บิ๊กตู่ งัดท่าไม้ตาย ปรับครม.- ยุบสภา วัดใจรัฐบาลปริ่มน้ำ ก่อนศึกซักฟอก-พ.ร.บ.งบปี 63
การพบปะสังสรรค์ระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐ (พปชร.) กับพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคชาติพัฒนา (ชพ.) พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และพรรคเล็ก-ฝ่ายค้านอิสระ อาทิ พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคประชาธรรมไทย ที่สโมสรราชพฤกษ์ วิภาวิดี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 62 เป็นไปอย่างชื่นมื่น
ครั้งแรกของการพบกันระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ในรอบ 4 เดือน หลังพบกันเมื่อครั้งร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ลำดับ 30 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562
เป็นการ “เคลียร์ใจ” ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ในวันที่ 4 ธันวาคม 62 เพื่อ “นับคะแนน” – “ลงมติใหม่” ภายหลังฝ่ายรัฐบาล “แพ้โหวต” – “สภาล่ม”
เป็นการ “ประลองกำลัง” ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน “ยกที่สาม” หลังจาก “สภาล่ม” ไปแล้ว “สองครั้ง” ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม-อดีตหัวหน้า คสช. “แพ้ไม่ได้”
เป็นการ “เช็กเสียง” ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลก่อนศึกซักฟอก-การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ระหว่างเดือนธันวาคม 62 ถึงมกราคม 63 ที่จะมาถึงนี้
เมื่อ “นับมือ” ของพรรคร่วมรัฐบาลในสถานการณ์ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ก่อนการนับองค์ประชุม-โหวตแก้มือครั้งที่สามในญัตติตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ-ประกาศ-คำสั่ง-การใช้อำนาจมาตรา 44 ส.ส.ฝั่งรัฐบาลมีทั้งสิ้น 254 เสียง จากทั้งหมด 498 เสียง ขาดไป 2 เสียง คือ
1.นายนวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.เขต 7 ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ที่ถูกศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก ในคดีจ้างวานฆ่า และ 2.นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.เขต 5 สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) “แจกใบเหลือง” เพื่อเลือกตั้งใหม่ คดีผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ดังนั้น การจะเริ่มประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติตั้ง “กมธ.มาตรา 44. ได้ต้องมี” “องค์ประชุม” 249 เสียง ทว่ายังมี ส.ส.ฝั่งรัฐบาลที่ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ 4 คน ได้แก่ 1.นายชัย ชิดชอบ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยลาป่วย 2.นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อยู่ระหว่างการพักฟื้นร่างกาย
3.นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ และ 4.นายกรุงศรีวิไล ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เสียงของฝั่งรัฐบาลเหลือแค่ 250 เสียง เกินองค์ประชุม “เพียงแต้มเดียว”
ยิ่งกว่านั้น “ต้องลุ้น” 1 เสียงของ “พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกออก “หมายจับ” หลังไม่ไปศาลฟังคำพิพากษาคดีล้มการประชุมอาเซียนเมื่อปี 53 ทำให้ 249 ส.ส.ฝั่งรัฐบาลต้องห้ามขาด-ลา-มาสาย ป่วย-เจ็บ-(ใกล้) ตาย เด็ดขาด
นอกจากนั้น ยังต้องลุ้นว่า 6 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “โหวตสวน” มติวิปรัฐบาลจะ “ยอมถอย” กลับมติเดิมที่ “เห็นด้วย” กับญัตติของ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง หรือไม่ ที่ยื่น “ญัตติคู่ขนาน” ให้ตั้งกมธ.ศึกษาประกาศ-คำสั่ง-การใช้อำนาจของหัวหน้าคณะปฏิวัติ “ทุกคณะ” ไม่ใช่เฉพาะคสช.เท่านั้น
สำหรับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ “แหกมติ” วิปรัฐบาล จำนวน 6 คน ได้แก่ นางกันตวรรณ ตันเถียร นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ นายเทพไท เสนพงศ์ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ นายอันวาร์ สาและ และนายสาทิตย์
การแทงฝั่งเดียวกันกับฝ่ายค้าน-ตรงข้ามรัฐบาลของ 6 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนั้น ทำให้ฝั่งรัฐบาล “แพ้โหวต” ด้วยคะแนน 236 เสียง ต่อ 231 เสียง หรือ แพ้-ชนะ “เฉือนกัน” ไม่เกิน 5 เสียง
จนเกิดภาพสภาล่ม-รอยร้าวในทำเนียบรัฐบาล “ซ้ำเติม” การเขย่าเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลเอง โดยมีโควตารัฐมนตรีในโควตาของพรรคภูมิใจไทยเป็นเป้าใหญ่ รวมถึงการการบริหารเศรษฐกิจ 3 ก๊ก 3 พรรคการเมือง ทำให้นำไปสู่การพบปะกันระหว่าง “3 ป.” พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร-พล.อ.อนุพงษ์ กับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเคลียร์ใจและกระชับความสัมพันธ์-กระชับพื้นที่ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด
โดยพล.อ.ประยุทธ์มี “ท่าไม้ตาย” คือ การปรับครม.- การยุบสภา เพราะไม่มีนักการเมืองคนใดยอมเสี่ยงและต้องใช้พละกำลังกาย-พละกำลังเงินในการกลับเข้าสภาอีกครั้งแน่นอน.