กระแสต้าน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงแรกๆของรัฐบาลคสช. หลังจากผุดโปรเจคแก้ไขปัญหาประเทศในระยะยาวด้วยการจัดทำ “ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ” โดยมีการตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.วิลาส อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ขณะนี้กระบวนการของยุทธศาสตร์ 20 ปี อยู่ในขั้นตอนการเร่งจัดทำกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำการปฏิรูป ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และจะต้องเห็นผลภายในระยะเวลา 5 ปีแรก
ล่าสุดมีความคืบหน้าออกมาให้เห็น เมื่อ “ มีชัย ฤชุพันธุ์ ” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาเปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า “ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ” นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งเรื่องสำคัญในการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้การดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติสามารถปฏิบัติต่อไปได้ในช่วงรัฐบาลต่อไป เพื่อนำไปสู่การมียุทธศาสตร์และวิธีการปฏิรูปภายในระยะเวลา 1 ปี
ก่อนที่จะข่มขู่ล่วงหน้าเป็นนัย ว่า “ หากรัฐบาลต่อไปไม่ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ อาจเข้าข่ายกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ และหากจะเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ชาติจะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน ”
อาจารย์มีชัยพูดเรียกแขกอย่างนี้ ก็เป็นไปตามคาด ส่งผลให้บรรดาพรรคการเมือง โดยเฉพาะ “ พรรคเพื่อไทย ” ที่ออกมาคัดค้านแผนยุทธศาสตร์ชาติมาตลอด ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการบีบบังคับให้รัฐบาลต้องบริหารประเทศตามแผนที่รัฐบาลทหารตีกรอบไว้
โดย “ หญิงหน่อย ” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เรียกร้องรัฐบาลเริ่มต้นการพูดคุยกับคนทุกกลุ่มอย่ากลัวการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งระบุว่า
“แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทุกคนต้องปฏิบัติตาม แต่ยังไม่มีใครเห็นแผนดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร จึงอยากให้รัฐบาลนำแผนดังกล่าวออกมาเปิดเผย เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกำหนด หรือแสดงความคิดเห็น เพราะแผนดังกล่าวครอบคลุมทุกเรื่อง”
หรือแม้แต่ “คณิน บุญสุวรรณ” อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 40 ออกมาพูดประเด็นนี้ด้วยว่า “ สรุปว่ายุทธศาสตร์ชาตินี้มุ่งใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง แน่นอนว่าถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ทำตามหรือทำตามไม่ได้จะด้วยเหตุผลอะไรก็สุดแล้วแต่ คณะรัฐมนตรีก็จะ ตายหยังเขียดในทางกลับกัน ถ้าคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่สามารถทำตามทุกอย่างได้เป๊ะ แบบว่าเป็นเด็กดีของ ส.ว. องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผู้นำเหล่าทัพ 6 คน ที่นั่งอยู่ในวุฒิสภา โดยต้องรายงานความคืบหน้าต่อรัฐสภาทุก 3 เดือนแล้วล่ะก็กว่าจะถึง 20 ปีประเทศก็แย่กันพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศและคนยากจนคนมีรายได้น้อยทั้งหลายนั่นแหละจะตายก่อนเพื่อน ทั้งนี้ เพราะยุทธศาสตร์ชาติซึ่งมีแต่กฎหมายและตัวหนังสือที่อ้างอิงจากข้อมูลเก่าๆ และสมมุติฐานความเชื่อเก่าๆ ที่เกิดก่อนปี 2559 ทั้งสิ้น แต่พอแปลงเป็นแผนปฏิบัติการจริงก็จะกลายเป็นกับดักอันใหญ่ ที่นอกจากจะทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้แล้ว ยังถอยหลังกลับไปที่เก่าไม่ได้อีกด้วย เพราะทำลายทิ้งไปหมดแล้วนั่นเอง “
แน่นอนว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากหลายๆฝ่าย เพราะตลอดระยะเวลาที่รู้ข่าวว่า รัฐบาลคสช. เตรียมทำยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่ก็ยังไม่มีใครเห็นรูปร่างหน้าว่าจะออกมาอย่างไร จึงอาจมองได้ว่าเป็นการมัดมือชกรัฐบาลชุดต่อๆไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ให้ต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้ทุกๆ 5 ปี
แต่ในอีกมุมแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็นข้อกำหนดให้นักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ให้ความสำคัญกับแผนระยะยาว มากกว่าแผนระยะสั้นที่เห็นผลปีต่อปีเท่านั้น
ดังนั้นหากแผนปฏิรูปคลอดและนำมาใช้ปฏิบัติจริง ถือเป็นความท้าท้ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะถูกตีกรอบการบริหารประเทศรอบด้านด้วยยุทธศาสตร์ 20 ปี หรือไม่