กต.แจงวุ่น หลัง Amnesty จี้ บิ๊กตู่ หยุดจับม็อบ
ชี้แจงกรณี Amnesty International เรียกร้องรัฐบาลไทยยกเลิกข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมอันเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
(7 ก.ย.) ตามที่ Amnesty International (AI) หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล สำนักงานใหญ่ กรุงลอนดอน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องทางการไทยยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหาต่อแกนนำ 31 คน และขอให้ยุติการขัดขวางการร่วมชุมนุมของประชาชน ที่เป็นการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งขอให้ยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวม หรือคลุมเครือ เพื่อเป็นการเคารพ คุ้มครอง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2563
กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงดังนี้
1. รัฐบาลมิได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกรวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและอนุญาตให้มีการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนหลายครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาโดยคำนึงถึงความสำคัญของสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี
2. รัฐบาลสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าวหรือมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยเคารพมุมมองของผู้ที่เห็นต่าง
3. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยใช้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนที่สัญจรในบริเวณโดยรอบที่ชุมนุม สำหรับกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางรายนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ละเมิดกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีจะได้รับการเคารพอย่างเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี