“สงคราม” …เพลงการเมือง
ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นกระแสดราม่าหรือไม่ แต่เรียกได้ว่าถูกวิจารณ์ยับเยินจากโลกออนไลน์
ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปล่อยมิวสิควีดีโอรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.2559
ที่ตั้งชื่อเอ็มวี นี้ว่า“7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง” ความยาว 4.06 นาที เพื่อสื่อสารถึงประชาชนทั้ง 4 ภาคเนื่องจากมีฝ่ายที่ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหาของเพลงดังกล่าว มองประชาชนในแต่ละภาคไม่เท่าเทียมกัน และเป็นการดูถูกประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสาน
ร้อนถึง “ศุภชัย สมเจริญ” ประธานกกต. ต้องออกมาชี้แจงว่า
“ผู้ประพันธ์เพลได้เก็บข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอย้ำว่าเนื้อเพลงดังกล่าวไม่มีการชี้นำ หรือเหยียดคนภาคใดภาคหนึ่ง ตามที่มีการกล่าวหา ผมขอร้องอย่านำประเด็นเล็กประเด็นน้อยมาจับผิดกระบวนการการทำประชามติ เพราะเป้าหมายเราต้องการให้ประชาชนออกใช้สิทธิโดยไม่มีการชี้นำ ทุกคนมีเสรีภาพ ออกมาแสดงความคิดเห็นได้ภายใต้กรอบกฎหมาย”
เข้าทาง “พรรคเพื่อไทย” ได้ทีออกมาขย่ม โดย “อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคฯ” เรียกร้องให้เร่งแก้ไขเนื้อเพลงดังกล่าว เพราะการแต่งเพลงเป็นการสร้างปัญหาความแตกแยกให้มากขึ้น และเนื้อหายังระบุว่าคนเหนือและคนอีสานถูกชักจูงง่าย ในขณะที่คนใต้รู้จักประชาธิปไตยดี ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
ไม่จบแค่นั้น เรื่องนี้ยังลามไปกระทบถึงการปล่อยซิงเกิ้ล “เพลงฉ่อยรัฐธรรมนูญ” ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่หวังจะอธิบายเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญผสมมุขตลก เป็นช่องทางในการเผยแพร่ไปถึงประชาชน โดยเนื้อเพลงเป็นเนื้อหาสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ เรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุข เป็นต้น ความยาว 5 นาที 51 วินาที
ก็ไม่วาย ถูกกระแสสังคมวิจารณ์อย่างหนัก รวมถึง “ฝ่ายการเมือง” เรื่องเนื้อหาการเรียนฟรี 14 ปี ตั้งแต่เด็กเล็ก 2 ขวบ ได้เรียนไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงจบภาคบังคับไม่ถูกต้อง เพราะในวรรคท้ายของมาตรา ดังกล่าวบังคับให้เรียนฟรีแค่ 12 ปี
จน “โฆษกกรธ.” ต้องออกมาตอบโต้และอธิบายว่า “เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการดูแล และพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา ได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งหมายถึงเด็กเล็ก 2-3 ขวบ ระดับอนุบาล 1-2-3 อายุ 4-6 ขวบ ป.1 อายุ 7 ขวบตามเกณฑ์ ส่วน ป.1-ม.3 อายุ 7-15 ปี และจบ ม.6 อายุ 18 ปี รวมทั้งหมด 14 ปี ซึ่งเนื้อหาที่ร้องในเพลงฉ่อยถูกแล้ว และระบุชัดว่า “ตั้งแต่เด็กเล็ก 2 ขวบได้เรียนไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงจบภาคบังคับ”
ล่าสุดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ไม่น้อยหน้า ปล่อย“เพลงแหล่ประชามติ” เนื้อหาเสียดสี “กรธ.-กกต.”
“ ผมแต่งเนื้อร้องเพลงนี้ตามกรอบ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่บิดเบือนเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญ และไม่มีข้อความหยาบคาย หวังว่ากกต.จะเปิดกว้างให้เพลงที่เราจัดทำขึ้นได้เผยแพร่ในเวทีชี้แจงเนื้อหารัฐธรรมนูญ และเป็นคู่มือประกอบการอธิบายของครู ก. ข. ค.เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านประกอบการพิจารณา”
และแล้วเรื่องนี้ ก็ลุกลามบานกลายเข้าไปถึงรั้วทำเนียบรัฐบาล เป็นเหตุให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.” ต้องออกโรงเตือนว่า
“อย่าเอาปัญหาเล็ก ๆ มาตีกัน ทุกเรื่องที่ทำที่สื่อสารออกไปแล้วสร้างความขัดแย้ง ผมทนไม่ได้ ฉะนั้นอย่าให้ถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี ขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียมีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้เพื่อสร้างความเกลียดชังก็จะเป็นปัญหา เขียนให้ประเทศเกิดความขัดแย้ง ทำอย่างนี้ก็เดินหน้าไม่ได้ แล้วจะเราจะทำอย่างไร”
บิ๊กตู่ ออกมาส่งเสียงแบบนี้ คงมองเห็นแล้วว่า ไม่ดีแน่ ที่จะปล่อยให้ “เพลง” ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นสุนทรียของมนุษย์ ถูกหยิบมาเป็นอาวุธในการทำ “สงครามเพลง” ถูกขุดขึ้นมาเป็นประเด็นรุมถล่มใส่กันอย่างหนักหน่วงไปแล้ว ในช่วงที่ประเทศ กำลังอยู่ใน “โหมดประชามติ” ที่ต้องมีแรงกระเพื่อมจากความขัดแย้งให้น้อยที่สุด