เกาหลีใต้อยากให้ทหารสหรัฐฯอยู่ต่อ
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.เกาหลีใต้แถลงว่า การที่กำลังพลของทหารสหรัฐฯประจำการในเกาหลีใต้ไม่เกี่ยวกับการที่เกาหลีใต้ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ และทหารอเมริกันก็ควรจะอยู่ต่อไปในเกาหลีใต้แม้จะมีการลงนามในข้อตกลงก็ตาม
“ การที่กองกำลังของทหารสหรัฐฯประจำการในเกาหลีใต้เป็นประเด็นของการเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ถึงจะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ ” โฆษกของทำเนียบประธานาธิบดีแถลง โดยอ้างถึงแนวคิดของประธานาธิบดีมุนแจอิน
ทำเนียบฟ้า หรือทำเนียบประธานาธิบดียังได้ตอบคำถามของสื่อเกี่ยวกับบทความที่เขียนโดย มุนชองอิน ที่ปรึกษาประธานาธิบดีและฝ่ายวิชาการที่มีการเผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์นี้
โดยมุนชองอินเขียนว่า เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายถึงสถานะของกองทัพสหรัฐฯที่ยังประจำการอยู่ในเกาหลีใต้ หากมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างสองเกาหลีจากการประชุมระหว่างสองผู้นำเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อเป็นการยุติความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม ทางเกาหลีใต้ยังคงต้องการให้ทหารสหรัฐฯ อยู่ต่อเพื่อให้มีบทบาทในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยในการประจันหน้าของกองทัพประเทศเพื่อนบ้านที่มีกองทัพที่ทรงอานุภาพอย่างจีนและญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งของทำเนียบประธานาธิบดีกล่าวกับผู้สื่อข่าวโดยไม่เปิดเผยนามเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 พ.ค.
โฆษกทำเนียบกล่าวว่า มุนชองอิน ที่ปรึกษาประธานาธิบดีถูกขอร้องไม่ให้สร้างความสับสนที่เกี่ยวกับจุดยืนของท่านประธานาธิบดีในเรื่องนี้
ปัจจุบัน สหรัฐฯมีทหารประจำการในเกาหลีใต้ประมาณ 28,500 คน ซึ่งเกาหลีเหนือแสดงท่าทีความต้องการมานานให้มีการเคลื่อนย้ายกำลังพลของสหรัฐฯออกไป และเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่เกาหลีเหนือเคยระบุไว้ก่อนหน้านี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการประกาศความคิดเห็นจากประธานาธิบดีมุนแจอินและประธานาธิบดีคิมจองอึนที่พาดพิงถึงกรณีการถอนกำลังทหารสหรัฐฯออกจากเกาหลีใต้ โดยทั้งผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันให้มีการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีโดยสมบูรณ์
ทั้งนี้ ทหารสหรัฐฯมีฐานทัพประจำการในเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงสงครามเกาหลี ซึ่งยุติลงในปี 2496 ด้วยการพักรบ ซึ่งทำให้ในทางเทคนิคแล้วทั้งสองเกาหลียังคงอยู่ในสงครามอยู่
จากการประชุมครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ทั้งประธานาธิบดีมุนและประธานาธิบดีคิมกล่าวว่า พวกเขาต้องการยุติความขัดแย้งระหว่างทั้งสองเกาหลี โดยให้สัญญาว่าจะไม่มีสงครามอีกในคาบสมุทรเกาหลี
ในปีที่แล้ว เกาหลีเหนือทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 และยิงขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปที่สามารถไปถึงดินแดนของสหรัฐฯ ทำให้เกิดความตึงเครียดและการตอบโต้กันด้วยวาทกรรมไปมาระหว่างประธานาธิบดีคิมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อย่างดุเดือด
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และกดดันให้เป็นไปตามที่ต้องการด้วยการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด.