คมนาคม เปิดผลงาน 99 วัน 9 โครงการ
• นำร่องรถไฟฟ้าสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสาย
• เปิดสนามบินเชียงใหม่ 24 ชม.รับนักท่องเที่ยว
• จับมือตำรวจร่วมปราบปรามส่วยทางหลวง
กระทรวงคมนาคมสรุปผลงาน 99 วัน ทำไปแล้ว 9 โครงการ มั่นใจประชาชนได้รับประโยชน์ทุกเม็ด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้ร่วมกันแถลงผลงาน 99 วัน 9 โครงการสำคัญเร่งด่วน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ได้แก่
1. มาตรการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา นำร่อง 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน และต่อมาได้ขยายใช้ในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสายสีแดงและสายสีม่วงได้ด้วย ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนและจูงใจให้เปลี่ยนมาใช้ระบบรางในการเดินทาง
ทั้งนี้จะเร่งขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาท ในรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ภายใน 2 ปี โดยขณะนี้ กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเมินทั้งโครงข่ายทุกสาย กรณีลดค่าโดยสารเหลือไม่เกิน 20 บาท รายได้ของผู้ให้บริการจะลดลง ซึ่งจะต้องมีเงินอุดหนุนประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท/ปี
ในการดำเนินงาน จะเร่งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ? เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ในสมัยแรกนี้ และหลังพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯมีผลบังคับใช้ จะสามารถจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่จะระดมเงินรายได้เข้ากองทุนฯต่อไป โดยกำลังศึกษาแนวทาง ซึ่งมีหลายแนวคิด เช่น ใช้กลไกลราคาน้ำมัน โดยปัจจุบัน การปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันจะเป็นไปตามราคาตลาดโลก มองว่าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล หากจัดเก็บราคาน้ำมันเพิ่มอีก 50 สต./ลิตร เพื่อนำรายได้ส่วนนี้เข้ากองทุนฯ การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะจูงใจให้ประชาขนหันมาเดินทางด้วยขนส่งสาธารรณะ ลดค่าใช้จ่ายและลดมลพิษทางอากาศ ขณะที่ปัจจุบันมีรถยนต์ ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลประมาณ 1 ล้านคัน
“นโยบายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท นำร่อง 2 สายคือ สายสีแดง และสีม่วง ถือเป็นนโยบายที่นำมาปฎิบัติได้จริงและรวดเร็ว ประชาชนตอบรับ ส่วนจะเร่งผลักดันให้ใช้ได้ทุกสายนั้น ไม่ได้จะเป็นการบังคับเอกชนผู้ให้บริการ เพราะมีเงื่อนไขสัญญาสัมปทานกำหนดไว้ ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องหาแนวทางอุดหนุนรายได้ที่จะหายไป”
2. การเปิดใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินในปัจจุบัน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารของสนามบินเชียงใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศเฉลี่ย 4,800 คน/ วัน จำนวน 20 เส้นทาง ปริมาณเที่ยวบิน 36 เที่ยวบิน/วัน วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม รวมถึงรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. เปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 โดยทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบิน/ชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว และนโยบายวีซ่าฟรี ตามนโยบายรัฐบาล
4. เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) รวมถึงการเปิดให้ใช้ฟรี 2 เส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 โดย M6 ช่วงปากช่อง – ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กม. M81 ช่วงนครปฐม ฝั่งตะวันตก – กาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. เปิดทดลองใช้ฟรีปีใหม่ ตั้งแต่ 28 ธ.ค.66 -3 ม.ค. 67 ซึ่งจะเปิดให้บริการใช้งานฟรีตั้งแต่ 28 ธ.ค.66 ต่อเนื่องจนกว่าด่านเก็บค่าผ่านทางจะแล้วเสร็จ ส่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง
ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เส้นทางนครปฐม – ชุมพร และได้เปิดให้บริการช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนถึงจุดหมายได้เร็วขึ้นถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งการขนส่งสินค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถอีกต่อไป
5. การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ โดยการยกมาตรฐานและปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นโดยการให้บริการด้วยระบบตั๋วร่วม พร้อมทั้งออกแบบรองรับผู้ใช้บริการทุกประเภท โดยมีแผนพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือ (ระบบปิด) ทั้งหมด 29 ท่า ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเสร็จแล้ว จำนวน 9 ท่า อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้าง จำนวน 5 ท่า และในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 15 ท่า จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อลดความคับคั่งในการเดินทางขนส่งทางบก รวมถึงพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ในอ่าวไทยและอันดามัน สร้างรายได้ท่องเที่ยวทางน้ำ
6. เดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Landbridge) ผลักดันการพัฒนาท่าเรือชุมพรและระนอง รวมถึงรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมขนส่งระหว่าง 2 ท่าเรือ ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อพลิกโฉมพื้นที่ภาคใต้เป็นศูนย์กล่างโลจิสติกส์ระดับโลก ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) โดยล่าสุดได้ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ Landbridge ในการประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน ? ญี่ปุ่น ซึ่ง มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสนใจเป็นจำนวนมากกว่า 30 บริษัท จากเดิมที่คาดว่าจะมีประมาณ 20 บริษัท และหลังจากนี้ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามารับฟังข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง
“จากการโรดโชว์ ทางธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนี้ทางสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาขับเคลื่อนโครงการ เช่นเดียวกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) แล้ว”
7. การปรับเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนการปรับปรุงรถสาธารณะทุกชนิดให้เป็น EV และก.คมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์สันดาปที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์ EV ทั้งหมด ซึ่งจะนำร่องกับบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ที่จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมด ให้เป็นรถยนต์ EV รวมถึงรถส่วนกลางที่จะหมดสัญญาเช่า จะเริ่มสัญญาเช่ารถใหม่ให้เป็นรถยนต์ EV ด้วย เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5
8. โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2572, โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วง บ.พารา – บ. เมืองใหม่, โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ – ป่าตอง, การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 จ.พังงา โดยขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างทบทวนข้อกำหนดรายละเอียดในการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการในเบื้องต้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานฯ – ห้าแยกฉลอง) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ เพื่อให้โครงการฯ เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2574 อย่างไรก็ตาม โครงการในจังหวัดภูเก็ตที่กล่าวมานั้น จะสามารถลดปัญหาการจราจร และเพื่อเสริมศักยภาพให้เมืองท่องเที่ยวระดับโลก
9. การปราบส่วยทางหลวง แก้ปัญหาการทุจริต โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดรวมถึงแก้ไขข้อกฎหมายให้มีบทลงโทษมากขึ้น รวมถึงมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว