 เท่าต่อปีตั้งแต่ปี 2550 นี่เป็นเหตุผลให้เราต้องเดินหน้าเพื่อหาหนทางในการใช้โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันให้มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพสูงสุด ในตอนนี้ ความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินจะเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ คือประมาณ 90 ล้านคน และการเติบโตในปีหน้าจะยังดีอย่างต่อเนื่อง”
ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบกำลังมีแผนลงทุนเพิ่มอีก 7,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 248,430 ล้านบาท ตามแผนขยายในปี 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร โดยเขากล่าวว่า มีสนามบินอีกหลายแห่งที่จำเป็นต้องมีการลงทุนในเร็วๆนี้
เขากล่าวว่า ปัจจุบัน ประชากรทั่วโลก 10 ล้านคนเดินทางด้วยเครื่องบินทุกวัน แต่จำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 21 ล้านคนภายใน 15 ปี และโครงสร้างพื้นฐานสนามบินทั่วโลกจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยเขาเชื่อว่า การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วของนักเดินทางในเอเชียจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของส่วนแบ่งในตลาดการบิน ขณะที่ตลาดที่อยู่ตัวอยู่แล้วอย่างอเมริกาเหนือและยุโรปก็จะเติบโตด้วยเช่นกัน แต่อาจจะชะลอตัวกว่าตลาดอื่น
Griiffiths กล่าวว่า มีการสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นในจีนเพื่อรับมือกับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ยังไม่มีการเพิ่มขึ้นในสนามบินที่อื่น
“เรากำลังจะมีการลงทุนครั้งสำคัญทั้งในการสร้างสนามบินใหม่และสนามบินที่เรามีอยูเดิม เพราะรัฐบาลเล็งเห็นผลประโยชน์จากตัวเลขจีดีพีจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการบิน” เขาเสริม.